xs
xsm
sm
md
lg

พธม.ค้านพระปกเกล้าฯ ชง กมธ.ปรองดองโล๊ะคดีคตส.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้(7 มี.ค.55)นายพิภพ ธงไชย หนึ่งในแกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย(พธม.) กล่าวถึงรายงานของ กมธ.ปรองดอง ฉบับที่ 1 ที่มี พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เป็นประธาน ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐสภาฯได้จัดทำแล้วเสร็จว่า ไม่เห็นด้วยกับรายงานของสถาบันพระปกเกล้าที้เสนอต่อคณะกรรมาธิการปรองดอง ให้เพิกถอนผลทางกฎหมายที่ดำเนินการ โดยคณะกรรมการการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหานแก่ภาครัฐ(คตส.) ทั้งหมด และไม่นำคดีที่อยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณา ตลอดจนคดีที่ได้ตัดสินไปแล้วมาพิจารณาอีก เพราะเป็นเหมือนกับการนิรโทษกรรม จุดยืนพันธมิตรฯ คัดค้านการนิรโทษกรรม แต่เห็นด้วยกับแนวทางที่ 1 ที่ให้ผลการพิจารณาคดี คตส.สิ้นสุดและโอนคดีทั้งหมดให้ ป.ป.ช.ดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมปกติ แต่ไม่กระทบกับคดีถึงที่สุดแล้ว เพราะเหมือนกับที่ปฏิบัติกันตามปกติอยู่แล้ว
ส่วนแนวทางที่ 2 ที่ให้เพิกถอนทางกฎหมายที่ดำเนินการโดย คตส.ทั้งหมดและให้ดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมปกติ ตนขอตั้งคำถามว่า จะให้ใครเริ่มต้นทำคดี ตำรวจ อัยการหรือ ปปช.และตนไม่คิดว่าจะมีคนทำคดี และถ้าจะรื้อคดีตามแนวทางที่ 2 ใครจะเป็นคนเริ่มและจะเอาข้อมูล คตส. มาพิจารณาด้วยหรือไม่ ถ้าเอาข้อมูล คตส. มาพิจารณาด้วย ก็ใช้แนวทางที่ 1 ดีกว่า
ผศ.ทวี สุรฤทธิกุล ประธานสาขารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าว ว่า ข้อเสนอทั้งหมดนั้นมี 3ข้อ ซึ่งตนเห็นว่า น่าจะเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย เพราะจะเป็นการกลับเข้าสู่กระบวนการพิจารณาในมาตรฐานเดิม ที่ให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไต่สวนข้อเท็จจริงและส่งสำนวนไปยังอัยการสูงสุด เพื่อฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งการเมือง
ซึ่งตนเห็นว่าคงจะไม่เป็นที่เดือดร้อนของนักการเมือง เพราะได้รับผลจากการยกเลิกโดยตรง ซึ่งคดีที่อยู่ในคตส.ก็ล้วนแต่เกี่ยวข้องกับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และบริวารทั้งสิ้น แต่นั่นก็เป็นเพียงแค่ข้อเสนอเท่านั้น ส่วนจะเป็นการนำไปโยงเข้าสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 309 หรือบทนิรโทษกรรม หรือไม่นั้น ตนเห็นว่าหากโยงเข้าไปในมาตราดังกล่าว จะทำให้สังคมเกิดความขัดแย้ง ซึ่งคนที่เป็นนักกฎหมายที่ทำในเรื่องนี้เขาจะรู้กันว่าไม่ควรไปแตะ เพราะจะเป็นการชวนทะเลาะ ทั้งนี้ตนเห็นว่าอาจจะตราขึ้นเป็นมาตราใหม่ในรัฐธรรมนูญได้ หรือบรรจุไว้อยู่ในบทเฉพาะกาลได้ ซึ่งในส่วนนี้ก็มีความคล้ายคลึงกับรัฐธรรมนูญฉบับรัฐประหาร ที่มักจะมีการอภัยโทษให้แก่คณะปฏิวัติอยู่เสมอ
เมื่อถามว่ามองอย่างไรกับการที่ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคมาตุภูมิ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้ทำการรัฐประหาร แต่ในขณะนี้กลับต้องการยกเลิกคดีทั้งหมดที่อยู่ใน คตส. นายทวี กล่าวว่า เขาเองก็มีความชัดเจน อยากที่จะสร้างความปรองดอง ซึ่งสิ่งที่เขาต้องการคือ การให้อภัยต่อกัน มันเป็นสิ่งที่อยู่ในความคิดของพล.อ.สนธิ มาโดยตลอด หากจะมองว่าเป็นการทำงานที่เอื้อต่อพ.ต.ท.ทักษิณ นั้นตนคิดว่าไม่ใช่ เพราะพ.ต.ท.ทักษิณ เองเขาก็น่าจะโกรธพล.อ.สนธิ ด้วยซ้ำ ที่มาปฏิวัติยึดอำนาจเขาในขณะนั้น ซึ่งข้อเสนอของสถาบันพระปกเกล้าเองก็น่าจะต้องการความสงบ ไม่น่าจะทำเพื่อพ.ต.ท.ทักษิณ อย่างแน่นอน ส่วนประเด็นการนิรโทษกรรมนั้น ตนเห็นว่าควรมีการกำหนดเงื่อนไขบางอย่าง ให้เป็นไปในลักษณะของการนิรโทษกรรมแบบมีเงื่อนไข
นายนคร มาฉิม ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ ฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ ( กมธ.ปรองดอง ) สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า รายงานฉบับดังกล่าว ถือว่ายังไม่สมบูรณ์ และถือเป็นเพียงรายงานฉบับร่างเท่านั้น
ทั้งนี้ ยอมรับว่าเนื้อหาในบทสรุปของรายงานที่ ระบุว่า ความขัดแย้งทางการเมือง และความสูญเสียที่เกิดขึ้นช่วงที่ผ่านมา ถือเป็นความผิดของรัฐ และรัฐต้องเร่งชดเชยความสูญเสียอย่างเร่งด่วนนั้น เป็นสิ่งที่กมธ. ฝั่งพรรคประชาธิปัตย์โต้แย้ง เนื่องจากกังวลว่า จะถูกนำไปขยายผล สร้างประเด็นทางการเมือง และเป็นอันตราย ทำให้กมธ.ปรองดอง ต้องนำร่างรายงานดังกล่าวไปทบทวน พร้อมกับร่างรายงานของสถาบันพระปกเกล้า
นายนคร กล่าวด้วยว่า ในร่างรายงานของสถาบันพระปกเกล้า มีประเด็นที่กรรมาธิการต้องนำไปพิจารณา เพื่อปรับปรุงให้เกิดความชัดเจน เช่น การเยียวยา การชดเชย การยุบพรรคการเมือง และคดีของ คตส.
อย่างไรก็ตาม ประเด็นดังกล่าวนั้น ทาง กมธ.ปรองดอง จะนำหารือ เพื่อทำข้อสรุปอีกครั้ง
“ขั้นตอนการทำรายงานของ กรรมาธิการนั้น ผมไม่ทราบว่าออกมาได้อย่างไร อาจจะมีการลงนามโดยประธาน ซึ่งที่ประชุมยังไม่ได้พิจารณา แต่มันไม่ใช่ความเห็นโดยสรุปของกรรมาธิการทั้งคณะ ซึ่งหากรายงานฉบับที่ 1 เผยแพร่ออกไป กังวลว่าจะเกิดความไม่ถูกต้องขึ้นได้” นายนคร กล่าว
นายอุดมเดช รัตนเสถียร ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล ( วิปรัฐบาล ) กล่าวว่า ขณะนี้ในส่วนของวิปรัฐบาลยังไม่ข้อเสนอที่ชัดเจน แต่ก็ถือว่าเป็นข้อเสนอหนึ่งในการสร้างความปรองดอง เท่าที่เห็นมีการเสนอมา 3 แนวทางและข้อเสนอต่าง ๆ เหล่านี้ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนคงจะมีการพูดคุยกันแสดงความคิดเห็นกันเพื่อหาข้อสรุปกันอีกในกมธ.ก่อนที่จะส่งข้อสรุปทั้งหมดเข้าสภาฯต่อไป เมื่อถึงเวลานั้นในส่วนของวิปฯค่อยมาหารืออีกครั้งและเข้าใจว่าคงจะต้องใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่ง
นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ แกนนำกลุ่มเสื้อหลากสี และเครือข่ายสยามสามัคคี กล่าวว่าในเร็ว ๆนี้ ตนจะอาศัยช่องทางตามรัฐธรรมนูญตามาตรา 244 และ 245 เตรียมยื่นเรื่องให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน ตรวจสอบข้อเท็จจริงการกระทำไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญคือ ส.ส. และ ส.ว. และ ครม.ร่วม 399 คน ที่รับหลักการ การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ที่เป็นการประทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญที่ไปให้อำนาจคนนอกหรือ สสร. ทำการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และเมื่อผู้ตรวจการแผ่นดินรับเรื่องร้องเรียนแล้ว จะส่งต่อให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยโดยไม่ชักช้า และหากพบว่ามีการกระทำผิดจริง การดำเนินการของ ส.ส.และ ส.ว.ในการลงมติรับหลักการ ร่วมทั้งคณะ กมธ.วิสามัญการแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ จำนวน 45 คน ที่แก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็จะสิ้นผลไปด้วยตั้งแต่ต้น
"หากศาลรธน.วินิจฉัยตามที่ตนยื่นคำร้องนั้น ก็จะส่งผลให้การกระทำของ ส.ส.และ ส.ว. และ ครม.ถือว่าจงใจขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะใช้เป็นเหตุผลและหลักฐานในการถอดถอน กลุ่มคณะบุคคลดังกล่าว ร่วมทั้งแจ้งความในคดีอาญาเอาผิดต่อไปได้"
นพ.ตุลย์กล่าวถึง ช่องทางการฟ้องร้องตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ที่ให้บุคคลร้องสำนักอัยการสูงสุดไต่ส่วนการล้มล้างรัฐธรรมนูญ และส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งระงับการกระทำ พร้อมทั้งสั่งยุบพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้อง และเพิกถอนสิทธิทางการเมืองแก่คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองที่มีส่วนกระทำผิดเป็นเวลา 5 ปี ทราบว่า ขณะนี้กำลังมีทนายความซึ่งอยู่ในเครือข่ายของเราจะเร่งดำเนินการแล้ว แต่หากล่าช้าหรือไม่มีความคืบหน้าใดๆ ตนก็จะรับอาสาใช้ช่องทางตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 นี้อีกทางหนึ่งควบคู่ไป
กำลังโหลดความคิดเห็น