ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-หลังจากเงียบหายจากหน้าสื่อไปนานนับเดือน จู่ๆ กลุ่มอาจารย์คณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ 7 คนที่เรียกตัวเองว่า “นิติราษฎร์”ก็กลับมาเป็นข่าวใหญ่อีกครั้ง เมื่อคู่แฝดชาวปทุมธานีก่อเหตุชกหน้านายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ แกนนำกลุ่มฯ ที่คณะนิติศาสตร์ฯ ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทำให้นายวรเจตน์ได้รับบาดเจ็บมีรอยฟกช้ำที่ใบหน้าและศีรษะ
กลุ่มนิติราษฎร์นั้น มีแนวทางการเคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่ว่าด้วยการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้ทุกอย่างย้อนกลับไปมีสภาพเหมือนก่อนวันที่ 19 กันยายน 2549 ด้วยข้ออ้างที่ว่าเพื่อลบล้างผลพวงของการรัฐประหาร
กลุ่มนิติราษฎร์ ก่อตั้งเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2553 ในวันครบรอบ 4 ปีที่คณะทหารภายใต้การนำของ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบกขณะนั้น ได้ยึดอำนาจจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
การเคลื่อนไหวช่วงแรกๆ ของกลุ่มนิติราษฎร์ แทบจะไม่มีสื่อกระแสหลักให้ความสนใจนอกจากสื่อในกลุ่มคนเสื้อแดงในเครือข่ายเดียวกันเอง จนกระทั่งในเดือนมกราคม 2555 ซึ่งมีการตั้ง “คณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112” หรือ ครก.112 ซึ่งประกอบด้วยนักวิชาการ นักเขียน ประชาชน จำนวน 100 กว่าคน ขึ้นมาทำการรณรงค์ล่ารายชื่อประชาชนให้ได้ 10,000 ชื่อ เพื่อเสนอสภาผู้แทนราษฎรแก้ไข มาตรา 112
ขณะเดียวกันก็มีข้อเสนอแนวทางการแก้ไขมาตราดังกล่าว จากกลุ่มนิติราษฎร์ออกมา ซึ่งกระทบกระเทือนต่อความรู้สึกของประชาชนส่วนใหญ่ เช่น ให้ยกเลิกมาตรา 112 ไปก่อน แล้วเสนอยกร่างใหม่ โดยให้ลดความผิดฐานจำคุกลงเหลือไม่เกิน 3 ปี แยกความผิดการหมิ่นฯ พระมหากษัตริย์ พระราชินี องค์รัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ให้มีโทษแตกต่างกัน และถ้าเป็นการวิจารณ์เชิงวิชาการ หรือหากเรื่องที่พูดเป็นความจริงไม่ถือเป็นความผิด เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอเชิงรุกต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างอุกอาจ อาทิ ห้ามพระมหากษัตริย์มีพระราชดำรัสต่อประชาชนโดยตรง แต่จะต้องผ่านการเซ็นเซอร์จากรัฐบาลก่อน การกำหนดให้พระมหากษัตริย์ต้องสาบานตนว่าจะปกป้องรัฐธรรมนูญก่อนรับตำแหน่งประมุขของประเทศ เป็นต้น
รวมทั้งยังมีข้อเสนอให้ศาล องค์กรอิสระมาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐมนตรี ซึ่งถือว่าพิลึกกึกกือ เพราะขัดกับหลักการถ่วงดุลของอำนาจบริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ
ข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์จึงไม่ได้รับการตอบสนองจากสังคมวงกว้าง แม้แต่รัฐบาลภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทยที่มีแนวทางสอดคล้องกับกลุ่มนิติราษฎร์มาโดยตลอด ก็ยังไม่รับข้อเสนอการแก้ไขมาตรา 112
ไล่ลงมาตั้งแต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ยอมรับว่าไม่เห็นด้วยกับการแก้มาตราดังกล่าว ขณะที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ ประกาศจุดยืนไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอแก้ไขมาตรา 112 ถึงขั้นบอกว่าคณะนิติราษฎร์กินยาผิดซอง และเสนอให้ออกเป็นมติ ครม.ว่ารัฐบาลจะไม่แก้ไขมาตราดังกล่าว
ส่วนนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ รองนายกฯ อีกคนและเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ก็ยืนยันว่า พรรคเพื่อไทยไม่มีแม้แต่ในหัวคิดที่จะแก้ไขมาตรา 112
ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีเสียงทุ้มๆห้าวๆจากผู้บัญชาการเหล่าทัพทุกเหล่าที่คัดค้านการแก้ไขมาตรา 112 และเรียกร้องให้กลุ่มนิติราษฎร์หยุดการเคลื่อนไหวเรื่องนี้
แม้แต่นายนายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.พรรคเพื่อไทยและแกนนำคนเสื้อแดงเอง ก็ยังส่งสัญญาณไปบอกกลุ่มนิติราษฎร์ว่า ถึงแม้จะหารายชื่อประชาชนมาจนครบ แต่จะไม่มี ส.ส.หรือ ส.ว.คนไหนยกมือสนับสนุนการแก้ไขมาตรานี้
ด้าน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เจ้าของพรรคเพื่อไทยตัวจริงและเป็นผู้ชักใยอยู่เบื้องหลังน้องสาว ก็บอกผ่านนายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษากฎหมายส่วนตัว ว่า พ.ต.ท.ทักษิณไม่เกี่ยวข้อง และไม่เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวเพื่อแก้ไขมาตรา 112 แม้ว่านายโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม จะร่วมเคลื่อนไหวเรื่องนี้ แต่ก็อ้างว่านายโรเบิร์ตไม่ใช่ทนายความของตัวเอง ทั้งที่เป็นคนจ้างนายโรเบิร์ตให้มาช่วยทำคดีคนเสื้อแดงเสียชีวิตระหว่างชุมนุมไปขึ้นศาลอาญาระหว่างประเทศก็ตาม
การปฏิเสธของ พ.ต.ท.ทักษิณ ทำให้นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักวิชาการแดงซึ่งประกาศจุดยืนอย่างชัดเจนว่าต้องการให้ยกเลิกมาตรา 112 ได้ทวงสัญญาจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โดยยกข้อความ ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ บอกกับทูตสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 21 ต.ค.2551 ที่เว็บไซต์วิกิลีกส์นำมาเปิดเผย ด้วยประโยคที่ว่า “หนึ่งในวาระของผม ... คือ ความจำเป็นจะต้องยกเลิกมาตราหมิ่นพระบรมเดชานุภาพออกจากกฎหมายอาญา ประเทศไทยไม่สามารถอ้างได้ว่าเป็นประเทศประชาธิปไตย ตราบเท่าที่ยังมีการคุกคามการดำเนินคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ”
เมื่อกระแสสังคมไม่ขานรับ และรัฐบาลเพื่อไทยไม่สนับสนุนตามที่คณะนิติราษฎร์เคยคาดหวัง ทำให้ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา การเคลื่อนไหวเพื่อแก้ไขมาตรา 112 รวมถึงข่าวคราวของนิติราษฎร์แทบจะเงียบหายไปจากหน้าสื่อ มีเพียงข่าวเล็กๆ ว่า ครก.112 ไปตั้งโต๊ะล่าชื่อประชาชน ในงานคอนเสิร์ตคนเสื้อแดง ที่โบนันซา เขาใหญ่ เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาเท่านั้น ขณะที่วิปรัฐบาลได้มีมติในการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าจะไม่แตะต้องหมวดพระมหากษัตริย์โดยเด็ดขาด
เรียกได้ว่า ณ เวลานี้ คณะนิติราษฎร์แทบจะไม่เหลือราคาอะไรอีกแล้ว
แต่พลันที่มีข่าวนายวรเจตน์ถูกชก เมื่อตอนบ่ายวันที่ 29 กุมภาพันธ์ คณะนิติราษฎร์และกลุ่มผู้สนับสนุนได้ถือโอกาสสร้างราคาให้ตัวเองทันที
นายวรเจตน์ได้เปิดแถลงข่าวทันทีในตอนเย็นวันเกิดเหตุ แสดงความมั่นใจว่า สาเหตุที่ตนถูกชกมีเพียงเรื่องเดียว คือบทบาททางวิชาการในนามกลุ่มนิติราษฎร์เพราะชีวิตไม่มีเรื่องขัดแย้งอย่างอื่น พร้อมกับถือโอกาสโอ้อวดจุดยืนตัวเองว่า จะไม่ลดบทบาทตัวเองและจะทำงานวิชาการต่อไปเพราะเป็นการทำไปบนหลักการที่ถูกต้องวางอยู่บนเหตุผลพร้อมกับๆ ดิสเครดิตฝ่ายต่อต้านว่า หลายคนปิดหูไม่ฟังจนเกิดความไม่เข้าใจ
ราวกับนัดแนะกันไว้ ในเย็นวันเดียวกันนั้นเอง องค์กรสิทธิมนุษยชนไทย 8 องค์กร ได้ออกแถลงการณ์ประณามความรุนแรงในกรณีการทำร้ายร่างกายนายวรเจตน์ ประกอบด้วย เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน(คนส.), สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน(สสส.), มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.), คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.), โครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม(Enlaw), มูลนิธิผสานวัฒนธรรม(CrCF), ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น และศูนย์ข้อมูลชุมชน ซึ่งนับว่าออกแถลงการณ์ได้อย่างรวดเร็วมาก หากเทียบกับกรณีประชาชนทั่วไปถูกละเมิดสิทธิ
หลังจากนั้น ในวันรุ่งขึ้น มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนก็ออกแถลงการประณามเช่นกัน ขณะที่ผู้สนับสนุนคณะนิติราษฎร์ นำโดยกลุ่มโดมรวมใจ และคนเสื้อแดงจำนวนหนึ่ง ก็นำดอกไม้ไปให้กำลังใจนายวรเจตน์ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมีนายปิยะบุตร แสงกนกกุล และนายปูนเทพ ศิรินุพงศ์ สมาชิกกลุ่มนิติราษฎร์ เป็นตัวแทนออกมารับ และมีการอ่านแถลงการณ์ประณามฝ่ายที่ต่อต้านนิติราษฎร์ตามฟอร์ม
ขณะเดียวกัน ก็มีขบวนการทำลายความน่าเชื่อถือของฝ่ายตรงข้ามในหลายรูปแบบ นอกจากการออกแถลงการณ์ประณาม อาทิ การเขียนบทความลงในเว็บประชาไท การแสดงออกของกลุ่มที่ถือหางนิติราษฎร์ทางเครือข่ายสังคมออนไลน์ ที่กล่าวหาแบบเหมารวมว่า ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับนิติราษฎร์มีแต่พวกป่าเถื่อน ชอบใช้กำลัง ไร้เหตุผล ขณะเดียวกันพวกเขาเองก็แสดงอาการตีโพยตีพาย เศร้าสลดใจที่นายจรเจตน์ถูกชกหน้า ราวกับว่าบ้านนี้เมืองนี้หมดสิ้นแล้วซึ่งเสรีภาพ
แม้ขณะนี้ จะยังไม่มีความชัดเจนว่า ฝาแฝดสองคนที่ชกหน้านายวรเจตน์นั้นมีแรงจูงใจมาจากสาเหตุใด เป็นเพราะไม่พอใจบทบาทของคณะนิติราษฎร์ตามที่ตำรวจบอกหรือไม่ แต่เหตุการณ์นี้ก็เห็นได้ชัดว่าฝ่ายนิติราษฎร์และกลุ่มผู้ถือหางนิติราษฎร์ได้ฉวยโอกาสอย่างน่าเกลียดเพื่อทำลายฝ่ายตรงข้ามและสร้างราคาให้กับกลุ่มตัวเองอีกครั้ง