ที่ประชุมฝ่ายรักษาความปลอดภัย ม.ธรรมศาสตร์ พร้อมเพิ่มความเข้มงวด หลัง “วรเจตน์” ถูกบุกทำร้ายถึงสถาบัน มั่นใจต้นเหตุเคลื่อนไหวแก้ ม.112 ยินดีสนับสนุนการจัดกิจกรรมทางวิชาการ แต่ต้องอยู่บนเงื่อนไขบางประการ
วันนี้ (1 มี.ค.) ที่ห้องวรรณไวทยากร ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ นายอุดม รัฐอมฤต รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร เรียกประชุมเลขานุการทุกคณะ และผู้เกี่ยวข้องกับการรักษาความปลอดภัยภายในมหาวิทยาลัย โดย นายอุดม ให้สัมภาษณ์ก่อนเริ่มการประชุม ว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวานนี้ กล้องวงจรปิดของมหาวิทยาลัย จับภาพรถคนร้ายที่วิ่งเข้าออกได้ ขณะที่กล้องวงจรปิดของคณะนิติศาสตร์ สามารถจับภาพคนร้ายช่วงที่มานั่งรอได้ ทำให้พอจะประมวลได้ว่าคนร้ายเป็นใคร เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงสามารถหาตัวผู้ต้องสงสัยได้อย่างรวดเร็ว
นายอุดม กล่าวอีกว่า กล้องวงจรปิดภายในมหาวิทยาลัย สามารถเก็บภาพหลักๆ ได้อยู่แล้ว โดยเฉพาะบริเวณประตูเข้าออก แต่พื้นที่ที่อยู่ไกลออกไป อาจดูแลได้ไม่ทั่วถึง มหาวิทยาลัยจึงพยายามสำรวจเพิ่มเติมว่า มีพื้นที่ใดบ้างที่ล่อแหลม เนื่องจากขณะนี้ไม่ได้มีเฉพาะอาจารย์คณะนิติศาสตร์เท่านั้น ที่ไปเกี่ยวข้องกับปัญหาความขัดแย้งทางความคิด แต่ยังมีอาจารย์คณะอื่นๆ ด้วย มาตรการขณะนี้มหาวิทยาลัยจะประสานกับคณะต่างๆ ให้ช่วยกันดูแล และจะติดตั้งกล้องวงจรปิดเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ จะเน้นย้ำให้มีการประสานงานกันมากขึ้น เพราะเหตุการณ์ที่ผ่านมา เมื่อเกิดเหตุขึ้นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย มัวแต่ไปสนใจว่าอาจารย์เป็นอะไรหรือไม่ แต่ไม่ได้แจ้งข่าวให้หน่วยอื่นๆ เลย ซึ่งถ้ามีการแจ้งข่าวกัน ก็อาจจะจับตัวคนร้ายได้ทันที ยอมรับว่า บุคลากรส่วนหนึ่งไม่เคยเจอเหตุการณ์เช่นนี้ ท่าจะเพิ่มเติมอะไรตอนนี้ คงเริ่มที่เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยก่อน
“เชื่อว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สืบเนื่องมาจากการที่นายวรเจตน์ เคลื่อนไหวเรื่องมาตรา 112 อย่างแน่นอน เพราะ นายวรเจตน์ ไม่มีเรื่องอื่น และการจัดกิจกรรมทุกครั้งอาจารย์ก็ทำโดยเปิดเผย ทำให้เรารู้สึกว่าอาจารย์เองก็คงไม่คิดว่าจะเกิดเรื่องทำนองนี้ขึ้น แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ต้องดูแลกันมากขึ้น ยังยืนยันว่า มหาวิทยาลัยพร้อมสนับสนุนการจัดกิจกรรมทางวิชาการ แต่ต้องมีเงื่อนไขบางประการ เช่น ต้องควบคุมสถานการณ์ให้ได้ เพราะเราไม่ทราบเลยว่าจะมีฝ่ายต่อต้านมาประท้วงหรือไม่ ปัญหาของมหาวิทยาลัยไม่ได้อยู่ที่นิติราษฎร์จะจัดหรือไม่จัดกิจกรรม แต่ต้องดูว่าสถานการณ์บ้านเมืองเป็นอย่างไร” นายอุดม กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันเดียวกัน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ออกประกาศประณามการก่อเหตุร้ายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยระบุว่า มหาวิทยาลัย เห็นว่า การก่อเหตุร้ายดังกล่าวเป็นการกระทำที่ขาดความยั้งคิด มุ่งผลที่จะข่มขู่ และก่อให้เกิดความกลัวแก่บุคลากรของมหาวิทยาลัยที่ใช้เสรีภาพทางวิชาการในการแสดงความคิดเห็น มหาวิทยาลัยจึงขอประณามการใช้ความรุนแรงในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น รวมทั้งการใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหาในทุกกรณี และขอเรียกร้องให้ทุกฝ่าย ใช้เหตุผลในการแก้ไขปัญหาของบ้านเมือง มหาวิทยาลัยจะติดตามเรื่องที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด และเพิ่มมาตรการในด้านการรักษาความปลอดภัยภายในมหาวิทยาลัยให้มากขึ้น เพื่อป้องกันและรักษาความปลอดภัยให้กับบุคลากรของมหาวิทยาลัย ตลอดจนบุคคลทั่วไปที่เข้ามาใช้พื้นที่ในมหาวิทยาลัย
นายอุดม แถลงภายหลังการประชุม ว่า ที่ประชุมเห็นตรงกันว่า สิ่งที่ยังบกพร่องอยู่ คือ เรื่องการเข้าออกของบุคคลภายนอก โดยเฉพาะผู้ที่ใช้รถจักรยานยนต์ จึงออกมาตรการให้เจ้าหน้าที่ตั้งแผงเหล็กกั้นประตูเข้าออกมหาวิทยาลัย และจักรยานยนต์ทุกคันต้องมีการแลกบัตร อีกส่วนหนี่ง คือ คัดกรองบุคคลภายนอกที่เดินผ่านเข้าออก ดังนั้น เจ้าหน้าที่จะต้องมีงานเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน บุคคลภายนอกก็อาจจะไม่ได้รับความสะดวก นอกจากนี้ ยังกำชับให้ทุกหน่วยงานมีการประสานงานที่ชัดเจน เพราะเรายังขาดระบบสื่อสารไปถึงผู้ที่หน้าที่รับผิดชอบ โดยจะให้ทุกหน่วยงานมีเครือข่ายวิทยุ และสร้างจุดประสานงาน จะได้ติดต่อกันได้เร็วขึ้น ส่วนกล้องวงจรปิดยังไม่สามารถติดตั้งได้ทันที จะขอให้ทุกหน่วยสำรวจพื้นที่ล่อแหลม และจัดคนไปช่วยเฝ้าระวังก่อน
นายอุดม กล่าวอีกว่า สำหรับการประสานงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจนั้น ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยกับ สน.ชนะสงคราม มีความสัมพันธ์อันดี ตำรวจเข้าใจปัญหาของมหาวิทยาลัยดี เมื่อเกิดเหตุก็มาอย่างรวดเร็ว และดูแลอย่างใกล้ขิด และหลังจากเกิดเหตุเมื่อวานนี้ พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ รองผบช.น.ก็มาสอบถามชื่อ และที่อยู่ของอาจารย์ในกลุ่มเสี่ยง ซึ่งมีอยู่ 3-4 คน เพื่อจะไปช่วยดูแลเรื่องความปลอดภัยให้ ในส่วนของมหาวิทยาลัยเองที่ทำได้ คือ ช่วยกันดูแลคนละไม้คนละมือ แต่คงไม่ไปปรามเรื่องการแสดงความคิดเห็นของอาจารย์แต่ละคน เพราะแต่ละคนคงสามารถประเมินสถานการณ์เองได้ บางคนมีเครือข่ายของตัวเอง กระบวนการเหล่านี้เป็นเกราะคุ้มครองเขาส่วนหนึ่งด้วย คนที่คิดจะมาทำร้ายคงต้องคิดแล้วคิดอีก