ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-หลายคนอาจจะแปลกใจไม่น้อย ที่เห็นคนในเครือข่ายทักษิณ ชินวัตร มีท่าทีต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่แตกต่างกัน ตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา
โดยฝ่าย ส.ส.พรรคเพื่อไทยและคนเสื้อแดงนำโดยวิปรัฐบาลนั้น มีมติชัดเจนว่า จะใช้ช่องทางรัฐสภาแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ก่อน เพื่อปูทางไปสู่การเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.)ขึ้นมาเป็นชุดที่ 3 ของประวัติศาสตร์การเมืองไทย เพื่อทำการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
แต่ในขณะเดียวกัน คณะกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอ.นธ.)ที่มีนายอุกฤษ มงคลนาวิน เป็นประธาน ก็ได้เสนอให้รัฐบาลแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายรัฐธรรมนูญมาเป็นคณะกรรมการยกร่างฯ โดยไม่ต้องมี ส.ส.ร.ให้เสียเวลาและเสียงบประมาณ พร้อมได้เสนอชื่อคณะกรรมการยกร่างฯ จำนวน 34 คนออกมาเป็นตัวอย่าง
ขณะที่คนเสื้อแดงอีกกลุ่มหนึ่งก็ล่ารายชื่อ 5 หมื่นรายชื่อเพื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญของตัวเองเข้าสู่สภาเช่นกัน
ดูผิวเผิน คล้ายกับว่า แต่ละกลุ่มในเครือข่ายของทักษิณมีแนวคิดที่ขัดแย้งกันเอง โดยนายอุกฤษในฐานะประธาน คอ.นธ.แถลงเมื่อวันที่ 10 ม.ค.ว่า ไม่เห็นด้วยกับการตั้ง ส.ส.ร.3 เพราะต้องเสียงบประมาณในการเลือกตั้งจำนวนนับพันล้านบาท และ ส.ส.ร.ที่เลือกมาจังหวัดละ 1 คน ก็ขัดกับหลักการประชาธิปไตย เพราะแต่ละจังหวัดมีประชากรไม่เท่ากัน นอกจากนี้ยังใช้เวลานาน กว่าจะยกร่างเสร็จ ขณะที่การตั้งคณะกรรมการยกร่างฯ 34 คนตามข้อเสนอของ คอ.นธ.จะใช้เวลาเพียง 60 วัน โดยจะมีการถ่ายทอดสดการประชุมยกร่างฯ ให้เห็นทุกขั้นตอน
ขณะที่วิปรัฐบาลได้ประชุมกันเมื่อวันที่ 9 ม.ค.ที่ผ่านมา และนายอุดมเดช รัตนเสถียร ส.ส.พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานวิป เปิดเผยมติที่ประชุมว่า จะแก้ไขเฉพาะมาตรา 291 เพื่อเปิดโอกาสให้มี ส.ส.ร.3 และจะให้คณะกรรมาธิการพิจารณารายละเอียดว่าจะกำหนดที่มาของ ส.ส.ร.อย่างไรบ้าง ซึ่งในราวต้นเดือนกุมภาพันธ์น่าจะสามารถเริ่มกระบวนการได้ ส่วนการตั้งคณะกรรมการยกร่างฯ 34 คน ตามข้อเสนอ ของ คอ.นธ.วิปเห็นว่า ยังขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน แม้ว่าทั้ง 34 คน หลายคนเป็นคนที่มีคุณสมบัติ และสามารถไปอยู่ในส่วนของตัวแทนของกลุ่มสาขาวิชาชีพเฉพาะทางได้
เมื่อมองให้ลึกๆ แล้วจึงเห็นได้ว่า ทั้งการตั้ง ส.ส.ร.3 การตั้งคณะกรรมการยกร่างฯ ตามข้อเสนอ คอ.นธ. และการเข้าชื่อ 5 หมื่นรายชื่อเพื่อเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ล้วนเป็นการแสดงละครตบตาประชาชน เพื่อสร้างภาพว่าในเครือข่ายทักษิณ ชินวัตร มีกลุ่มคนที่หลากหลายความคิดสะท้อนความเป็นประชาธิปไตย แต่แท้ที่จริงแล้วกลุ่มต่างๆ ล้วนอยู่ภายใต้การชักใยของทักษิณ ชินวัตร ที่ต้องการยกเลิกมาตรา 309 ของรัฐธรรมนูญฉบับที่ใช้บังคับอยู่ปัจจุบัน เพื่อให้ตัวเองพ้นจากความผิดทั้งนั้น
หากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยกเลิกมาตราดังกล่าว ก็ถือว่าบรรลุเป้าหมายสูงสุดของทักษิณ ชินวัตรแล้ว ไม่ว่าจะแก้ไขด้วยวิธีการใดก็ตาม เพราะหากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่มีเนื้อหาตามมาตรา 309 ก็ถือว่า คดีความต่างๆ อันเกี่ยวเนื่องกับความผิดของทักษิณ ชินวัตร ตามที่คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ(คตส.)ได้ทำสำนวนเอาไว้ ก็จะกลายเป็นโมฆะไปทันที
ที่จริงแล้ว ความเคลื่อนไหวในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อลบล้างความผิดของทักษิณ ชินวัตร มีมาตั้งแต่ยุครัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช เมื่อปี 2551 ถึงขั้นมีการเข้าชื่อกันของ ส.ส.และ ส.ว.จำนวนหนึ่งเพื่อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ และกลุ่ม นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำคนเสื้อแดงได้ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ไว้เรียบร้อยแล้ว แต่ในครั้งนั้น พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้ออกมาชุมนุมคัดค้าน ทำให้การแก้ไขไม่สำเร็จ และพรรคพลังประชาชน เครื่องมือทางการเมืองของทักษิณ ชินวัตร ถูกยุบไปเสียก่อน ด้วยความผิดฐานทุจริตการเลือกตั้ง
เมื่อพรรคการเมืองของทักษิณในชื่อใหม่ว่าพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาล หลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 จึงไม่รีรอที่จะเดินหน้ากระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญในทันที โดยมีกระบวนการโฆษณาชวนเชื่อที่แยบยลกว่าเดิม เพื่อโน้มน้าวให้กระแสสังคมส่วนใหญ่เห็นคล้อยตามด้วย
ทั้งด้วยการผลิตซ้ำทางวาทกรรมที่ว่า จะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญตามที่ได้หาเสียงกับประชาชนไว้ แม้ว่าในความเป็นจริงแล้ว ประชาชนที่เลือกพรรคเพื่อไทยได้ตัดสินใจเลือกเพราะนโยบายประชานิยมลดแหลกแจกแถมมากกว่า
นอกจากนั้น ก็ขยายความวาทกรรมดั้งเดิมที่ว่า รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ที่ใช้อยู่ปัจจุบันมาจากการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ไม่ใช่รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย แม้ว่าในข้อเท็จจริงแล้ว รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ก็มาจากพื้นฐานของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ที่คนในเครือข่ายทักษิณยกย่องเชิดชูว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดนั่นเอง และยังมีการเพิ่มสิทธิเสรีภาพ เพิ่มอำนาจให้ประชาชนในการเสนอกฎหมาย ยื่นถอดถอนนักการเมือง รวมทั้งการยื่นร้องเรียนความไม่เป็นธรรมต่างๆ ให้มากขึ้นด้วย
อย่างไรก็ตาม แม้เครือข่ายทักษิณจะมีข้ออ้างเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามวาทกรรมที่พยายามผลิตซ้ำและสามารถใช้เสียงข้างมากในสภาเดินหน้ากระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญไปได้ทันที แต่จากบทเรียนที่เคยถูกต่อต้านในปี 2551 ทำให้ต้องปรับกลยุทธใหม่ เพื่อไม่ให้ฝ่ายตรงข้ามจับทิศทางได้ เครือข่ายทักษิณจึงเลือกใช้วิธีการตั้ง ส.ส.ร.ขึ้นมา ด้วยความมั่นใจว่า หากกำหนดให้ ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้งแล้ว ด้วยฐานเสียงที่เครือข่ายทักษิณยึดกุมอยู่ ส.ส.ร.ส่วนใหญ่ก็จะอยู่ภายใต้อาณัติของทักษิณ ชินวัตร และสามารถกำหนดเนื้อหาในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตามที่ต้องการได้
เห็นได้ว่า แนวทางการตั้ง ส.ส.ร.3 ถูกคัดค้านน้อยมาก แม้จะมีเสียงเตือนจากพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่ไม่เห็นด้วยกับการเลือกตั้ง ส.ส.ร. แต่กระแสต้านก็ยังไม่แรงพอที่จะยับยั้งกระบวนการจัดตั้ง ส.ส.ร.ได้ นั่นเพราะฝ่ายทักษิณยังไม่ได้เปิดเผยวาระที่แท้จริงออกมานั่นเอง
ส่วนการตั้ง กอ.นธ.ขึ้นมา เพื่อเสนอแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกแนวทางหนึ่งนั้น มองได้ว่าเป็นเพียงการโยนหินถามทาง ซึ่งหากนายอุกฤษสามารถหาเหตุผลหว่านล้อมให้กระแสสังคมเห็นคล้อยตามได้ ก็ถือเป็นลาภลอยที่มาก่อนเวลา แต่หากข้อเสนอของ คอ.นธ.ถูกตีตกไปก็ไม่มีอะไรเสียหาย เพราะยังมี ส.ส.ร.3 ที่ทักษิณ ชินวัตร เชื่อมั่นว่าเขาสามารถกดรีโมตสั่งการได้
มีข้อน่าสังเกตว่า การเสนอชื่อคณะกรรมการยกร่างฯ 34 คน ที่นายอุกฤษอ้างว่าเป็นเพียงตุ๊กตานั้น จงใจที่จะเลือกเอาคนที่มีความเห็นสอดคล้องกับทักษิณ ชินวัตร เสียเป็นส่วนใหญ่ ที่เรียกว่า “แดงเถือก”นั้น อย่างน้อยก็มี 21 คน ส่วนที่เหลือก็เอาคนเสื้อเหลือง นักวิชาการฝ่ายเป็นกลาง และตัวแทนสื่อมวลชน มาเป็นแค่ไม้ประดับ ทำให้เกิดเสียงต่อต้านดังกระหึ่มขึ้นทั่วประเทศ และนั่นก็ทำให้แนวทางการตั้ง ส.ส.ร.3 ดูดีขึ้นมาทันที เมื่อเปรียบเทียบกับแนวทางที่นายอุกฤษเสนอ
นี่เป็นวิธีการของทักษิณ ชินวัตรอยู่แล้ว ที่ชอบเล่นไพ่หลายมือ ซึ่งเมื่อไพ่หมดสำรับ ไม่มือใดก็มือหนึ่งต้องชนะ และเงินเดิมพันก็ตกเป็นของเขาอยู่ดี