xs
xsm
sm
md
lg

รบ.สับขาหลอกแก้ม.291 ยัด34อรหันต์ นั่งส.ส.ร.ยกร่างรธน.ทางลัด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการรายวัน - "มาร์ค"เตือน "ปูนิ่ม" อย่าเดินตามช่อง คอ.นธ. เสนอ เพราะเป็นแค่คณะกรรมการนอกรธน. ต้องกล้าโชว์ท่าทีการแก้รธน.ให้ชัด อย่าทำสับสน ย้ำต้องตั้งส.ส.ร.ที่ทุกฝ่ายยอมรับ ขณะที่วิปรัฐบาลยังสับขาหลอก มีมติให้ใช้แนวทางแก้ไข ม.291 แต่จะเชิญ 34 อรหันต์นั่งส.ส.ร.ด้วย ด้าน"เจ๊สด" แนะให้ใช้ ส.ว.เลือกตั้งจาก 77 จังหวัด ทำหน้าที่ส.ส.ร. เพื่อประหยัดงบฯ ชี้ไม่ต่างจากเลือกตั้งส.ส.ร.โดยตรง เพราะจะได้คนของพรรคการเมืองเข้ามาอยู่ดี

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มีข้อเสนอหลากหลายว่า ขอเรียกร้องให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมตรี แสดงความชัดเจนเกี่ยวกับแนวทางแก้ไขรธน. เนื่องจากการให้สัมภาษณ์ของนายกฯ ยังมีความสับสนอยู่มาก ปากบอกว่าอยากให้ประชาชนมีส่วนร่วม แต่กลับเห็นด้วยกับการตั้งคณะกรรมการยกร่าง 34 คนตามข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระว่าด้วยหลักนิติธรรมแห่งชาติ ( คอ.นธ.)

ทั้งนี้ หากอยากให้ประชาชนมีส่วนร่วมจริงๆ ก็ควรเดินตามแนวทางเดิมที่รัฐสภาเคยบอกไว้ คือแก้ มาตรา 291 ตั้ง ส.ส.ร. จะถูกต้องเหมาะสมมากกว่า เพราะการให้ครม. แต่งตั้งคณะกรรมการที่จะมา ยกร่างรธน.นั้น สวนทางกับสิ่งที่นายกฯ พูดเองว่า รัฐบาลจะไม่เป็นเจ้าภาพในการทำงานนี้ ยิ่งทำให้เกิดความสับสนมากขึ้น ซึ่งจะไม่เป็นผลดี เนื่องจากสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดความขัดแย้ง ดังนั้นนายกฯต้องทำความชัดเจน และยึดแนวทางที่แถลงต่อสภา ด้วยการตั้งส.ส.ร. หากต้องการเดินหน้าแก้รธน.

" ต้องถามนายกฯว่า การจะมี ส.ส.ร. ควบคู่ไปกับคณะกรรมการยกร่างรธน. 34 คน จะเป็นไปได้หรือไม่ ก็ต้องไปถามว่า ตกลงนายกฯ จะเอาอย่างไร เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่ ที่ไม่เคยปรากฏในบทบาทหน้าที่ของคอ.นธ. แต่อยู่ดีๆ กลับมีการเสนอเรื่องนี้ และมีการพูดด้วยซ้ำว่า คอ.นธ. อาจหมายถึงคณะกรรมการนอกรัฐธรรมนูญ เพราะไม่ใช่ตัวคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายที่ รธน.ให้การรองรับ และมีการพูดว่า บางคนอาจจะใจร้อน ถ้าเป็นกระบวนการ ส.ส.ร.ที่ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วม อาจจะช้า และครอบงำไม่ได้ตามที่ต้องการ ก็ต้องถามว่าเป็นเพราะพี่ชายนายกฯ ไม่ต้องการกระบวนการ ส.ส.ร.ใช่หรือไม่ "

นายอภิสิทธิ์ กล่าวด้วยว่า ถ้าจะแก้ไขรธน. ก็ควรใช้กลไกของ กมธ.ปรองดองหารือกันว่า รูปแบบส.ส.ร. ควรเป็นอย่างไร ที่ทุกฝ่ายให้การยอมรับ จึงจะเดินไปข้างหน้าได้ เพราะหากเดินตามข้อเสนอของ คอ.นธ. ที่ นายอุกฤษ มงคลเนวิน เป็นประธาน ก็อาจจะเกิดวิกฤตได้ เนื่องจากในเอกสาร ข้อเสนอ มีความขัดแย้งกันเอง เพราะขณะที่ระบุว่าคณะกรรมการยกร่าง จะต้องเป็นอิสระ แต่กลับมีการชี้นำประเด็นผ่านข้อเสนอของคอ.นธ.

** ชี้องค์กรอิสระเกิดจากรธน.ปี40

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในเอกสารระบุถึงองค์กรที่เกิดขึ้นจากการทำรัฐประหาร และยังทำหน้าที่อยู่ จะเป็นอันตรายต่อประเทศชาติ น่าจะหมายถึงศาลรัฐธรรมนูญ , ป.ป.ช. และ กกต. คิดว่ามีเหตุผลรองรับหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า องค์กรเหล่านี้เกิดขึ้นตามรัฐธรรมนูญ ปี 40 ซึ่งผู้สนับสนุนรัฐบาลบอกว่าดีที่สุด เพียงแต่ปี 50 มีการแก้ไขที่มาบางส่วน เพราะมีปัญหาเรื่องการแทรกแซง เช่น มีคำวินิจฉัยคดียุบพรรคชี้ไว้อย่างชัดเจน โดยทุกพรรคการเมืองในปี 49 ก็พูดชัดว่า จำเป็นต้องปรับปรุงรธน.ปี 40

ส่วนที่กล่าวอ้างว่ามีบุคคลในองค์กรอิสระได้รับการแต่งตั้งหลังจากทำรัฐประหาร และยังทำหน้าที่อยู่ ถือว่าขัดหลักนิติธรรมนั้น ต้องมองในเชิงระบบว่า การเปลี่ยนแปลงตัวบุคคลมีตามวาระอยู่แล้ว ที่สำคัญคือความรับผิดชอบ เพราะหากคนเหล่านี้ทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ก็ถูกพิจารณาถอดถอนได้ ตนจึงคิดว่าข้อเสนอของ คอ.นธ. แปลกมาก เพราะมีความขัดแย้งในตัวเอง อ้างว่าจะให้ผู้เชี่ยวชาญมาคิด แต่กลับเสนอเนื้อหาชี้นำ และยังยกตัวอย่างคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมา ซึ่งองค์ประกอบก็อิงอยู่กับบางพรรคการเมืองเท่านั้น ขณะที่บุคคลอื่นๆไม่มีการตอบรับ หรือเห็นด้วยกับแนวทางนี้

** เตือนเดินตามคอ.นธ.ยุ่งแน่

ดังนั้นถ้านายกฯ จะยืนยันว่า ไม่เดินตามช่องทางนี้ น่าจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด แต่ถ้ายังเดินตามแนวทางนี้ก็จะยุ่ง วุ่นวาย เพราะประชาชนไม่มีส่วนร่วม ความหวาดระแวง ความขัดแย้งจะรุนแรงยิ่งขึ้น เพราะขาดการทำความเข้าใจ และการมีส่วนร่วมจากประชาชน จึงควรล้มเลิกความคิดนี้ ให้ คอ.นธ.ไปทำเรื่องอื่นดีกว่า

" นายกฯ ควรจะชัดเจน ต้องตอบสังคมว่าเดินแนวทาง ส.ส.ร.เรื่องนี้จะได้จบเพราะเป็นห่วงว่าขณะนี้มีความสับสนเกิดขึ้นหลายอย่าง แต่นายกฯ ก็ไม่ได้แสดงท่าทีชัดเจนไม่ว่าจะเป็นเรื่องความพยายามโอนหนี้ให้ธปท. เมื่อถูกสอบถามก็บอกว่าไม่กระทบทุนสำรอง หรือพิมพ์ธนบัตร และไม่แทรกแซง แต่กลับไม่มีคำตอบว่า แล้วธปท.จะนำเงินมาจากไหน ตรงนี้ถึงเวลาที่นายกฯ ต้องชี้แจงในประเด็นยากๆ มีการเผชิญหน้ากันอยู่ คนเป็นผู้นำรัฐบาลต้องชัดเจน จะเอาอย่างไร แต่ต้องอยู่กับความเป็นจริง เพราะเป็นไปไม่ได้ที่จะเอาส.ส.ร. คือจะให้ประชาชนมีส่วนร่วม แต่มีคณะกรรมการพิเศษด้วย จะโอนหนี้ให้แบงก์ชาติแต่ไม่กระทบฐานะของแบงก์ชาติ คูปอง 2 พันบาท มีปัญหาแต่จะแจกต่อ เหล่านี้ล้วนขัดแย้งกันเอง ทำอย่างนี้ไม่ได้ ถึงเวลาที่ต้องเผชิญกับประเด็นต่างๆ อย่างจริงจัง ไม่เช่นนั้นบ้านเมืองจะสับสน ภาวะวันนี้รัฐบาลเข้ามาบนความคาดหวังว่า จะกระชากค่าครองชีพลง แต่เริ่มต้นปีใหม่มา มีแต่การขึ้นค่าครองชีพ ตั้งแต่ค่าไฟ จนถึงเอ็นจีวี" นายอภิสิทธิ์ กล่าว

**ใช้หลักอะไรตั้ง 34 อรหันต์

นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลมีแนวคิดจะแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 291 เปิดทางให้มีการตั้ง ส.ส.ร. ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่ได้มีท่าทีขัดข้อง แต่ขอให้ระบุรายละเอียดการแก้ไขให้ชัดเจน แต่ที่ผ่านมา นายอุกฤษ มงคลนาวิน ประธาน คอ.นธ. เสนอตั้งคณะกรรมการ ร่างรัฐธรรมนูญ 34 คน ซึ่งบางคนมาจากฝ่ายที่ไม่เกี่ยวข้องกับการร่างรัฐธรรมนูญ การที่ระบุว่า หาก ส.ส.ร. มาจากการเลือกตั้งจะเผด็จการมากกว่านี้นั้น จึงอยากถามว่าใช้หลักอะไรในการแต่งตั้ง

นอกจากนี้ การระบุว่า รัฐธรรมนูญที่มาหลังเผด็จการ ไม่เป็นประชาธิปไตยนั้น ต้องย้อนถามกลับไปเมื่อสมัยหลังเข้ายึดอำนาจของ คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) นายอุกฤษ ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และยังกลับมาเป็นประธานวุฒิสภา ตามรัฐธรรมนูญฉบับที่ร่างขึ้นมา และที่สำคัญ ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง จึงอยากถามว่านายอุกฤษ มีหลักการอะไรว่า รัฐธรรมนูญฉบับไหนเป็นเผด็จการ ไม่เป็นประชาธิปไตย

** มติวิปรัฐบาลยึดแก้ไข ม.291

นายอุดมเดช รัตนเสถียร ส.ส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) เปิดเผยภายหลังการประชุมวิปรัฐบาลว่า ได้มีการหารือถึงการแก้ไขรธน. โดยยึดหลักเหมือนเดิม คือจะแก้ไขเฉพาะ มาตรา 291 เพื่อเปิดโอกาสให้มี สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ( ส.ส.ร. ) ว่าจะมีที่มาอย่างไร แต่สรุปสุดท้ายแล้วคงจะต้องให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมาธิการที่จะพิจารณาในวาระ 2 และ 3 ของการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าจะกำหนดให้ ส.ส.ร. มาจากหน่วยงานใดบ้าง และมาด้วยวิธีการใด

ส่วนเงื่อนเวลาที่จะดำเนินการแก้ไข มาตรา 291 คาดว่า หลังจากนี้อีก 1-2 สัปดาห์ น่าจะเห็นเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น โดยรัฐบาลกำลังฟังความเห็นจากทุกฝ่าย จากนั้นก็อาจจะเป็นรัฐบาล ที่เป็นคนเสนอร่างแก้ไข รธน. เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา

**แบะท่าเชิญ 34 อรหันต์นั่งส.ส.ร.

สำหรับข้อเสนอของ คอ.นธ. นั้น ก็เป็นอีกหนึ่งความเห็น ที่จะรับไว้พิจารณา แต่ว่าการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนจะขาดหายไปในส่วนนี้ ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าผู้มีรายชื่ออยู่ทั้ง 34 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่สังคมยอมรับ และมีความเชี่ยวชาญในด้านนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ โดยไม่มีใครปฏิเสธคุณสมบัติ เพียงแต่บางครั้งเราเห็นว่า ที่มายังไม่มีส่วนร่วมของภาคประชาชน

อย่างไรก็ตาม ที่มาของ ส.ส.ร. หากจะดูโมเดลของ ส.ส.ร.1 ส่วนหนึ่งจะมาจากตัวแทนจากทุกจังหวัด และอีกกลุ่มมาจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ซึ่งหากเรายึดกรอบที่มาของส.ส.ร.1 บุคคลทั้งหลายที่มีรายชื่ออยู่ใน 34 คน ก็ถือว่าเป็นคนที่มีคุณสมบัติที่จะสามารถไปอยู่ในจำนวนตัวแทนของกลุ่มสาขาวิชาชีพเฉพาะทางได้ ขณะที่การทำประชามตินั้น ส่วนตัวคิดว่าจำเป็น ซึ่งน่าจะทำหลังจากที่ส.ส.ร. ยกร่างเสร็จเรียบร้อยแล้ว

" ในขั้นตอนการเสนอร่างแก้ไข มาตรา 291 อาจจะมีการเสนอกรอบที่มาของส.ส.ร.ไว้คร่าวๆ แต่สุดท้ายคนที่สรุปก็คือกรรมาธิการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า จะฟันธงจะให้ส.ส.ร.มีที่มาอย่างไร" นายอุดมเดช กล่าว

**"เจ๊สด"ให้ใช้ส.ว.เลือกตั้งเป็นส.ส.ร.

นางสดศรี สัตยธรรม กกต.ด้านกิจการพรรคการเมืองและการออกเสียงประชามติ กล่าวถึงการแก้รธน. ตามแนวทางที่คอ.นธ.เสนอมา ว่า การตั้งคณะกรรมการขึ้นมายกร่างแก้ไขรธน.34 คน ก็จะมีคำถามว่า จะเป็นที่ยอมรับได้หรือไม่ และจะมีความเป็นกลางหรือไม่ เพราะเป็นการตั้งมาโดยองค์กรหนึ่ง ซึ่งการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ควรมาจากประชาชน และตัวแทนจากนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ และนิติศาสตร์ ประมาณ 22 คน หากมีแค่ 34 คน ที่ไม่ใช่ตัวแทนจากประชาชน ก็จะทำให้เกิดปัญหาได้

ทั้งนี้ ส่วนตัวยังเห็นว่าควรมีการตั้ง ส.ส.ร. ขึ้นมา หากต้องการประหยัดงบฯ ก็สามารถใช้ ส.ว.เลือกตั้ง ซึ่งก็เป็นตัวแทนภาคประชาชนที่มีจำนวน 77 คน ในการยกร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ได้

" สิ่งที่ควรจะทำในการแก้รัฐธรรมนูญ คือ ให้ประชาชนเข้าใจว่า แก้ไปเพื่ออะไร ตัวผู้แก้ไข ไม่ควรที่จะมาจากตัวแทนกลุ่มการเมือง เพราะเมื่อครั้งการร่างรัฐธรรมนูญ 50 ก็มีการใช้สมัชชาแห่งชาติ จำนวน 2,000 คน แล้วคัดเลือกตัวแทนแต่ละสาขาอาชีพมาเป็น ส.ส.ร. ซึ่งถือเป็นเรื่องดี โดยถ้ามีการเลือก ส.ส.ร.แต่ละจังหวัดใหม่ ภาคเหนือ ภาคอีสาน ก็จะเป็นของพรรคเพื่อไทย และภาคใต้ ก็เป็นของพรรคประชาธิปัตย์ คงก็ไม่อะไรที่แตกต่างจาก ส.ว.เลือกตั้ง 77 จังหวัดในปัจจุบัน ที่แม้กฎหมายจะห้าม ส.ว.สังกัดพรรคการเมือง แต่ก็พอมองออกว่า คนไหนเป็นคนของพรรคใด เป็นธรรมดาของระบบการเมือง ใช้วิธีนี้ก็จะประหยัดงบดี โดยใช้วิธีแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ให้อำนาจ ส.ว.เลือกตั้ง เป็นส.ส.ร.ด้วย จากนั้นก็คัดเลือกนักวิชาการ 22 คน เข้าไปร่วม รวมเป็นส.ส.ร. 99 คน แต่ถ้าเป็นคณะกรรมการ 34 คนอย่างที่ คอ.นธ.เสนอ แม้จะมาจากกลุ่มที่มีความขัดแย้งต่างๆ แต่ก็เชื่อว่าไม่สามารถลด หรือยุติความขัดแย้งได้ เห็นได้ว่าจากการเสนอรายชื่อผู้ที่จะเข้ามาเป็นกรรมการฯ ยกร่าง ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อก็ออกมาปฏิเสธ แสดงว่าการตั้งคณะกรรมการชุดนี้ก็ไม่มีผลอะไร แล้วถ้ามาร่วมกันทำหน้าที่ในคณะกรรมการ การทำให้ยอมรับซึ่งกันและกันก็เป็นไปได้ยากมาก"

**เตือนพนักงานกกต.อย่าหวั่นไหว

นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธาน กกต. กล่าวว่า การจะแก้รธน. ไม่ใช่แก้ด้วยคนไม่กี่คนเท่านั้น จึงอยากให้ช่วยกันพิจารณา และควรจะให้ประชาชน รวมทั้งฝ่ายต่างๆ มาระดมความเห็นร่วมกัน ส่วนจะดำเนินการอย่างไร ก็มีรูปแบบมาแล้วในอดีต ส่วนตัวคิดว่า คงต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ และใช้งบประมาณของประเทศชาติในจำนวนที่เหมาะสม ไม่ฟุ่มเฟือย

ทั้งนี้ นายอภิชาต ได้กล่าวตอนหนึ่งระหว่างมอบนโยบายให้กับพนักงานผู้ปฏิบัติงานระดับกลางว่า สถานการณ์ทางการเมือง มีแนวคิดที่จะแก้ไขรธน. โดยมีหลากหลายความเห็น ซึ่งองค์กรกกต. ก็มีความเกี่ยวพันกับสถาบันการเมือง จึงไม่สามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบได้ จึงขอให้พนักงานระดับกลางเอาใจใส่ อย่าหวั่นไหว ทำงานด้วยความเป็นกลาง เพราะอาจจะได้รับผลกระทบบ้าง.
กำลังโหลดความคิดเห็น