xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เอา-ไม่เอา ม.309 ชนวนนองเลือดปี 2555

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ผู้มี้สถานะเป็นผู้ต้องหาและนักโทษหนีคดียังคงมีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิสทางการเมือง ปี 2555
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-ปฏิเสธไม่ได้ว่าในรอบปี 2554 ที่ผ่านมา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่หลบหนีคดีอยู่ต่างประเทศยังคงมีบทบาทกำหนดเกมการเมืองในประเทศไทยอย่างสูงทีเดียว ทั้งในฐานะพี่ชาย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และเจ้าของตัวจริงของพรรคเพื่อไทยที่ครองเสียงข้างมากในสภาและเป็นพรรคแกนนำรัฐบาลขณะนี้

ทำให้การขยับตัวทุกจังหวะก้าวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ถูกจับตามองจากทุกฝ่ายอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางไปประเทศต่างๆ ล่วงหน้าก่อนที่น้องสาวจะเดินทางไป การขอหนังสือเดินทางคืนจากกระทรวงการต่างประเทศ หรือการโฟนอิน-วิดีโอลิงก์เข้ามาในประเทศในวาระต่างๆ

ถึงแม้ว่า บริวารใกล้ชิดของ พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ว่าจะเป็นนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ จะบอกว่า คนที่ต่อต้านการคืนพาสปอร์ตให้ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นพวกที่หมกมุ่นอยู่กับเรื่องของคนคนเดียว หรือกรณีที่ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรียุติธรรม ตอบโต้ฝ่ายค้านสภากรณีที่ต่อต้าน พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษว่า เป็นเพราะมีอคติกับคนคนเดียว หรือกรณีที่นักวิชาการบางคนที่พยายามบอกว่าฝ่ายที่ต่อต้านทักษิณยังไม่สามารถก้าวข้ามคนคนเดียวไปได้ คำพูดเหล่านี้ล้วนเป็นกับดักทางวาทกรรม ที่เบี่ยงเบนความสนใจและปิดบังวาระซ่อนเร้นที่อยู่เบื้องหลัง นั่นคือสนองความต้องการของ พ.ต.ท.ทักษิณที่จะกลับเข้ามาในประเทศโดยปราศจากความผิดและได้ทรัพย์สินมูลค่า 4.6 หมื่นล้านบาทที่ถูกยึดโดยคำสั่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองกลับคืน และยังจะมีผลพลอยได้ด้วยการกลับมามีอำนาจในฐานะนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง

หลังจากส่งน้องสาวขึ้นเป็นนายกฯ นอมินีของตัวเองได้เป็นคนที่ 3 พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ชิมลางกระบวนการให้ตัวเองพ้นผิดด้วยการให้กระทรวงยุติธรรมออกพระราชกฤษฎีกา(พ.ร.ฎ.)พระราชทานอภัยโทษ โดยการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขจากฉบับก่อนๆ เพื่อให้เขาได้รับพระราชทานอภัยโทษในคดีทุจริตการจัดซื้อที่ดินย่านถนนรัชดาภิเษก ซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษาให้จำคุกเป็นเวลา 2 ปี เมื่อปี 2551 แต่ พ.ต.ท.ทักษิณหลบหนีออกไปต่างประเทศก่อน จึงยังไม่เคยถูกจำคุก หากใช้เงื่อนไขการขอพระราชทานอภัยโทษตามที่เคยปฏิบัติมา พ.ต.ท.ทักษิณจะไม่ได้รับการพระราชทานอภัยโทษอย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตาม เมื่อข่าวรั่วออกมาจากที่ประชุม ครม.และเกิดกระแสต่อต้านขึ้นอย่างกว้างขวาง และพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่เคยล้มเขาได้เมื่อปี 2549 และล้มนอมินี “สมัคร-สมชาย” ลงได้ในปี 2551 นัดชุมนุมคัดค้านอย่างทันควัน แผนการเลี่ยงคุกด้วย พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษจึงต้องเก็บเข้าลิ้นชักไว้ก่อน

กระนั้นก็ตาม พ.ต.ท.ทักษิณ ยังพยายามทำตัวอยู่เหนือกฎหมาย ด้วยการให้กระทรวงการต่างประเทศรับรองการขอวีซ่าเข้าประเทศญี่ปุ่น การขอพาสปอร์ตธรรมดาคืน ให้เอกอัครราชทูตไปต้อนรับขณะเดินทางไปเนปาล ทั้งๆ ที่ตัวเขายังมีฐานะเป็นนักโทษหนีคดีมีหมายจับติดตัวนับสิบใบ เมื่อเจ้าพนักงานของรัฐพบเจอไม่ว่าจะอยู่ในที่ใดต้องจับกุมตัวมาดำเนินคดี

ว่ากันว่า หากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไม่ใช่นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ที่นักข่าวให้ฉายาว่า “ปึ้งเป้าเป๊ะ”แล้ว พ.ต.ท.ทักษิณคงไม่สามารถฉีกกฎระเบียบของกระทรวงการต่างประเทศให้ขาดกระจุยเป็นชิ้นๆ แบบนี้แน่

แต่นั่นก็ทำให้มีความเสี่ยงอยู่ไม่น้อย เพราะการกระทำของนายสุรพงษ์นั้น ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า ถ้าหน้าไม่ด้านจริงๆ คงทำไม่ได้แน่ และกลายเป็นช่องโหว่ให้พรรคฝ่ายค้านยื่นถอดถอนนายสุรพงษ์ออกจากตำแหน่ง รวมทั้งจะดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและอาญาตามมา เนื่องจากพฤติกรรมของนายสุรพงษ์นั้นเหมือนเป็นการจงใจละเมิดกฎหมายหลายกรรมหลายวาระ

ทั้งกรณีการออก พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ และการฉีกกฎระเบียบกระทรวงการต่างประเทศ แล้วถูกต่อต้านอย่างทันควันและทำให้บริวารของตัวเองเสี่ยงต่อการติดคุก คือบทเรียนที่ พ.ต.ท.ทักษิณได้เห็นแล้วว่า แม้จะมีอำนาจเต็มไม้เต็มมือ แต่การที่เขาจะช่วยให้ตัวเองพ้นจากความผิดด้วยการออกกฎหมายนิรโทษกรรม เพื่อหักดิบกฎหมายเอาดื้อๆ นั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่เคยคิด

จากบทเรียนดังกล่าว นับจากนี้ไป ทักษิณ ชินวัตรจึงเดินเกมให้แยบยลขึ้นกว่าเดิม โดยที่เป้าหมายการกลับเข้ามาในประเทศโดยปราศจากความผิด การได้ทรัพย์สินคืน การได้กลับมามีอำนาจอีกครั้ง ยังคงเดิม

เกมที่ พ.ต.ท.ทักษิณจะใช้คงเป็นอย่างอื่นไม่ได้ นอกจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ที่ ส.ส.พรรคเพื่อไทยรวมทั้งคนเสื้อแดงได้เคลื่อนไหวมาตลอดนั่นเอง โดยมีเป้าหมายเชิงรูปธรรมคือการยกเลิกมาตรา 309 ที่รับรองการกระทำของคณะรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 นั่นเอง

นัยของมาตรา 309 ที่ พ.ต.ท.ทักษิณต้องการลบออกไปให้เร็วที่สุด คือการรับรองการกระทำของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ(คตส.) ที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ(คมช.)ได้ตั้งขึ้นมา เพื่อทำหน้าที่คล้ายอัยการพิเศษ นำคดีความผิดต่างๆ ที่ พ.ต.ท.ทักษิณกระทำไว้ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในชั้นศาล

แม้การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะใช้เวลานานกว่าจะเห็นผล แต่นี่เป็นวิธีการที่จะปกปิดวาระซ่อนเร้นของ พ.ต.ท.ทักษิณได้ดีที่สุด โดยมีข้ออ้างในการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ว่า เป็นรัฐธรรมนูญที่มาจากการยึดอำนาจ มีบทบัญญัติที่เข้มงวดกับนักการเมืองจนเกินไป ให้อำนาจองค์กรอิสระมากเกินไป ไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เพราะให้มีวุฒิสมาชิกที่มาจากการสรรหา เป็นต้น

หากการแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จ โดยที่ไม่มีเนื้อหาตามบทบัญญัติของมาตรา 309 คงอยู่ และไม่มีมาตราไหนที่รับรองการกระทำของ คตส.เอาไว้ นั่นก็คือ “บิงโก” ของคนชื่อทักษิณ ชินวัตรนั่นเอง

ทั้งนี้ พ.ต.ท.ทักษิณมั่นใจเหลือเกินว่า หากสำนวนคดีความต่างๆ ที่ คตส.ได้ทำเอาไว้กลายเป็นโมฆะด้วยผลของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก็เป็นเรื่องยากที่คดีความเหล่านั้นได้กลับเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมอีก ไม่ว่าจะเป็นคดีที่ดินรัชดาฯ คดีหวยบนดิน คดีการปล่อยกู้เงินดอกเบี้ยต่ำให้พม่าเพื่อซื้ออุปกรณ์โทรคมนาคมของบริษัทในเครือ คดีการให้ธนาคารกรุงไทยปล่อยเงินให้พวกพ้อง เป็นต้น นั่นเพราะเขาจะยังกุมอำนาจรัฐอยู่ ไม่ว่าจะโดยผ่านน้องสาว หรือนอมินีคนอื่นๆ ก็ตาม

ทักษิณ ชินวัตร คงบวกลบคูณหารแล้วว่า การรอคอยผลของการแก้ไขรัฐธรรมนูญน่าจะคุ้มค่ามากกว่าวิธีการอื่น แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความฝ่ายต่อต้านทักษิณจะไม่รู้ทางเดินของหมากเกมนี้

เห็นได้ว่า ในระยะหลัง ท่าทีการเคลื่อนไหวเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทยและคนเสื้อแดงได้ลดความบุ่มบ่ามลง แม้ฝ่ายคนเสื้อแดงจะออกมาเร่งเร้า แต่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ก็ออกมาลดกระแสด้วยการบอกว่า อย่าเพิ่งพูดเรื่องนี้ ให้รัฐบาลทำผลงานอย่างอื่นก่อน ยังมีเวลาอีกนานที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ขณะที่กระบวนการแก้ไขนั้น จากเดิมที่เคยมีข้อเสนอให้เอาฉบับปี 2540 มาสวมเข้าไปเลย หรือไม่ก็เอาร่างของกลุ่ม นพ.เหวง โตจิราการที่เสนอไว้ตั้งแต่ปี 2551 ซึ่งพรรคเพื่อไทยที่ครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร สามารถทำได้ทันที แต่เพื่อลดแรงต่อต้าน จึงปรับเปลี่ยนยุทธวิธีมาเป็นการขอแก้ไขมาตรา 291 เพื่อให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.)ขึ้นมาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งมีเสียงคัดค้านออกมาค่อนข้างน้อย แม้พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจะคัดค้านเรื่องการตั้ง ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งจะทำให้พรรคเพื่อไทยสามารถครอบงำกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อชั่งน้ำหนักดูแล้วในขั้นตอนการตั้ง ส.ส.ร.ยังไม่น่าจะมีเสียงคัดค้านที่รุนแรงถึงขั้นออกมาชุมนุมประท้วง

ความเข้มข้นจึงมาอยู่ที่ขั้นตอนการจัดทำเนื้อหารัฐธรรมนูญ โดยเป้าหมายของฝ่ายทักษิณคือการยกเลิกมาตรา 309 และลบล้างการกระทำของ คตส.ซึ่งฝ่ายต่อต้านไม่ยอมอย่างแน่นอน ทั้งพันธมิตรฯ ที่ประกาศเป็นเงื่อนไขการชุมนุมไว้แล้ว ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ก็แสดงท่าทีชัดเจนแล้วว่าไม่เห็นด้วยเช่นกัน

ประเด็นที่ต้องจับตามากที่สุดในปี 2555 ก็คือการชิงไหวชิงพริบ เพื่อที่จะเอาหรือไม่เอามาตรา 309 ไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพราะนี่คือชนวนที่จะนำไปสู่ความรุนแรงทางการเมืองได้อีกครั้ง
กำลังโหลดความคิดเห็น