xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“เฉลิม”วืด! อภัยโทษแม้ว ดันนิรโทษกรรมแก้เกี้ยว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ทักษิณ ชินวัตร พลิกเกมเกือบไม่ทัน เมื่อ “เฉลิม อยู่บำรุง” มุบมิบเสนอพระราชกฤษฎีกา(พ.ร.ฎ.)พระราชทานอภัยโทษ ในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 7 รอบ โดยหวังจะให้ อดีตนายกฯ นักโทษหนีคดีที่ดินรัชดาได้กลับประเทศในปลายปี 2554 ตามที่ ร.ต.อ.เฉลิมเคยหาเสียงไว้ ซึ่งทำให้เกิดกระแสต่อต้านไปทั่วประเทศ

กระแสต่อต้านแผ่ขยายอย่างรวดเร็ว เมื่อการเสนอ พ.ร.ฎ.ดังกล่าว เข้าที่ประชุม ครม.เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2554 เป็นไปอย่างมีพิรุธ โดยเสนอให้เป็นวาระจรและเป็นการประชุมลับ ขณะที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ไม่ได้เข้าประชุม ด้วยข้ออ้างว่าเดินทางกลับจากจังหวัดสิงห์บุรีไม่ทัน เพราะเฮลิคอปเตอร์ที่ใช้เดินทางไปจังหวัดสิงห์บุรี ไม่มีระบบเรดาร์เดินทางกลับในช่วงกลางคืน การประชุม ครม.ในวันรุ่งขึ้นจึงให้ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ เป็นประธานในที่ประชุมแทน

หลังจากการประชุม ครม.วันที่ 15 พฤศจิกายนแล้ว รัฐบาลพยายามนิ่งเฉย ไม่ยอมตอบคำถามใดๆ ต่อสื่อมวลชน นอกจากอ้างว่าการเสนอร่าง พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษเป็นเรื่องลับ ขณะที่ตัวนายกฯ ก็อ้างว่าไม่ได้ร่วมประชุม ยิ่งเป็นการเพิ่มความสงสัยว่าการออก พ.ร.ฎ.ครั้งนี้จะมีการหมกเม็ดเพื่อช่วยทักษิณ ชินวัตร อย่างแน่นอน และเสียงต่อต้านก็ดังกระหึ่มขึ้นทั้งประเทศ ทั้งจากประชาชนกลุ่มต่างๆ นักวิชาการ นักกฎหมาย กลุ่มคนเสื้อหลากสี

ที่สำคัญคือ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่เคยขับไล่รัฐบาลทักษิณ ตลอดจนนอมินีทักษิณเป็นผลสำเร็จมาแล้วถึง 3 ครั้ง ได้นัดรวมตัวชุมนุมคัดค้านร่าง พ.ร.ฎ.ดังกล่าว รวมทั้งจะใช้ทุกช่องทางตามกฎหมายในการยับยั้งร่าง พ.ร.ฎ.นี้ให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นการยื่นหนังสือคัดค้านที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ยื่นคำร้องถึงผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาให้ส่งร่าง พ.ร.ฎ.ดังกล่าวให้ตุลาการรัฐธรรมนูญวินิจฉัย และเสนอให้คณะองคมนตรียับยั้งการทูลเกล้าฯ ร่าง พ.ร.ฎ.ฉบับนี้ จนกว่าจะประมวลข้อขัดแย้งเรื่องข้อกฎหมายให้ได้ข้อยุติก่อน รวมทั้งจะยื่นคำร้องต่อ ป.ป.ช.ให้สอบสวนเอาผิด ครม.ทั้งคณะด้วย

ขณะที่สำนักวิจัยนิด้าโพล เปิดเผยการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 20 พ.ย.ระบุชัดเจนว่า มีผู้เห็นด้วยกับการพระราชทานอภัยโทษให้ทักษิณ ชินวัตร เพียงร้อยละ 30 ขณะที่ผู้คัดค้านมีถึงร้อยละ 46 และอีกร้อยละ 23 ยังไม่แน่ใจ

เมื่อประเมินกระแสสังคมหลังจากมีการเสนอร่าง พ.ร.ฎ.ดังกล่าวเข้า ครม.เป็นเวลา 5 วันแล้ว เห็นว่าเสียงคัดค้านดังขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทักษิณ ชินวัตร จึงตัดสินใจถอย เนื่องจากไม่ต้องการให้รัฐบาลของน้องสาวที่เป็นโคลนนิ่งของตนเอง ต้องมีอันเป็นไปก่อนเวลาอันควร

เช้าวันที่ 20 พฤศจิกายน ทักษิณ ชินวัตร จึงเขียนจดหมายเปิดผนึกส่งสัญญาณว่า การออก พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษครั้งนี้จะไม่ทำเพื่อตัวเขา และปลอบใจบรรดาสาวกเสื้อแดงว่าไม่ต้องผิดหวัง ตัวเขาเองพร้อมจะเสียสละความสุขส่วนตัวแม้ไม่ได้รับความเป็นธรรมมา 5 ปีแล้ว

ตามด้วยการที่ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ออกมาแถลงข่าวยืนยันว่าเนื้อหาในร่าง พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษครั้งนี้จะยังคงเนื้อหาตามที่มีการร่างไว้ในสมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งจะยังคงเงื่อนไขการไม่พระราชทานอภัย

โทษให้ผู้ต้องขังคดียาเสพติดและคดีทุจริต รวมทั้งจะพระราชทานอภัย

โทษให้ผู้ที่อยู่ในที่คุมขังแล้วเท่านั้น

กระแสต่อต้านจึงผ่อนลงมา กลุ่มต่างๆ จากเดิมที่เคยเคลื่อนไหวเตรียมการชุมนุมขับไล่และใช้ช่องทางตามกฎหมายเอาผิดรัฐบาล เปลี่ยนมาเป็นการจับตามองว่ารัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะเดินหน้าช่วยให้พี่ชายให้พ้นโทษด้วยวิธีการอื่นๆ อีกหรือไม่

เมื่อกระแสต่อต้านรัฐบาลในประเด็นการออก พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษซาลง แทนที่คนในรัฐบาลจะทำให้ประชาชนลืมเรื่องนี้ไปเสียโดยเร็ว แต่คนอย่าง ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง กลับออกมาเยาะเย้ยฝ่ายต่อต้านว่าหลงกลการสับขาหลอก เพราะเป้าหมายที่แท้จริงคือการออกกฎหมายนิรโทษกรรมเพื่อลบล้างความผิดของทักษิณ ชินวัตรทั้งหมด ซึ่งนอกจากคดีที่ดินรัชดาที่ศาลตัดสินจำคุก 2 ปีไปแล้ว ยังมีคดีเกี่ยวการทุจริตขณะดำรงตำแหน่งนายกฯ ที่ศาลรับฟ้องไว้แล้ว 4 คดี ซึ่งก็สอดคล้องกับรองโฆษกรัฐบาลที่มาจากกลุ่มคนเสื้อแดงที่ออกมาเยาะเย้ยฝ่ายต่อต้านว่าจั่วลม แต่ไม่พูดว่าว่า กลุ่มคนเสื้อแดงที่เตรียมออกมาชนกับกลุ่มต่อต้านนั้นก็จั่วลมเช่นกัน และที่สำคัญคือแผนนำทักษิณ ชินวัตร กลับมาภายในปลายปีนี้นั่นเองที่จั่วลมจนหัวทิ่ม

การที่ ร.ต.อ.เฉลิม ประกาศจะเดินหน้าออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้ทักษิณ ชินวัตร ทั้งๆ ที่ได้เห็นกระแสต่อต้านการออก พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษไปแล้วนั้น ได้ใช้ข้ออ้างว่าพรรคเพื่อไทยเคยใช้เรื่องนี้เป็นนโยบายหาเสียง และได้เคยปราศรัยว่าหากใครเห็นด้วยให้เลือกพรรคเพื่อไทย ถ้าใครไม่เห็นด้วยก็ให้เลือกพรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทย ซึ่งพรรคเพื่อไทยก็ชนะการเลือกตั้ง หากใครจะออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านก็เป็นเรื่องปกติ แต่หากกระบวนการนี้ผ่านการพิจารณาจากทางรัฐสภาถือเป็นกระบวนการที่ชอบธรรมแล้ว

อย่างไรก็ตาม การอ้างว่า เคยใช้นโยบายนี้ในการหาเสียงตอนเลือกตั้ง เมื่อประชาชนเลือกมาแล้วจึงต้องดำเนินการต่อให้สำเร็จนั้น เป็นเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้น เพราะนโยบายที่พรรคเพื่อไทยใช้ในการหาเสียงเลือกตั้งเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 นั้น มีหลายด้าน และนโยบายที่ถูกชูขึ้นมา ส่วนใหญ่เป็นนโยบายประชานิยม อาทิ ค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท เงินเดือนคนจบปริญญาตรีขั้นต่ำ 15,000 บาท รับจำนำข้าวตันละ 15,000 บาท ลดภาษีการซื้อรถยนต์คันแรก-บ้านหลังแรก แจกแท็บเล็ตฟรีให้นักเรียนชั้นประถม เป็นต้น

นอกจากนี้ ผลสำรวจของนิด้าโพลที่เปิดเผยออกมาเมื่อวันที่ 20 พ.ย.ก็สะท้อนชัดเจนว่า คนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยการการพระราชทานอภัยโทษให้ทักษิณ นั่นแสดงว่าประชาชนไม่ได้เลือกพรรคเพื่อไทยเพราะนโยบายนี้อย่างแน่นอน

ขณะที่การนิรโทษกรรมนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในฐานะผู้ท้าชิงตำแหน่งนายกฯ ในช่วงการหาเสียง ได้พยายามพูดแบบหลบๆ ว่า พรรคเพื่อไทยจะไม่ทำเพื่อคนใดคนหนึ่งอย่างแน่นอน แต่จะเน้นการเข้ามาแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชนมากกว่า นั่นแสดงว่า พรรคเพื่อไทยไม่ได้ต้องการชูประเด็นนี้ในการหาเสียงเท่าใดนัก

การให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวของ ร.ต.อ.เฉลิม เมื่อวันที่ 24 พฤษศจิกายน ก็ยอมรับว่า เรื่องนี้ยังไม่ได้มีการพูดคุยกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์แต่อย่างใด โดยอ้างว่า ปล่อยให้นายกฯ แก้ปัญหาเศรษฐกิจไปดีกว่า อย่าดึงมาเกี่ยวข้อง

เมื่อพิจารณาถึงประเด็นที่ว่า การออกกฎหมายนิรโทษกรรมเพื่อฟอกผิดให้ทักษิณ ชินวัตรนั้นมีดีกรีของการทำลายหลักนิติรัฐที่มากกว่าการขอพระราชทานอภัยโทษหลายเท่านัก และกระแสต่อต้านการออกกฎหมายนิรโทษกรรมจะรุนแรงและหนักหน่วงกว่าการขอพระราชทานอภัยโทษอย่างแน่นอน

กระแสต่อต้านนั้น นอกจากพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่ประกาศไว้ตั้งแต่เมื่อครั้งรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์เข้ามารับตำแหน่งวันแรก ว่าจะออกมาชุมนุมทันทีหากมีความพยายามนิรโทษกรรมให้ทักษิณ ชินวัตรแล้ว ในซีกนักการเมืองฝ่ายค้านเอง หากยึดตามคำให้สัมภาษณ์ของนายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อวันที่ 24 พ.ย. ที่บอกว่าการออกกฎหมายนิรโทษกรรมคือการทำลายนิติรัฐ อย่าเอา 15 ล้านเสียงมาอ้าง และคำให้สัมภาษณ์ของนายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช ที่เป็นเสมือนโฆษกอีกคนหนึ่งของพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อวันที่ 22 พ.ย.ที่บอกว่าพรรคประชาธิปัตย์พร้อมต่อสู้ตามกฎหมาย และไม่เอาด้วยกับการออกกฎหมายนิรโทษกรรมแล้ว นั่นแสดงว่าพรรคประชาธิปัตย์ก็จะร่วมต่อการกฎหมายนิรโทษกรรมด้วย

แค่การออก พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ ก็ยังทำไม่สำเร็จแล้วการออกกฎหมายนิรโทษกรรมเพื่อให้ทักษิณ ชินวัตร พ้นผิดทุกคดี ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากกว่า จะสำเร็จได้อย่างไร

การดันทุรังจะเสนอร่างกฎหมายนิรโทษกรรมให้ทักษิณ ชินวัตร ด้วยข้ออ้างว่า เพราะเคยใช้เป็นนโยบายหาเสียงนั้น จึงเป็นเพียงการแก้เกี้ยว บรรเทาอาการเสียหน้า ของ ร.ต.อ.เฉลิม หลังจากการเสนอร่าง พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษไม่สำเร็จ และเป็นการส่งสัญญาณไปถึงนายใหญ่ที่ดูไบว่า“กำลังพยายามอยู่”เท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น