xs
xsm
sm
md
lg

"แม้ว-ปู"ถอย! พรฏ.อภัยโทษใช้ร่างเดิม พธม.ปรับแผนงดชุมนุม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการรายวัน-นายใหญ่เขียนจดหมายถอย! อ้างขอสละความสุขส่วนตัว สั่ง “ประชา” แถลงหยุด พ.ร.ฏ.อภัยโทษ ฉบับ “เอื้อนักโทษหนีคดี” แถลงอ้างใช้เนื้อหาเดียว กับยุค ปชป. ไขสือ “ทักษิณ” สั่ง อ้างออกมาแถลงช้า เล่นลิ้น! หากแม้วได้อภัยโทษ “จะไม่ขออยู่” ส่วนพันธมิตรฯ ปรับแผนงดชุมนุม หันจัดกิจกรรมสร้างสรรค์บ้านเจ้าพระยา โพลชี้คนไทยค้านอภัยโทษแม้ว

เมื่อเวลา 17.40 น. วานนี้ (20 พ.ย.) นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เปิดเผยผ่านรายการ “ชั่วโมงข่าวสุดสัปดาห์”ทางเอเอสทีวี ว่า ตามที่ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรมได้ประกาศแล้วว่าจะใช้พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ ตามที่รัฐบาลประชาธิปัตย์ได้ทำมาแล้วในปี 2553 ทุกประการ ซึ่งยังคงเงื่อนไขว่าผู้ที่ต้องโทษด้วยคดียาเสพติดและคอรร์รัปชั่นจะไม่ได้รับพระราชทานอภัยโทษ เท่ากับว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จะได้ไม่ได้รับประโยชน์จากการพระราชทานอภัยโทษครั้งนี้ ดังนั้นแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเห็นว่าเมื่อรัฐบาลเปลี่ยนท่าที และถอยจากประเด็นนี้แล้ว จึงหมดเงื่อนไขที่จะเดินทางไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาในวันจันทร์ที่ 21 พ.ย54 นี้ ดังนั้นจึงขอประกาศยุติการชุมนุมตามที่นัดหมายแต่เดิม แต่เปลี่ยนเป็นกิจกรรมย่อยพบปะสังสรร จัดเวทีกลางแจ้งที่บ้านเจ้าพระยา วันจันทร์ที่ 21 พ.ย. 54 เวลา 10.00 น.-18.00 น.

“ขอขอบคุณพี่น้องพันธมิตรฯ ที่เตรียมจะเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ซึ่งท่าทีการเคลื่อนไหวของพี่น้องพันธมิตรฯ ครั้งนี้ที่ทำให้เกิดแรงกระเพื่อม ทำให้รัฐบาลยอมถอย และ พ.ต.ท.ทักษิณ ต้องรีบเขียนจดหมายเปิดผนึกเมื่อเช้านี้ และต้องขออภัยพี่น้องที่ไม่ได้มาชุมนุมตามความตั้งใจ แต่เราได้เตรียมการจัดกิจกรรมสังสรรไว้ต้อนรับแล้ว”

รายงานข่าวแจ้งว่า ก่อนหน้านั้น นายปานเทพ โพตส์ในเฟซบุ๊คว่า เชื่อ “'ทักษิณ”' ร่อนจดหมาย เป็นการส่งสัญญาณถอย เพราะเห็นแล้วกระแสคัดค้าน พ.ร.ฎ.อภัยโทษยังแรง แต่ยังเชื่อใจไม่ได้

**"ประชา" แถลงใช้เนื้อหาเดียวกับ ปชป.
 

ช่วงบ่ายวันเดียวกัน พล.ต.อ.ประชา แถลงว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ดำเนินการในทางลับ การเสนอร่างพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษทุกปีที่ผ่านมาก็ดำเนินการในทางลับมาโดยตลอด และดำเนินการเกือบทุกปีในช่วงโอกาสมหามงคลวันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวามหาราช แต่เนื่องจากมีการวิพากษ์วิจารณ์และทำให้ประชาชนเกิดความสับสนในเรื่องนี้ ในฐานะที่เป็นคนเสนอร่างฯ จึงจำเป็นต้องทำความเข้าใจ

ในเรื่องนี้นั้นนายพีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค อดีตรมว.ยุติธรรม ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาคณะหนึ่ง โดยคำสั่งของกระทรวงยุติธรรมเมื่อวันที่ 9 มี.ค. 2554 คำสั่งที่ 67/2554 ว่าด้วยเรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาการพระราชทานอภัยโทษ มีคณะบุคคลได้รับการแต่งตั้งขึ้นมา 20 คน ประกอบด้วยปลัดกระทรวงยุติธรรมเป็นประธาน รองปลัดกระทรวงยุติธรรมหัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านพัฒนาพฤตินิสัย อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เป็นรองประธาน และมีกรรมการจากหน่วยงานต่างๆ เช่น ราชเลขาธิการ หรือผู้แทน หรือเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม หรือผู้แทน อธิบดีกรมคุมประพฤติ ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด เป็นต้น

จากนั้นคณะกรรมการชุดดังกล่าวได้เสนอหลักเกณฑ์การพระราชทานอภัยโทษต่อนายพีระพันธ์ ซึ่งได้มีความเห็นชอบในหลักการ โดยมีเนื้อหาสำคัญ 2 ประการ คือ1. ให้ขอพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัวให้แก่นักโทษเด็ดขาดซึ่งมีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป โดยไม่มีเงื่อนไข เว้นคดีต้องโทษประหารชีวิตและคดีเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ 2. ขอพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัวให้แก่นักโทษเด็ดขาดที่มีอายุตั้งแต่ 60-69 ปี โดยยกเลิกหรือผ่อนคลายเงื่อนไขและข้อจำกัดต่างๆ เท่าที่จะกระทำได้ เว้นแต่คดีซึ่งต้องโทษประหารชีวิตความผิดร้ายแรง และมีกำหนดโทษสูง และคดีอาเสพติดให้โทษ ซึ่งเดิมการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาพ.ศ. 2553 เงื่อนไขเหล่านี้ถูกกำหนดไว้ในบัญชีความผิดท้ายพรฎ.ก็ยังมีอยู่ เงื่อนไขนี้นายพีระพันธ์เห็นชอบและตนก็ได้เห็นชอบตามนั้น ทั้งนี้ร่างฯของนายพีระพันธ์เนื้อหาสาระที่ได้เห็นชอบไปนั้น เราไม่มีการหักล้างอะไร เป็นเพียงถ้อยคำเท่านั้นที่แตกต่างไปบ้าง

พล.ต.อ.ประชา กล่าวว่า จากนั้นเมื่อตนเข้ารับหน้าที่คณะกรรมการชุดดังกล่าวก็ได้เสนอเรื่องมาตนอีกครั้ง ตามที่นายพีระพันธ์เห็นชอบไปแล้วนั้น ซึ่งตนได้เซ็นต์รับทราบ และเห็นควรดำเนินการต่อไป เมื่อ 16 ก.ย.ที่ผ่านมา เรื่องจึงกลับไปคณะกรรมการและร่างฯขึ้นมาและเสนอตนอีกครั้ง ซึ่งตนได้แทงเรื่องไปว่ามอบให้กรมราชทัณฑ์นำร่างนี้ไปหารือคณะกรรมการกฤษฎีกาให้เป็นไปตามกฎหมาย ป.วิอาญา แล้วนำกลับเสนอตนอีกครั้งว่ามีการหารือและกฤษฎีมีความเห็น ซึ่งตนเห็นชอบ และเสนอคณะรัฐมนตรีเมื่อ 15 พ.ย.ที่ผ่านมา ร่างนั้นตนขอเรียนด้วยความสัตย์จริงว่าเป็นเรื่องลับ เพราะอยู่ขั้นตอนดำเนินการ คือส่งให้สำนักงานกฤษฎีกาดำเนินงาน เมื่อพิจารณาแล้วก็จะนำเข้าคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง

“มีการถามต่อมาว่าร่างฯนี้เอื้อประโยชน์ให้คนใดคนหนึ่งหรือไม่ ตอบด้วยความสัตย์จริงว่าไม่มีแล้วคนต้องโทษการทุจริต ตามกฎหมายปปช.ก็ยังอยู่ในบัญชีแนบท้าย ผู้ต้องหาเกี่ยวกับยาเสพติดก็ยังอยู่ ไม่ได้ขาดหายไปไหน การวิพากษ์วิจารณ์อาจทำให้ประชาชนสับสน จึงต้องเรียนให้ชัดเจนและไม่น่าห่วงอะไร เพราะเป็นร่างฯ ที่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีส่วนใดขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาแต่อย่างใด และที่ห่วงทำประโยชน์คนใดคนหนึ่งก็ยืนยันว่าไม่มี” พล.ต.อ.ประชากล่าว

**ไขสือ“ทักษิณ” สั่งถอย อ้างออกมาแถลงช้า
 

ผู้สื่อข่าวถามว่าพรรคฝ่ายค้านจะนำเรื่องดังกล่าวมาอภิปรายด้วย ได้เตรียมความพร้อมแล้วหรือไม่ พล.ต.อ.ประชา กล่าวว่า ตนตอบได้ แต่หากเรื่องใดเป็นเรื่องลับ คงพูดไม่ได้ เพราะเป็นชั้นความลับของเอกสารของคณะรัฐมนตรี คงตอบได้เพื่อไม่ให้สับสน แต่ในเนื้อหาที่ยื่นมาไม่มีเรื่องนี้ แต่ดีใจที่จะได้ชี้แจง และมีหลายเรื่องที่ต้องอภิปราย ว่าความจริงคืออะไร เมื่อถามว่าโทษทุจริตมีการตัดออกหรือไม่ คนที่ไม่ได้รับโทษหรือคนที่หนีคดีมีโอกาสได้รับประโยชน์จากร่างพรฎ.นี้หรือไม่ พล.ต.อ.ประชา กล่าวว่า ยืนยันว่าไม่มีครับ เมื่อถามต่อว่ายืนยันว่าต้องเป็นนักโทษที่ติดคุกมาก่อน พล.ต.อ.ประชา กล่าวว่า ถูกต้องครับ

เมื่อถามว่าทำไมถึงเลือกที่จะแถลงภายหลังที่พ.ต.ท.ทักษิณ มีจดหมาย ออกมา พล.ต.อ.ประชา กล่าวว่า ตนไม่ทราบว่าใครมีหนังสืออะไร แต่ในฐานะที่รับผิดชอบ มีการวิพากษ์วิจารณ์ จึงตัดสินใจมาให้ข้อมูล เมื่อถามว่าตอบให้ชัดได้เลยหรือไม่ว่าพ.ต.ท.ทักษิณ จะไม่ได้รับประโยชน์จากพรฎ.นี้ พล.ต.อ.ประชา หยุดคิดแล้วย้อนถามว่า จะให้ตอบเลยเหรอครับ ถูกต้องครับไม่ได้ประโยชน์

เมื่อถามว่าการที่ออกมาแถลงความชัดเจนเป็นเพราะกระแสการต่อต้านรุนแรงขึ้น และส่อจะทำให้สังคมเกิดความขัดแย้งอีกครั้งใช่หรือไม่ พล.ต.อ.ประชา กล่าวว่า ที่จริงแล้วเรายุ่งกับน้ำมาพอสมควร เดือดร้อนกันมหาศาล เราก็มาเจอปัญหาอย่างนี้อีก เรื่องความลับราชการก็คงทราบดีถึงระเบียบปฏิบัติ มีข้อห้ามกำกับ แต่ถ้าจะเกิดผลเสียหายต่อส่วนรวมตนในฐานะคนรับผิดชอบ ตนก็ออกมาชี้แจง เมื่อถามว่าคณะรัฐมนตรีสัปดาห์นี้จะมีการพิจารณาต่อหรือไม่ พล.ต.อ.ประชา กล่าวว่า ต้องดูที่กฤษฎีกา ยืนยันร่างฯของตนและนายพีระพันธ์ไม่ได้ขัดแย้งกัน

**หากแม้วได้อภัยโทษ “จะไม่ขออยู่”
 

เมื่อถามว่านายพีระพันธ์ระบุว่าร่างฯที่คณะกรรมการเสนอมาและเข้าคณะรัฐมนตรีขัดแย้งกัน พล.ต.อ.ประชา กล่าวว่า มันก็น่าจะไม่จริง เมื่อถามว่าแต่เดิมการพิจารณาร่างพรฎ.แต่เดิมไม่มีการประชุมลับทำไมครั้งนี้ถึงประชุมลับ พล.ต.อ.ประชา กล่าวว่า พระราชกฤษฎีต้องเป็นเรื่องลับ ดูกฎหมายได้

เมื่อถามว่าหลังออกมาให้ความชัดเจนความขัดแย้งจะคลี่คลายได้หรือไม่ เพราะคนเสื้อแดงเตรียมที่จะระดมคนมาชนกับกลุ่มที่คัดค้านเรื่องนี้ พล.ต.อ.ประชา กล่าวว่า ไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์อย่างนี้ จึงต้องรีบมาชี้แจง อยากให้บ้านเมืองเดินได้ บอบช้ำมามากแล้ว เรื่องน้ำก็สาหัส เรื่องในอดีตก็หนักหนา แล้วจะมามีเรื่องนี้อีกหรือ

“ผมในฐานะผู้รับผิดชอบก็เรียนชี้แจง ถ้าผมพอมีเกียรติอยู่บ้าง ก็คงจะได้รับความเชื่อถือบ้างในข้อมูลนี้”พล.ต.อ.ประชา กล่าว และว่า การมาชี้แจงไม่ได้ช้าเกินไป เพระเรื่องนี้ยังเป็นเรื่องลับอยู่

เมื่อถามว่าเหตุใดก่อนหน้านี้ไม่มาชี้แจงว่าทักษิณ ไม่ได้ประโยชน์จากพรฎ.นี้ พล.ต.อ.ประชา กล่าวว่า มันพูดไม้ได้ เป็นเรื่องความลับ เมื่อถามว่าหากสุดท้ายทักษิณ ได้รับการอภัยโทษ จะทำอย่างไร พล.ต.อ.ประชา กล่าวว่า “ผมก็ไม่อยู่” พร้อมกับหัวเราะ

**ปูด"นายใหญ่" สั่ง“ประชา”ถอย
 

ผู้สื่อข่าวรายงานจากพรรคเพื่อไทยว่า หลังจาดเกิดกระแสต่อต้านจากสังคมเป็นวงกว้าง ทั้งยังเปิดโอกาสให้ฝ่ายตรงข้ามที่จ้องถล่มออกมาเคลื่อนไหวอีกรอบ เมื่อเห็นสถานการณ์ไม่สู้ดีอาจเกิดวิกฤติรอบใหม่ส่งผลร้ายต่อรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณจึงสั่งให้ตัดไฟแต่ต้นลม สั่งรัฐบาลแก้ไขใหม่ไม่ให้กระทำการใดๆ ตัดหรือเพิ่มเนื้อหาเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อพ.ต.ท.ทักษิณ รวมถึงกรณขิงจดหมายส่งสัญญาณถอย และที่สั่งการให้พล.ต.อ.ประชาออกมาแถลงข่าวปฏิเสธ

สำหรับจดหมายที่พ.ต.ท.ทักษิณเขียนนั้น มีสัญญาณถอยแต่เนื้อหายังคลุมเครือ เนื่องจากพ.ต.ท.ทักษิณพูดชัดไม่ได้ เพราะถ้าทำเช่นนั้นก็เท่ากับบอกว่าพ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษมีจุดมุ่งหมายทำเพื่อประโยชน์ตนเอง นอกจากนั้นเรื่องนี้รัฐบาลยังระบุว่าเป็นความลับ หากพูดไปจะเท่ากับแทรกแซงรัฐบาล

**ทักษิณ” ร่อนจม.สละความสุขส่วนตัว
 

ช่วงเช้าของวันที่ 20 พ.ย. พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ส่งจดหมายที่เขียนด้วยลายมือตนเองจากนครดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ถึงพี่น้องประชาชนคนไทย โดยมอบหมายให้นายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษากฎหมายส่วนตัว และเจ้าหน้าที่พรรคเพื่อไทย เผยแพร่แก่สื่อมวลชน ซึ่งเนื้อหาในจดหมายระบุว่า เรียนพี่น้องชาวไทยที่เคารพรัก

เนื่องด้วยขณะนี้บ้านเมืองอยู่ในภาวะวิกฤติจากปัญหาน้ำท่วม ผมเป็นห่วง ต้องการให้ประเทศ และพี่น้องประชาชนผ่านพ้นวิกฤติโดยเร็ว ซึ่งต้องการความสามัคคีปรองดองภายในชาติ จึงจะร่วมกันฟันฝ่าภัยธรรมชาติครั้งนี้ได้ ผมขอสนับสนุนทุกมาตรการที่จะนำไปสู่ความปรองดองในชาติ ไม่อยากเห็นความพยายามใดๆ ที่จะทำให้บรรยากาศนี้เสียหายและผมพร้อมที่จะเสียสละความสุขส่วนตัว ทั้งๆที่ผมไม่ได้รับความเป็นธรรมมากกว่า 5 ปีแล้ว แต่เพื่อพี่น้องประชาชนผมจะอดทน

จากการเสนอพ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ ประจำปี ซึ่งปีนี้เป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมายุครบ 84 พรรษา จึงมีข่าวว่าอาจจะมีผมรวมอยู่ด้วย ผมมั่นใจในหลักการที่ว่ารัฐบาลจะไม่ทำการใดๆ ที่ให้ประโยชน์แก่ผม หรือบุคคลหนึ่งบุคคลใดเป็นการเฉพาะ ยิ่งไปกว่านั้นการกระทำใดๆในช่วงนี้ ต้องเป็นไปเพื่อนำประเทศสู่ความปรองดอง และฝ่าฟันวิกฤติจากภัยธรรมชาติน้ำท่วมใหญ่เท่านั้น

อีกทั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงพระประชวรอยู่ เราต้องไม่ทำให้พระองค์ทรงหนักพระราชหฤทัยเป็นอันขาด และผมก็มั่นใจว่าท่านนายกฯของเรามีแนวคิดและความตั้งใจเช่นเดียวกับผม

สำหรับพี่น้องที่สนับสนุนผม ห่วงใยผม ก็ขออย่าได้ผิดหวังเพราะเมื่อ “แสงแห่งธรรม” ปรากฎ ทุกอย่างจะจบเอง เพราะบ้านเมืองจะอยู่ในภาวะขัดแย้งอย่างนี้ตลอดไปไม่ได้ ท้ายนี้ผมขอเรียกร้องทุกฝ่ายที่รักชาติบ้านเมืองจริง ต้องรู้จักคำว่า “FORGIVE AND FORGET” คือรู้จักให้อภัยซึ่งกันและกัน ลืมเรื่องเก่าๆ เข้าสู่มิติใหม่ของวันพรุ่งนี้ เพื่อบ้านเมืองและลูกหลานเรา

**มาร์คเชื่อแม้วถอยเป็นเรื่องดี
 

นายอภิสิทธิ์ เวชชาวะ ผู้นำฝ่ายค้าน กล่าวว่า ถ้าคุณทักษิณจะแสดงความเห็นว่ารัฐบาลไม่ควรทำ แล้วรัฐบาลประกาศว่าจะไม่ทำก็เป็นเรื่องที่ดี เพราะกำลังเป็นปมที่เกิดความเคลื่อนไหวทางการเมืองเสี่ยงต่อการนำไปสู่ความขัดแย้ง ความรุนแรงที่จะเป็นปัญหาของรัฐบาลเองในการแก้ปัญหาบ้านเมือง ถ้าคุณทักษิณจะพูดคุยกับรัฐบาลว่าไม่ใช่แนวทางที่ควรทำและรัฐบลประกาศว่าจะไม่ทำก็ดี

ผู้สื่อข่าวถามว่า เมื่อพ.ต.ท.ทักษิณส่งสัญญาณเช่นนี้คิดว่ารัฐบาลจะถอยในเรื่องการออกรพะราชกฤษฎีกาหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า รัฐบาลต้องฟังประชาชนควบคู่ไปกับถ้าอยากจะฟังพ.ต.ท.ทักษิณด้วยก็ไม่เป็นไร ที่สำคัญคือนายกรัฐมนตรีเดินทางกลับจากอาเซียนแล้วต้องรีบประกาศว่าไม่ทำแล้วเพื่อให้สังคมเกิดความสบายใจ จะได้เดินหน้าในเรื่องอื่นที่มีความสำคัญมากกว่า ส่วนแนวคิดที่รัฐบาลจะแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ต้องว่ากันต่อไปว่าทำเพื่ออะไร ตนอยากย้ำว่าถ้าทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ของส่วนรวมก็จะไม่มีปัญหา แต่ถ้าทำเพื่อมุ่งตอบโจทย์คน ๆ เดียวฝืนหลักกฎหมายหลายอย่างก็จะเป็นปัญหา หลักก็มีง่าย ๆ เพียงเท่านี้

**ปชป.ฉะ“แม้ว” ตีสองหน้า
 

นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯเงา กล่าวถึงจดหมายของพ.ต.ท.ทักษิณ ว่า เป็นพฤติกรรมตีสองหน้า ลิ่วล้อ เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ว่าเรื่องดังกล่าวพ.ต.ท.ทักษิณจะไม่ได้รับรู้มาก่อน และเป็นกระบวนการที่ผ่านคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งได้มีการเตรียมการมาเป็นอย่างดี แต่ตัวนายกรัฐมนตรีที่หลีกเลี่ยงการเข้าประชุมครม. เพราะทุกเรื่องที่ผ่าน มาพ.ต.ท.ทักษิณเป็นผู้บงการอยู่เบื้องหลังเรื่องนี้มาโดยตลอด

“เรื่องนี้เป็นการโยนหินถามทาง เพื่อจะฉวยโอกาสช่วงที่มีกระบวนการต่อต้านขึ้นมาจำนวนมาก ก็เลยแสดงอาการเข้าเกียร์ถอย เพื่อที่จะหนีการเผชิญหน้า พฤติกรรมของพ.ต.ท.ทักษิณไม่ต่างอะไรกับนักย่องเบา ที่จะเข้าไปขโมยทรัพย์สิน เมื่อเจ้าของรู้สึกตัวตื่นขึ้นมา ก็โยนของที่ขโมยทิ้งไป เพื่อจะให้ตัวเองพ้นจากความผิด ดังนั้นเรื่องนี้เชื่อว่าพ.ต.ท.ทักษิณเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง และทำเพื่อตัวเองทั้งหมด

**คนไทยทุกภาคค้านอภัยโทษแม้ว
 

ศูนย์สำรวจความคิดเห็นของประชาชน สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้าโพล) เปิดเผยผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง“การแก้ไขพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษโดยรัฐบาลยิ่งลักษณ์” ร จำนวน 1,273 ตัวอย่าง พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 44.62เชื่อว่าเจตนาที่แท้จริงเพื่อให้พ.ต.ท.ทักษิณ พ้นโทษและกลับเข้าประเทศ ทั้งนี้ ส่วนใหญ่ร้อยละ 52.68 ไม่เห็นด้วยกับ พรฎ. อภัยโทษ ฉบับนี้ ขณะที่ร้อยละ 31.22 เห็นด้วย และร้อยละ 16.10 ไม่แน่ใจ

ขณะที่ภาคใต้ คัดค้านมากที่สุดร้อยละ 74.85 รองมาคือ กทม.และปริมณฑล 52.68 ภาคเหนือ ร้อยละ 43.57 ภาคกลาง ร้อยละ 40.89 ตามลำดับมีเพียงแต่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเท่านั้น ที่เห็นด้วยกับการแก้ไขพ.ร.ฎ.อภัยโทษ คิดเป็นร้อยละ 38.05

นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง ทัศนคติอันตรายว่าด้วยการยอมรับรัฐบาลทุจริตคอร์รัปชั่นกับความกังวลของสาธารณชนต่อเสถียรภาพของรัฐบาล สำรวจจากประชาชนใน 17 จังหวัด จำนวน 2,176 ครัวเรือน ต่อกรณีร่างพระกฤษฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษพบว่าประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการยื่นขออภัยโทษให้กับนักโทษในเรือนจำที่ประพฤติตนดีจะได้มีโอกาสรับอิสรภาพ.
กำลังโหลดความคิดเห็น