รัฐมนตรียุติธรรม แจง พ.ร.ฎ.อภัยโทษ ใช้ของเก่ายุค ปชป.ทำไว้เหมือนเดิม ทุจริต-ยาเสพติด-หนีคุก ไม้่ได้รับประโยชน์ ทำไขสือ“ทักษิณ” สั่งถอย อ้างออกมาแถลงช้า เพราะเป็นเรื่องลับ ซ้ำยังติดน้ำท่วม แต่แย้มหากได้พระราชทานอภัยโทษจริงตนก็ไม่อยู่
เมื่อเวลา 15.30 น. วันที่ 20 พ.ย. พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม แถลงถึงการออกร่างพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ ที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่หลบหนีคดีอยู่ต่างประเทศว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ดำเนินการในทางลับ การเสนอร่างพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษทุกปีที่ผ่านมาก็ดำเนินการในทางลับมาโดยตลอด และดำเนินการเกือบทุกปีในช่วงโอกาสมหามงคลวันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวามหาราช แต่เนื่องจากมีการวิพากษ์วิจารณ์และทำให้ประชาชนเกิดความสับสนในเรื่องนี้ ในฐานะที่เป็นคนเสนอร่างฯ จึงจำเป็นต้องทำความเข้าใจ
นายประชากล่าวต่อว่า ในเรื่องนี้นั้นนายพีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในรัฐบาลที่แล้ว ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาคณะหนึ่ง โดยคำสั่งของกระทรวงยุติธรรมเมื่อวันที่ 9 มี.ค. 2554 คำสั่งที่ 67/2554 ว่าด้วยเรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาการพระราชทานอภัยโทษ มีคณะบุคคลได้รับการแต่งตั้งขึ้นมา 20 คน ประกอบด้วยปลัดกระทรวงยุติธรรมเป็นประธาน รองปลัดกระทรวงยุติธรรมหัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านพัฒนาพฤตินิสัย อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เป็นรองประธาน และมีกรรมการจากหน่วยงานต่างๆ เช่น ราชเลขาธิการ หรือผู้แทน หรือเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม หรือผู้แทน อธิบดีกรมคุมประพฤติ ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด เป็นต้น
พล.ต.อ.ประชา กล่าวว่า จากนั้นคณะกรรมการชุดดังกล่าวได้เสนอหลักเกณฑ์การพระราชทานอภัยโทษต่อนายพีระพันธ์ ซึ่งได้มีความเห็นชอบในหลักการ โดยมีเนื้อหาสำคัญ 2 ประการ คือ 1.ให้ขอพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัวให้แก่นักโทษเด็ดขาดซึ่งมีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป โดยไม่มีเงื่อนไข เว้นคดีต้องโทษประหารชีวิตและคดีเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ 2.ขอพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัวให้แก่นักโทษเด็ดขาดที่มีอายุตั้งแต่ 60-69 ปี โดยยกเลิกหรือผ่อนคลายเงื่อนไขและข้อจำกัดต่างๆ เท่าที่จะกระทำได้ เว้นแต่คดีซึ่งต้องโทษประหารชีวิตความผิดร้ายแรง และมีกำหนดโทษสูง และคดียาเสพติดให้โทษ ซึ่งเดิมการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกา พ.ศ. 2553 เงื่อนไขเหล่านี้ถูกกำหนดไว้ในบัญชีความผิดท้าย พ.ร.ฎ.ก็ยังมีอยู่ เงื่อนไขนี้นายพีระพันธ์เห็นชอบและตนก็ได้เห็นชอบตามนั้น ทั้งนี้ร่างฯ ของนายพีระพันธ์เนื้อหาสาระที่ได้เห็นชอบไปนั้น เราไม่มีการหักล้างอะไร เป็นเพียงถ้อยคำเท่านั้นที่แตกต่างไปบ้าง
พล.ต.อ.ประชา กล่าวว่า จากนั้นเมื่อตนเข้ารับหน้าที่คณะกรรมการชุดดังกล่าวก็ได้เสนอเรื่องมาตนอีกครั้ง ตามที่นายพีระพันธ์เห็นชอบไปแล้วนั้น ซึ่งตนได้เซ็นรับทราบ และเห็นควรดำเนินการต่อไป เมื่อ 16 ก.ย.ที่ผ่านมา เรื่องจึงกลับไปคณะกรรมการและร่างฯขึ้นมาและเสนอตนอีกครั้ง ซึ่งตนได้แทงเรื่องไปว่ามอบให้กรมราชทัณฑ์นำร่างนี้ไปหารือคณะกรรมการกฤษฎีกาให้เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา(ป.วิอาญา) แล้วนำกลับเสนอตนอีกครั้งว่ามีการหารือและกฤษฎีกามีความเห็น ซึ่งตนเห็นชอบ และเสนอคณะรัฐมนตรีเมื่อ 15 พ.ย.ที่ผ่านมา ร่างนั้นตนขอเรียนด้วยความสัตย์จริงว่าเป็นเรื่องลับ เพราะอยู่ขั้นตอนดำเนินการ คือส่งให้สำนักงานกฤษฎีกาดำเนินงาน เมื่อพิจารณาแล้วก็จะนำเข้าคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง
“มีการถามต่อมาว่าร่างฯ นี้เอื้อประโยชน์ให้คนใดคนหนึ่งหรือไม่ ตอบด้วยความสัตย์จริงว่าไม่มีแล้ว คนต้องโทษการทุจริต ตามกฎหมาย ป.ป.ช.ก็ยังอยู่ในบัญชีแนบท้าย ผู้ต้องหาเกี่ยวกับยาเสพติดก็ยังอยู่ ไม่ได้ขาดหายไปไหน การวิพากษ์วิจารณ์อาจทำให้ประชาชนสับสน จึงต้องเรียนให้ชัดเจนและไม่น่าห่วงอะไร เพราะเป็นร่างฯ ที่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีส่วนใดขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาแต่อย่างใด และที่ห่วงทำประโยชน์คนใดคนหนึ่งก็ยืนยันว่าไม่มี” พล.ต.อ.ประชากล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า พรรคฝ่ายค้านจะนำเรื่องดังกล่าวมาอภิปรายด้วย ได้เตรียมความพร้อมแล้วหรือไม่ พล.ต.อ.ประชา กล่าวว่า ตนตอบได้ แต่หากเรื่องใดเป็นเรื่องลับ คงพูดไม่ได้ เพราะเป็นชั้นความลับของเอกสารของคณะรัฐมนตรี คงตอบได้เพื่อไม่ให้สับสน แต่ในเนื้อหาที่ยื่นมาไม่มีเรื่องนี้ แต่ดีใจที่จะได้ชี้แจง และมีหลายเรื่องที่ต้องอภิปราย ว่าความจริงคืออะไร เมื่อถามว่าโทษทุจริตมีการตัดออกหรือไม่ คนที่ไม่ได้รับโทษหรือคนที่หนีคดีมีโอกาสได้รับประโยชน์จากร่าง พ.ร.ฎ.นี้หรือไม่ พล.ต.อ.ประชา กล่าวว่า ยืนยันว่า “ไม่มีครับ” เมื่อถามต่อว่ายืนยันว่าต้องเป็นนักโทษที่ติดคุกมาก่อน พล.ต.อ.ประชา กล่าวว่า “ถูกต้องครับ”
เมื่อถามว่าทำไมถึงเลือกที่จะแถลงภายหลังที่ พ.ต.ท.ทักษิณ มีจดหมายเปิดผนึกออกมา พล.ต.อ.ประชา กล่าวว่า ตนไม่ทราบว่าใครมีหนังสืออะไร แต่ในฐานะที่รับผิดชอบ มีการวิพากษ์วิจารณ์ จึงตัดสินใจมาให้ข้อมูล เมื่อถามว่าตอบให้ชัดได้เลยหรือไม่ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ จะไม่ได้รับประโยชน์จาก พ.ร.ฎ.นี้ พล.ต.อ.ประชา หยุดคิดแล้วย้อนถามว่า “จะให้ตอบเลยเหรอครับ ถูกต้องครับไม่ได้ประโยชน์”
เมื่อถามว่าการที่ออกมาแถลงความชัดเจนเป็นเพราะกระแสการต่อต้านรุนแรงขึ้น และส่อจะทำให้สังคมเกิดความขัดแย้งอีกครั้งใช่หรือไม่ พล.ต.อ.ประชา กล่าวว่า ที่จริงแล้วเรายุ่งกับน้ำมาพอสมควร เดือดร้อนกันมหาศาล เราก็มาเจอปัญหาอย่างนี้อีก เรื่องความลับราชการก็คงทราบดีถึงระเบียบปฏิบัติ มีข้อห้ามกำกับ แต่ถ้าจะเกิดผลเสียหายต่อส่วนรวมตนในฐานะคนรับผิดชอบ ตนก็ออกมาชี้แจง เมื่อถามว่าคณะรัฐมนตรีสัปดาห์นี้จะมีการพิจารณาต่อหรือไม่ พล.ต.อ.ประชา กล่าวว่า ต้องดูที่กฤษฎีกา ยืนยันร่างฯ ของตนและนายพีระพันธ์ไม่ได้ขัดแย้งกัน
เมื่อถามว่านายพีระพันธ์ระบุว่าร่างฯ ที่คณะกรรมการเสนอมาและเข้าคณะรัฐมนตรีขัดแย้งกัน พล.ต.อ.ประชา กล่าวว่า มันก็น่าจะไม่จริง เมื่อถามว่าแต่เดิมการพิจารณาร่าง พ.ร.ฎ.แต่เดิมไม่มีการประชุมลับทำไมครั้งนี้ถึงประชุมลับ พล.ต.อ.ประชา กล่าวว่า พระราชกฤษฎีต้องเป็นเรื่องลับ ดูกฎหมายได้
เมื่อถามว่าหลังออกมาให้ความชัดเจนความขัดแย้งจะคลี่คลายได้หรือไม่ เพราะคนเสื้อแดงเตรียมที่จะระดมคนมาชนกับกลุ่มที่คัดค้านเรื่องนี้ พล.ต.อ.ประชา กล่าวว่า ไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์อย่างนี้ จึงต้องรีบมาชี้แจง อยากให้บ้านเมืองเดินได้ บอบช้ำมามากแล้ว เรื่องน้ำก็สาหัส เรื่องในอดีตก็หนักหนา แล้วจะมามีเรื่องนี้อีกหรือ
“ผมในฐานะผู้รับผิดชอบก็เรียนชี้แจง ถ้าผมพอมีเกียรติอยู่บ้าง ก็คงจะได้รับความเชื่อถือบ้างในข้อมูลนี้”พล.ต.อ.ประชา กล่าว และว่า การมาชี้แจงไม่ได้ช้าเกินไป เพระเรื่องนี้ยังเป็นเรื่องลับอยู่
เมื่อถามว่าเหตุใดก่อนหน้านี้ไม่มาชี้แจงว่าทักษิณ ไม่ได้ประโยชน์จาก พ.ร.ฎ.นี้ พล.ต.อ.ประชา กล่าวว่า มันพูดไม้ได้ เป็นเรื่องความลับ เมื่อถามว่าหากสุดท้าย พ.ต.ท.ทักษิณได้รับการอภัยโทษ จะทำอย่างไร พล.ต.อ.ประชา กล่าวว่า “ผมก็ไม่อยู่” พร้อมกับหัวเราะ
ทั้งนี้ กระทรวงยุติธรรมได้เสนอร่าง พ.ร.ฎ.ขอพระราชทานอภัยโทษ เข้าสู่การพิจารณาของ ครม.เป็นวาระจรและให้เป็นการประชุมลับ เมื่อวันที่ 15 พ.ย.ที่ผ่านมา โดย ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ ทำหน้าที่ประธานการประชุมแทน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีที่เดินทางไปจังหวัดสิงห์บุรีแล้วอ้างว่ากลับมาไม่ทันซึ่งภายหลังการประชุมมีกระแสข่าวออกมาว่า ร่าง พ.ร.ฎ.ดังกล่าวมีการแก้ไขให้เปลี่ยนไปจากร่างเดิม เพื่อเอื้อประโยชน์ให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้รับพระราชทานอภัยโทษด้วย จนเกิดกระแสต่อต้านจากสังคมเป็นวงกว้าง และเมื่อเช้าวันที่ 20 พ.ย.ที่ผ่านมา พ.ต.ท.ทักษิณได้เขียนจดหมายเปิดผนึกมีเนื้อหาที่ส่งสัญญาณให้รัฐบาลถอย ก่อนที่ พล.ต.อ.ประชาจะแถลงข่าวในช่วงบ่าย ยืนยันว่าจะไม่มีการแก้ไขร่าง พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษให้ต่างไปจากเดิม