xs
xsm
sm
md
lg

สถานการณ์ยังไม่น่าวางใจ “ทักษิณ” เดินเกมถอยในรุก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ทักษิณ ชินวัตร
แม้วันนี้ ทักษิณ และรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะถอยร่นแล้วหลังสั่งการให้พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม ในฐานะต้นเรื่องผู้ทำเรื่องการขอพระราชทานอภัยโทษทำการแถลงข่าวเปิดเผยสาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ....ที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการไปเมื่อวันอังคารที่ 15 พ.ย.ที่ผ่านมา

สาระสำคัญของเนื้อหาใจความร่าง พ.ร.ฎ.อภัยโทษดังกล่าว ตามคำแถลงของรมว.ยุติธรรมสรุปได้ว่าคือรัฐบาลจะเสนอร่าง พ.ร.ฎ.อภัยโทษโดยยึดต้นแบบ พ.ร.ฎ.ปี 53 ที่เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อันมี พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เป็น รมว.ยุติธรรม

โดย รมว.ยุติธรรมให้คำยืนยันว่า ร่างดังกล่าวไม่มีการเสนอให้พระราชทานอภัยโทษผู้กระทำความผิดในคดียาเสพติดและคดีทุจริตคอร์รัปชัน อีกทั้งผู้จะได้รับการอภัยโทษต้องเป็นผู้ต้องขังที่ต้องเคยติดคุกมาก่อน

ถ้าเป็นไปตามนี้ตามตัวบทกฎหมาย ทักษิณ ชินวัตร หมดโอกาสทันทีในการขอพ่วงชื่อผู้สมควรได้รับการอภัยโทษ แม้จะมีอายุเกิน 60 ปีและโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี

กระนั้นก็ตาม จะดีกว่านี้มากหาก พล.ต.อ.ประชาจะนำร่าง พ.ร.ฎ.ดังกล่าวมาเปิดเผยต่อสังคมให้ได้เห็นเอกสารทุกหน้าของร่างพระราชกฤษฎีกากันทั้งหมดไปเลย ว่าเนื้อหาสาระทั้งหมดเป็นอย่างไร, ตัวร่างดังกล่าวมีบันทึกหลักการและเหตุผลอย่างไร, มีลายเซ็นของนายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เห็นชอบให้เอาเข้า ครม.วันไหน, กระบวนการต้นเรื่องจากกรมราชทัณฑ์มาถึงกระทรวงยุติธรรม และเข้า ครม.เดินไปอย่างไร

ทั้งหมดก็เพื่อให้คนได้เปรียบเทียบให้เห็นกันไปเลยว่าร่าง พ.ร.ฎ.ของรัฐบาลเพื่อไทยแตกต่างหรือเหมือนกับร่าง พ.ร.ฎ.อภัยโทษปี 53 อย่างไร

รวมถึงต้องตอบให้ชัดด้วยว่า ที่ว่าส่งให้กรรมการกฤษฏีกาไปแล้ว ส่งเมื่อไหร่ ส่งผ่านใคร กรรมการกฤษฏีกาคณะไหนเป็นผู้พิจารณา หรือว่าเป็นแค่ระดับเจ้าหน้าที่สำนักงานกรรมการกฤษฏีกา ไม่ใช่ตัวกรรมการพิจารณา และถ้ากฤษฏีกามีความเห็นให้แก้ไขหรือเสนอแนะอะไรแล้วรัฐบาลจะดำเนินการอย่างไรต่อ

ทุกอย่างมันต้องเคลียร์

เนื่องจากคำแถลงของ พล.ต.อ.ประชา ที่บอกว่าทุกอย่างเหมือน พ.ร.ฎ.อภัยโทษปี 53 ซึ่งเป็นสิ่งที่สามารถหาได้ทั่วไปในเว็บไซต์และสื่อหลายแขนงก็นำมาลงไปแล้ว แบบนี้ ก็เท่ากับว่าทุกอย่างไม่ได้เป็นความลับอีกต่อไปแล้ว

ถ้าประชาทำให้ชัด ทุกอย่างจะได้กระจ่างแจ้ง ผู้คนจะได้หยุดวิพากษ์วิจารณ์กัน

เพราะแม้รัฐบาลจะรีบออกมาสับคัดเอาท์ตัดเรื่องอภัยโทษทักษิณ แต่ฝ่ายค้านก็คงต้องลากเรื่องนี้เข้าไปซักถามอภิปราย พล.ต.อ.ประชา ที่จะถูกฝ่ายค้านอภิปรายไม่ไว้วางใจวันที่ 27 พ.ย.นี้พ่วงไปกับประเด็นเรื่องทุจริตการจัดซื้อถุงยังชีพด้วยแน่นอน แม้ความแรงในการอภิปรายประเด็นอภัยโทษอาจลดทอนลงแล้ว แต่ก็คงต้องมีการอภิปรายพาดพิงไปถึงทักษิณ ชินวัตร และยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ให้ร้อนกันทั้งสภาฯแน่นอน

ถึงตอนนั้น ยากที่ พล.ต.อ.ประชาจะเก็บทุกอย่างไว้กับตัวเอง มีอะไรก็ต้องเปิดหมด

เหตุที่บอกว่า พล.ต.อ.ประชา ควรต้องเปิดเผยข้อเท็จจริงมากกว่านี้โดยเฉพาะเอกสารร่าง พ.ร.ฎ.ดังกล่าว ก็เพราะคนก็ยังมีการตั้งข้อสงสัยกันหลายมุมต่อความผิดปกติของเรื่องนี้ ที่เห็นได้ชัดว่าทั้งทักษิณ-ยิ่งลักษณ์-เฉลิม และประชา ต้องมีการวางแผนรับลูกกันมาเป็นทอดๆ

อย่างการแถลงข่าวของ พล.ต.อ.ประชา ที่ไม่ยอมแจงเรื่องการอภัยโทษปล่อยให้กลายเป็นประเด็นร้อนการเมืองเกือบ 6 วัน แล้วจู่ๆ ก็ออกมาแถลงข่าว หลังจากทักษิณสั่งให้ลูกน้องนำจดหมายเขียนด้วยลายมือแจกให้สื่อมวลชนในช่วงเช้าวันที่ 20 พ.ย.54

แม้จดหมายของทักษิณจะกำกวม คือดูเหมือนทักษิณจะถอยไม่เอาแล้วกับเรื่องอภัยโทษและพร้อมเสียสละเพื่อให้เกิดความปรองดองแม้ตัวเองจะไม่ได้รับความยุติธรรม แต่ทักษิณก็ไม่ได้บอกให้ชัดว่าขอสละการขอรับพระราชทานอภัยโทษ รวมถึงบอกประชาชนที่สนับสนุนทักษิณขอให้รอโอกาสอันเหมาะกว่านี้ทุกอย่างจะจบเอง

ซึ่งหากถอดความคิดของทักษิณก็คือ ครั้งนี้ถ้าไม่ได้ไม่เป็นไร แต่ยังหวังจะได้โอกาสอะไรก็ได้สักอย่างหนึ่งเพื่อจะได้กลับประเทศไทย ภายใต้สิ่งที่ทักษิณเรียกมันว่า “มิติใหม่” ของวันพรุ่งนี้

เป็นการสร้างภาพที่หากใครรู้ไม่ทัน ก็คิดว่าอีกครั้งแล้วที่ทักษิณ เสียสละเพื่อให้ประเทศเกิดความปรองดอง ทั้งที่หากรัฐบาลจะช่วยเหลือให้กลับประเทศได้แต่ทักษิณก็ไม่เอา

แต่คนที่รู้ทันก็จะเข้าใจดีว่ามันคือการสร้างภาพของทักษิณเพื่อขอคะแนนความเห็นใจจากประชาชน

เพราะตัวทักษิณเองก็รู้ว่ายากที่จะฝืนกระแสสังคมที่ต่อต้านทักษิณให้กลับประเทศ โดยไม่ต้องรับโทษความผิดไม่ว่าด้วยวิธีการใด

ยิ่งเมื่อทักษิณและคนในรัฐบาลเห็นแล้วว่า พลังมวลชนจากทั่วทุกสารทิศ ที่ไม่ใช่จะมีแค่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย-กลุ่มสยามสามัคคี-กลุ่มเสื้อหลากสี และอีกมากมาย ซึ่งพลังเหล่านี้เปรียบเสมือนแม่น้ำหลายสายที่พร้อมจะไหลมารวมกันเพื่อแสดงพลังปกป้องพระราชอำนาจและระบบนิติรัฐของประเทศ

มันก็ทำให้ทักษิณต้องถอยกลับไปตั้งหลักก่อน แต่เป็นการถอยที่นอกจากได้ประเมินกระแสต่อต้านของฝ่ายตรงข้ามแล้ว ยังเป็นการถอยที่ทักษิณหวังเก็บคะแนนนิยมกลับไปด้วย ซึ่งก็คงได้ผลกับแค่คนกลุ่มเดิมๆที่ยังรู้ไม่ทันทักษิณ

เพราะเป้าหมายที่แท้จริงของทักษิณในการปลดล็อกโซ่ตรวนคดีความ ดูแล้วย่อมไม่ใช่การใช้ช่องทางขอพระราชทานอภัยโทษ เนื่องจากกลับมาแล้วก็ยังต้องเสี่ยงและลุ้นสู้คดีอีกมากมายในชั้นศาลอาญาและศาลฎีกาฯ

อาทิ คดีผู้ก่อการร้าย-คดีปกปิดบัญชีทรัพย์สินหนี้สินอันเป็นเท็จหรือคดีซุกหุ้นชินคอร์ป-คดีใช้อำนาจหน้าที่การเมืองเพื่อแสวงหาประโยชน์จากธุรกิจสัมปทานโทรคมนาคม-คดีปล่อยกู้ธนาคารเอ็กซิมแบงค์ -คดีหวยบนดิน

มีโอกาสสูงมากที่ทักษิณจะแพ้คดีโดยเฉพาะใน 3 คดีนี้คือคดีเอ็กซิมแบงก์-คดีซุกหุ้นและคดีแปลงสัญญาสัมปทาน

เนื่องจากศาลฎีกาฯได้ตัดสินเอาไว้แล้วในคำพิพากษาคดียึดทรัพย์ 4.6 หมื่นล้าน ว่าทักษิณทำผิดจริงใน 3 เรื่องนี้จึงนำไปสู่การยึดทรัพย์ จึงทำให้สามคดีดังกล่าว หากทักษิณกลับมาสู้คดีก็มีโอกาสแพ้ต้องหนีคดีไปต่างประเทศอีก

หนทางความเป็นไปได้มากที่สุดที่ทักษิณและพรรคเพื่อไทยจะทำ จึงน่าจะเป็นการล้มคดีด้วยการ

“ออกกฎหมายนิรโทษกรรม-แก้รัฐธรรมนูญ”

ตามโมเดล นิติราษฎร์-นิติเรด ที่เสนอให้ล้มล้างผลพวงการเมืองทุกอย่างที่เกิดหลัง 19 ก.ย. 49 อันจะทำให้ทุกอย่างกลับไปเป็นศูนย์หมด

โมเดลนี้ปลอดภัยมากที่สุดสำหรับทักษิณ แม้กระบวนการจะกินเวลานานและมีโอกาสเจอแรงต้านสูงเช่นเดียวกับการอภัยโทษรอบนี้ แต่เมื่อทักษิณเห็นแล้วว่า กลุ่มไหนบ้างที่จะออกมาต่อต้านหากสั่งการให้ลูกสมุนช่วยเหลือให้พ้นผิด หลังเห็นการเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรฯ-สยามสามัคคี-เสื้อหลากสี ทำให้กลุ่มทักษิณได้เก็บข้อมูลและเช็กขุมกำลังฝ่ายต่อต้านทั้งที่เปิดเผยและไม่เปิดเผยไว้หมดแล้ว

เพื่อว่าหากจะเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญและออกกฎหมายนิรโทษกรรมจริง โดยใช้ผลการศึกษาของคณะกรรมการอิสระว่าด้วยหลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอ.นธ.) ที่มีอุกฤษ มงคลนาวิน เป็นประธานเพื่อเป็น “ใบเบิกทาง” ในการสร้างความชอบธรรมเพื่อสู้กับแรงต้านนอกรัฐสภาทั้งกลุ่มพันธมิตรฯ-เสื้อหลากสี-สยามสามัคคีและกลุ่มที่ยังไม่ได้เปิดเผยตัวในช่วงการคัดค้านการอภัยโทษทักษิณ

สถานการณ์ตอนนี้ แม้จะคลี่คลายลง แต่ก็ยังวางใจไม่ได้ด้วยประการนี้ จึงควรต้องจับจ้องกันให้ดี
กำลังโหลดความคิดเห็น