ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-ถ้าหากจะกล่าวถึงปัญหาใหญ่ที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ขณะนี้ คงหนีไม่พ้นปัญหาอุทกภัยที่ประชาชนในหลายพื้นที่กำลังประสบกับความเดือนร้อนอย่างหนัก กระนั้น ดูเหมือนว่า สถานการณ์น้ำท่วมที่กระหนำซ้ำประเทศไทยดูเหมือนจะยังหนักหนาสาหัสมิได้เบาบางลงกว่าเดิม โดยทางกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้รายงานว่ายังมีอีก23 จังหวัด ต้องจมอยู่ใต้บาดาล ประชาชนเสียชีวิตไปแล้ว 166 คน ได้รับความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัสอีกกว่า 581,099 ครัวเรือน หรือประมาณ1,923,920 คน พบพื้นที่การเกษตรของประชาชนยังเสียหายถึง 5,110,327 ไร่ พื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยเฉพาะบ่อปลาเสียหายประมาณ 60,124 ไร่ สัตว์ได้รับผลกระทบมากกว่า4,727,694 ตัว
ทั้งหมดคงจะสะท้อนได้อย่างดีว่า คงไม่มีปัญหาใดใหญ่ไปกว่าความเดือดร้อนของประชาชนที่กำลังประสบเคราะห์ร้ายกับสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นอยู่ขณะนี้ และแน่นอนว่าการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ย่อมหนีไม่พ้นหน้าที่ของ รัฐบาลของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กับเหล่าคณะรัฐมนตรี ที่ต้องเยียวยาผู้ประสบภัยและแก้ไขปัญหาที่รุมเร้าประชาชน
ทั้งนี้ ก็นับว่าเป็นเวลานานนับร่วมกว่า 2 เดือนแล้ว ที่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้มีเวลาแสดงฝีมือในการแก้ปัญหาน้ำท่วม ซึ่งแน่นอนประชาชนย่อมจับตาดูน้ำยาในการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ว่าจะมีดีมาลบล้างข้อครหา "รัฐบาลเพื่อพี่ชาย" ได้ดีแค่ไหน
ล่าสุด โดย สำนักวิจัยเอแบคโพลล์มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ได้เสนอผลวิจัยเชิงสำรวจเรื่อง "เปรียบเทียบความนิยมศรัทธาของสาธารณชนต่อนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กับนายอภิสิทธิ์เวชชาชีวะ ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี" กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป ใน 17 จังหวัดของประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 4,028 ตัวอย่าง
ผลสำรวจพบว่า ประชาชนที่ถูกศึกษาร้อยละ 48.5 ไม่นิยมใครเลย ในขณะที่ร้อยละ 38.6 นิยมศรัทธาต่อนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และร้อยละ 12.9 นิยมศรัทธาต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะผู้นำฝ่ายค้านในรัฐสภา
เรียกได้ว่า ผลสำรวจดังกล่าวก็ชี้ชัดเจนว่าทำเอาผู้นำประเทศคนปัจจุบันและอดีตผู้นำประเทศ สอบตกจมน้ำไปทั้งคู่ เพราะปรากฏออกมาว่าแม้ คะแนนของน.ส.ยิ่งลักษณ์ จะออกมามาเหนือกว่า นายอภิสิทธิ์ แต่ก็ยังได้คะแนนเพียงไม่ถึงครึ่งจากผลสำรวจเรียกได้ว่าก็ห่วยแตกพอกันทั้งคู่
อีกทั้งที่ต้องขีดเส้นใต้ไว้ก็คือตัวเลขกว่า 48.5 หรือกว่าครึ่ง ไม่นิยมชมชอบ ต่อฝีมือการแก้ปัญหาของผู้นำและอดีตผู้นำประเทศ เพราะหากฉายภาพการแก้ไขปัญหาอุทกภัยของทั้งคู่ที่ผ่านมาก็จะเห็นได้ว่า ล้วนไปในทางเดียวกันก็คือ เป็นเพียงการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ไม่ว่าจะเป็นการประชุมคณะรัฐมนตรี อนุมัติงบประมาณช่วยเหลือน้ำท่วม เปิดรับบริจาคเงินและสิ่งของเพื่อนำไปเยียวยาประชาชน รวมถึงการลงพื้นที่แจกสิ่งของประชาชน
และความเป็นจริงอีกประการหนึ่งก็คือ ปัญหาน้ำท่วม นับเป็นปัญหาใหญ่ที่ประเทศไทยต้องเผชิญอย่างหนักหน่วง ในรอบ 4-5ปี ที่ผ่านมา ซึ่งประชาชนก็ย่อมอยากเห็นรัฐบาลที่เตรียมตัวมาแก้ปัญหาน้ำท่วมที่ดูเหมือนจะเกิดขึ้นในทั่วทุกภาคของประเทศไทย เพราะทั้งรัฐบาลชุดก่อนและชุดปัจจุบันก็หาได้เตรียมวิธีรับมือกับปัญหาอุทกภัย ที่จะเกิดขึ้นในแต่ละปีได้อย่างทันท่วงที เรียกว่าน้ำท่วมมาครั้งหนึ่งก็ต้องมานั่งประชุมแก้ปัญหาไปทีละเปราะซึ่งมาถึงวันนี้ก็เห็นได้ชัดแจ้งแล้วว่า การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไม่ได้ช่วยบรรเทาทุกข์ให้กับประชาชน
อย่างไรก็ตาม จากปัญหาน้ำท่วมที่คนไทยกำลังประสบอยู่ ภาพที่เห็นจนชินตาก็คือจะเห็นรัฐบาล หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และสื่อมวลชนต่างก็เร่งให้การช่วยเหลือและเฝ้าติดตามรายงานสถานการณ์น้ำท่วมอย่างต่อเนื่อง โดยทาง มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต "สวนดุสิตโพล" ยังได้สำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศจำนวน 2,019 คน เรื่องการสะท้อนความคิดเห็นและเป็นข้อมูลในการแก้ปัญหาให้ถูกจุดทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
โดยในเรื่อง "หน่วยงาน" ที่ประชาชนพึงพอใจในการช่วยเหลือน้ำท่วม ปรากฏว่าผลที่ออกมาทำเอารัฐบาล แถมจะต้องเอาปี๊บคลุมหัว ผลปรากฏออกมาว่า "หน่วยงาน" ที่ประชาชนพึงพอใจในการช่วยเหลือน้ำท่วม อันดับ1. สื่อมวลชน 26.88% อันดับ 2. รัฐบาล 25.50% อันดับ 3. หน่วยงานเอกชนในจังหวัด บริษัท ห้างร้าน 18.52%อันดับ 4. อบต. จังหวัด หน่วยงานราชการ 17.34%อันดับ 5. ฝ่ายค้าน 11.76%
เรียกว่าเป็นการตบหน้ารัฐบาลฉาดใหญ่อีกเช่นกัน เพราะไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า หน่วยงานที่ได้ชื่อว่าประชาชนหวังพึ่งได้ในยามทุกข์ยาก อย่างรัฐบาล กลับได้คะแนนเป็นรองสื่อมวลชน ด้วยซ้ำไป
ทว่า ในความเป็นจริงก็คงไม่แปลกใจอันใดนัก ซึ่งประชาชนที่ติดตามข่าวสารทางโทรทัศน์ ก็จะเห็นภาพบรรดานักข่าวในพื้นที่ ลงไปทำข่าวรายงานความเดือดร้อนของชาวบ้านในแต่ละพื้นที่ ทั่วทุกภาคของประเทศ และนอกจากยังได้ทำหน้าที่รายงานความเป็นไปในแต่ละพื้นที่แล้วก็ยังเหมือนเป็นการช่วยเหลือประชาชนไปในตัวด้วยเสมือนเป็นกระบอกเสียงที่ส่งไปถึงรัฐบาลให้มาช่วยดูดำดูดีประชาชนที่ยังไม่ได้รับความช่วยเหลืออีกบานตะไท ในหลายพื้นที่
เพราะที่น่าเศร้าใจยิ่งก็คือ พบว่าหลายพื้นที่ที่สื่อมวลชนได้ไปทำข่าวพื้นที่ประสบอุทกภัยน้ำท่วม ก็ยังได้เห็นภาพการให้สัมภาษณ์ทำนองว่า ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือเรื่องงบประมาณจากรัฐบาล หรือป่านนี้ก็ยังไม่เห็นหน่วยงานของรัฐบาลลงมาพื้นที่ที่ประชาชนได้รับความเดือดร้อนด้วยซ้ำ ไปๆ มาๆ กลายเป็นว่า ชาวบ้านกลับได้เห็นหน้าสื่อมวลชน มากกว่าบรรดารัฐมนตรีหรือ ข้าราชการของรัฐ เป็นเสียอย่างนั้นไป
ต้องนับว่าอย่าได้แปลกในอันใด หากประชาชนจะให้คะแนนสอบตกแก่รัฐบาลในเรื่องความช่วยเหลืออย่างทันท่วงทีต่อประชาชน เพราะเป็นเวลานานนับเดือนๆ เข้าไปแล้ว ที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้สั่งการให้รัฐมนตรี หรือ ส.ส.ในแต่ละพื้นที่รับผิดชอบ ลงพื้นที่ช่วยเหลือประชาชนที่ยังได้รับความเดือดร้อนแสนสาหัสอยู่ขณะนี้ ผลคะแนนก็คงสะท้อนได้อย่างดีว่า ชาวบ้านได้เห็นหน้าเห็นตา ส.ส.ในพื้นที่ลงไปช่วยบรรเทาทุกข์มากเพียงใด
สรุปก็คือชาวบ้านยังเห็นหน้านักข่าวบ่อยกว่า ส.ส.หรือรัฐมนตรี เจ้าของพื้นที่ด้วยซ้ำไป
แต่ก็ดูเหมือนว่าจะมิได้นำพา เพราะส.ส.เสื้อแดง พรรคเพื่อไทย หลายสิบคนก็ยังมีหน้ายกขบวนไปเฮโลเตะบอลกระชับความสันพันธ์ กับรัฐบาลของ นายกรัฐมนตรีกัมพูชา สมเด็จฮุนเซน อย่างหน้าตาเฉย ปล่อยให้ผู้ประสบภัยรอคอยความหวังของการช่วยเหลือของ ส.ส.ในพื้นที่อย่างละเหี่ยใจ ปล่อยให้คนไทยนับล้านๆ คนกำลังจมอยู่ในวังวนแห่งความทุกข์แสนสาหัสกับอุทกภัยครั้งนี้
ถามว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ รู้เห็นเป็นใจด้วยหรือไม่ แน่นอนงานใหญ่ที่มีผลประโยชน์ของ วาระครอบครัว ในเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน พื้นที่4.6 ตร.กม. ผลประโยชน์ด้านพลังงานมหาศาลบริเวณอ่าวไทย เธอย่อมไม่พลาด เพราะเธอก็เป็นหนึ่งในหัวหอกที่ได้ย่างกายเข้าไปเหยียบดินแดนเขมร เพื่อเจรจากับสมเด็จฮุนเซน ปูพรมเสียเสร็จสรรพก่อนที่พี่ชายสุดเลิฟ ทักษิณ ชินวัตร จะไปเหยียบประเทศกัมพูชา เพียงวัน สองวันด้วยซ้ำไป
ล่าสุด น.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็ออกบทสั่งการให้รัฐมนตรีลงทุนนอนค้างคืนดูแลชาวบ้าน ก็คงต้องบอกว่าไม่ได้ต่างจากการสร้างภาพเลยด้วยซ้ำ เพราะมองมุมไหนก็ไม่ได้ทำให้ชาวบ้านส่วนใหญ่คลายทุกข์ได้เลย นอกเสียจากการสร้างภาพไปวันๆ ทั้งจึงไม่น่าแปลกใจหากประชาจะเทคะแนน สื่อมวลชนว่าทำหน้าที่แก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้ดีกว่ารัฐบาล
ซ้ำร้ายไปกว่านั้น ในขณะที่สุดยอดโมเดลแก้ปัญหาน้ำท่วมอย่าง "บางระกำโมเดล" ที่มาถึงตอนนี้ก็ยังไม่เป็นรูปเป็นร่าง หรือเป็นรูปธรรม จนประชาชนพร้อมใจกันพับเก็บไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วนั้น เพราะดูแล้วก็ไม่ได้สร้างประโยชน์หรือเยียวยาให้สถานการณ์น้ำท่วมกระเตื้องขึ้น แถมยังพ่นพิษไม่หยุดไม่หย่อน
ล่าสุดก็เกิดเหตุการณ์ฉาวไม่หยุด โดยชาวนาอำเภอบางระกำ โดยนายวิรัตน์ แดงซิว พร้อมชาวบ้าน อ.บางระกำ ประมาณ 10 คน ได้เดินทางเข้าพบนายธงชัย ทุ่งโพธิ์ทอง นายอำเภอบางระกำ เพื่อยืนหนังสือร้องขอความเป็นธรรมในกรณีที่ผู้นำท้องถิ่นเรียกเก็บเงินหัวคิวค่าชดเชยน้ำท่วมพื้นที่การเกษตรของชาวบ้านรายละ 4,000-30,000 บาท เพื่อผ่านเรื่องไปถึงนายปรีชา เรืองจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก โดยผู้นำท้องถิ่นอ้างว่าจะนำเงินดังกล่าวไปให้กับเกษตรตำบล และเกษตรอำเภอ
น่าสลดใจก็คือหลังจากชาวบ้านออกมาแฉ กลับต้องโดนขู่เอาชีวิต อีกเป็นผลตอบแทน
เช่นเดียวกับ นางสุมาลี กลิ่นจันทน์ ชาวนาชุมแสงคราม อ.บางระกำที่บอกว่า ชาวบ้านทั้งตำบลชุมแสงครามถูกหักค่าหัวหิวรายละ 2 ไร่ทุกคนเพียงแต่ไม่มีใครกล้าแสดงตัว เพราะทุกคนกลัวกันหมดไม่ให้ข้อมูลความเป็นจริง
ในขณะที่ นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ก็ยังตอบคำถามได้เพียงว่า ยังไม่ได้ทราบถึงตรงนั้น แต่ได้สั่งการให้ระมัดระวังในข้อครหา หรือคำนินทาในเรื่องต่างๆ มาตลอด ส่วน โมเดล 2 พี2 อาร์ ช่วยได้เยอะ เพราะที่แล้วมาเป็นระบบราชการจะต้องมีการรายงาน และไม่ได้จัดหมวดหมู่ จึงให้มีเจ้าภาพในเรื่องดังกล่าวเพื่อความชัดเจน
และตบท้ายด้วยผลการสำรวจความคิดเป็นของศูนยวิจัยและติดตามนโยบายของภาครัฐ ม.ศรีปทุม โดยนายสมชัย ศรีสุทธิยากรได้ออกมาเปิดเผยข้อมูลผลสำรวจความคะแนนนิยมของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมาปรากฏว่าอยู่ที่ร้อยละ 60 ซึ่งถือว่าเป็นค่าเฉลี่ยที่น้อยกว่ารัฐบาลทั่วโลกที่จะได้อยู่ประมาณร้อยละ 70
เพียงเท่านี้ก็คงจะพอฉายภาพให้เห็นเป็นอย่างดีว่า รัฐบาลเข้าถึงความเดือดร้อนของประชาชนได้ดีเพียงใด เพราะดีที่สุดก็เพียงตอบคำถามให้ผ่านไปเพียงวันๆ เท่านั้น ดังนั้นแล้ว ก็อาจกล่าวได้ว่า ผลโพลที่สะท้อนออกมาจากเสียงประชาชนก็ดูจะไม่ได้คลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริงเสียเท่าไหร่ อีกทั้งไม่ว่าจะมองมุมไหนในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ของรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็ไม่ได้ต่างจากรัฐบาลชุดก่อน อาจกล่าวได้ว่าถ้าหากรัฐบาลชุดก่อนมี ฉายา "ดีแต่พูด" รัฐบาลชุดนี้ก็สมควรแล้วที่จะได้รับฉายาว่า "ดีแต่โม้" เพราะคงจะไม่มีคำตอบใดชัดเจนไปกว่าเสียงจากประชาชนอย่างแน่นอน