ประธานสภา รับเจอ “นช.แม้ว” ที่เขมรคุยเรื่องการเมือง เล็งจัดตั้งวิทยุรัฐสภาส่งเสริมประชาธิปไตย สร้างรัฐสภาจังหวัดไว้ร้องทุกข์ แนะสื่ออ่านข้อบังคับสภา อ้างฝ่ายค้านชอบเล่นเกม ยันฉลาดพอไม่เอาเกียรติไปแลก โต้ ปชป.อ้างให้พรรคร่วมแจง รมต.เหตุโดนพาดพิง ซัดวอล์กเอาต์ไร้ความรับผิดชอบ ทำภาพลักษณ์เสียหาย
วันนี้ (23 ก.ย.) ที่โรงแรมแกรนด์แปซิฟิก ซอฟเฟอริน จ.เพชรบุรี นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีที่มีกระแสข่าวว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นักโทษหนีคดีที่ดินรัชดา มีการพูดคุยผ่านสไกป์มายังที่ประชุมรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย ว่า ตนไม่ได้เข้าร่วมประชุมอยู่แล้ว แต่ก็ได้ทราบเรื่องจากสื่อมวลชนบ้าง จึงไม่รู้ว่าจะแสดงความเห็นอะไร ทั้งนี้ เห็นว่า เป็นเรื่องปกติไม่น่าจะมีปัญหา
ผู้สื่อข่าวถามว่า การพูดคุยครั้งนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ มีการสั่งการไปยังรัฐมนตรีตามกระทรวงต่างๆ จะถือเป็นการแทรกแซงทางการเมืองหรือไม่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ตนไม่ทราบและไม่ขอก้าวล่วง ถ้าเป็นเพียงแค่การแนะนำก็คิดว่าไม่มีปัญหา
เมื่อถามว่า ในการเดินทางไปประชุมสมัชชารัฐสภาแห่งชาติ (AIPA) ที่ประเทศกัมพูชา ได้มีโอกาสพบปะ พ.ต.ท.ทักษิณ หรือไม่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ก็เจอขณะเป็นร่วมงานเลี้ยงวันแรกที่ทางกัมพูชาจัดขึ้น ซึ่งก็ได้พบกับ พ.ต.ท.ทักษิณ อยู่สักครู่หนึ่ง ซึ่งตนก็ต้องไปตามมารยาท และตนก็มีนัดไว้ล่วงหน้าแล้ว โดยการพูดคุยบนโต๊ะอาหารก็เป็นเรื่องทั่วไปของการสังสรรค์ และก็เรื่องการเมืองอยู่บ้างพอสมควร
เมื่อถามต่อว่า ทางพรรคประชาธิปัตย์ระบุว่า เหมือนประเทศไทย มีนายกรัฐมนตรี 2 คน นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ทำไมคิดอย่างนั้น ประเทศไทยมีนายกฯแค่คนเดียว
เมื่อถามว่า การที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้มีการพูดคุยสมเด็จฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา รวมถึง การที่ ส.ส.พรรคเพื่อจะเดินทางไปแข่งฟุตบอลกระชับมิตรที่ประเทศกัมพูชา จะส่งผลให้ความสัมพันธ์ไทยกับกัมพูชาจะดีขี้นหรือไม่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ไม่จำเป็นจะต้องเป็นประเทศกัมพูชาเท่านั้น แต่เป็นประเทศไหนก็ได้ หากมีความสัมพันธ์ที่ดีก็ย่อมส่งผลดีต่อประเทศไทยอยู่แล้ว และเป็นภาระที่ทุกคนต้องช่วยกัน ส่วนเรี่องความสัมพันธ์ไทยกับกัมพูชา ตนก็คิดว่าเป็นเหมือนฟ้าประทานสิ่งต่างๆ มาให้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน แล้วใยมาทำให้เสียของ เอามาทำประโยชน์ต่อประเทศชาติทั้งสองฝ่ายไม่ดีกว่าหรือ
ขณะที่วันนี้ (23 ก.ย.) มีการจัดการสัมมนาสื่อมวลชน ในหัวข้อเรื่อง “นิติบัญญัติกับการพัฒนาประชาธิปไตย” ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการสร้างการมีส่วนร่วมในกระบวนการนิติบัญญัติและวงงานรัฐสภากับสื่อมวลชน โดยมี นายสมศักดิ์ เป็นประธาน พร้อมด้วยนายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 และนายวัฒนา เซ่งไพเราะ โฆษกประธานสภาผู้แทนราษฎร ร่วมด้วย
ทั้งนี้ นายสมศักดิ์ ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “นิติบัญญัติกับการพัฒนาประชาธิปไตย” ตอนหนึ่ง ว่า การส่งเสริมประชาธิปไตยให้ถึงประชาชน โดยส่วนตัวเห็นว่ามี 3 ข้อ คือ 1.การจัดตั้งสถานีวิทยุรัฐสภาให้ครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศ ที่ผ่านมาเราล้มลุกคลุกคลาน เพราะประชาธิปไตยไม่ได้ลงลึกถึงระดับรากหญ้า จนทำให้อำนาจนอกระบบเข้ามาแทรกแซง เชื่อว่าหากเราสามารถให้ความรู้เรื่องประชาธิปไตยกับประชาชนรากหญ้าได้ จะเป็นการส่งเสริมประชาธิปไตยอย่างแท้จริง 2.การสร้างรัฐสภาจังหวัดเพื่อเป็นด่านหน้าในการรับเรื่องราวร้องทุกข์ของประชาชน เป็นที่พึ่งที่หวังดูแลประชาชนทุกจังหวัด เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในระบอบประชาธิปไตยมากขึ้น โดยไม่ต้องเดินทางเข้ามาใน กทม. เพราะโดยธรรมชาติของประชาชนจะไม่เข้าหาข้าราชการ แต่จะวิ่งเข้าหา ส.ส.มากกว่า ดังนั้นเชื่อว่าหากมีการสร้างรัฐสภาจังหวัดจะถือว่าคุ้มมาก
นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า 3.บทบาทของสื่อมวลชนประจำรัฐสภา มีความมีส่วนสำคัญในการกำหนดทิศทางของประเทศ จึงอยากให้สื่อมวลชนทำความเข้าใจในส่วนของข้อบังคับการประชุม เพื่อให้รู้ทันเกมการเมืองของทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล โดยสิ่งหนึ่งที่ตนตั้งข้อสังเกตว่าฝ่ายค้านกล่าวหาว่าประธานทำหน้าที่ไม่เป็นกลางนั้น ก็เพราะว่าฝ่ายค้านมักมีพฤติกรรมในการประท้วงครั้งละหลายๆคนในเรื่องเดียวกัน เมื่อประธานไม่ให้พูดก็จะต่อว่าว่าไม่เป็นกลาง แต่ในความเป็นจริงหากเป็นการประท้วงในเรื่องซึ่งประธานวินิจฉัยไปแล้วถือเป็นเด็ดขาด จึงอยากให้สื่อมวลชนในฐานะกรรมการศึกษาทำความเข้าใจข้อบังคับการประชุมของสภา เพื่อให้เข้าใจเกมการเมืองในสภาอย่างถ่องแท้
“คำวินิจฉัยของประธานถือเป็นเด็ดขาดไม่มีสิทธิ์โต้แย้งใดๆ เปรียบเสมือนกรรมการฟุตบอล ที่ให้ใบแดงไปแล้วก็ต้องออกสถานเดียว ขณะเดียวกันถ้าประธานตัดสินอะไรที่ผิดบ่อยๆคนทั้งประเทศก็จะวิพากษ์วิจารณ์ว่าประธานไม่เอาไหน ผลขอยืนยันว่ายังฉลาดพอ และไม่คิดที่จะเอาเกียรติของประธานสภาฯไปเอาเปรียบเล็กๆน้อยๆ เพราะไม่คุ้ม ไม่มีประโยชน์ ผมต้องรักษาความมีศักดิ์ศรีของสถาบันนิติบัญญัตินี้ให้ได้” นายสมศักดิ์ กล่าว
ภายหลังกล่าวปาฐกถา นายสมศักดิ์ ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนถึงกรณีที่ฝ่ายค้านออกมาเรียกร้องให้รัฐมนตรีควรเป็นผู้ตอบกระทู้ถามสดในการประชุมสภา ว่า ในการตั้งกระทู้สดตามหลักข้อบังคับการประชุมสภานั้น ระบุไว้ว่า ไม่ควรให้คนอื่นมาอภิปรายแทนนอกเหนือจากรัฐมนตรี ถ้าไม่มีการพาดพิงให้เกิดความเสียหาย แต่หากมีการพาดพิงให้เกิดความเสียหายก็ถือเป็นสิทธิ์โดยชอบของสมาชิกที่จะใช้สิทธิ์ในการชี้แจงได้ และเรื่องดังกล่าวก็เป็นดุลยพินิจของประธานในการตัดสินชี้ขาดว่า มีการพาดพิงให้เกิดความเสียหายหรือไม่ ถ้าไม่เสียหายก็จะไม่อนุญาตให้สมาชิกใช้สิทธิ์ในการชี้แจง การที่พรรคประชาธิปัตย์ออกมาระบุว่าไม่เคยมีปัญหาเช่นนี้มาก่อน ตนขอยืนยันว่าในเรื่องนี้มีมาโดยตลอด
ประธานสภา กล่าวอีกว่า ตนใช้มาตรฐานเดียวกันแก่ทั้งสองฝ่าย ทั้งในฝ่ายค้าน และฝ่ายรัฐบาล ส่วนกรณีที่วานนี้ (22 ก.ย.) ที่ทางพรรคประชาธิปัตย์แสดงอาการโห่ร้องและเดินออกจากที่ประชุมด้วยความไม่พอใจต่อการทำหน้าที่ของตนนั้น เห็นว่าเป็นการมองต่างมุม คือ มุมหนึ่งก็สามารถมองเห็นต่างจึงมีสิทธิ์ วอล์กเอาท์ แต่ในอีกมุมหนึ่งก็สามารถมองได้ว่า ส.ส.ไม่มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ อย่าเอาเรื่องการแก้ไขช่วงเวลาตั้งกระทู้ถามสดและกระทู้ทั่วไปมาเกี่ยวข้อง หากทุกคนปฎิบัติตามข้อบังคับก็จะใช้เวลาไม่มาก แต่ที่ผ่านมาไม่มีการใช้ข้อบังคับอย่างจริงจัง ทำให้เวลาการประชุมจึงล่วงเลยได้
นายสมศักดิ์ กล่าวถึงกรณีที่ทางฝ่ายค้านระบุว่าจะมีการติดตามการทำหน้าที่ของประธานสภาอย่างเข้มข้นว่า ถือเป็นเรื่องที่ดี แต่เรื่องทั้งหมดก็มีข้อบังคับระบุไว้ชัดเจน ทั้งนี้ ก็ไม่รู้สึกหนักใจอะไร และดีเสียอีกจะได้เห็นการทำหน้าที่อย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตาม ตนคิดว่า หากฝ่ายค้านยังแสดงพฤติกรรมเช่นนี้ ตนว่าไม่ดีแน่ ใครที่จะเป็นฝ่ายรู้สึกเอือมระอา และทำให้ภาพลักษณ์รัฐสภาเสียหาย ประชาชนเป็นผู้ตัดสินได้เพราะดูการถ่ายทอดสดการประชุมอยู่