xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ปลดผู้ว่าแบงก์ชาติ !?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กิตติรัตน์ ณ ระนอง
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - การเปลี่ยนแปลงคำว่า “ค่าจ้าง” เป็น “รายได้”ในนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และเขียนเงื่อนไขต่อท้ายว่า “อย่างสอดคล้องกับผลิตภาพและประสิทธิภาพของบุคคลากร”

ทำให้ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท กลายเป็นเรื่องโกหกประชาชนคำโต ของพรรคเพื่อไทยครั้งใหญ่ หลังจากเคยโกหกมานับครั้งไม่ถ้วน

นั่นทำให้ “ชาลี ลอยสูง” ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ( คสรท. ) วิจารณ์ความเจ้าเล่ห์เพทุบายของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ โดยเฉพาะการดำเนินการให้แรงงานมีรายได้เป็นวันละไม่น้อยกว่า 300 บาท และผู้ที่จบปริญญาตรี มีรายได้ไม่น้อยกว่าเดือนละ 1.5 หมื่นบาท อย่างสอดคล้องกับผลิตภาพ และประสิทธิภาพของบุคลากรว่า “การแถลงนโยบายดังกล่าวถือว่าเป็นการเบี่ยงเบนประเด็น ขัดเจตนารมณ์ที่ได้หาเสียงไว้ที่ สนามราชมังคลากีฬาสถาน หัวหมาก เป็นการโกหกพี่น้องประชาชนคำโต เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ เลือกเบอร์ 1 เพราะนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันโดนใจ ”

รศ.ดร.แล ดิลกวิทยรัตน์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิจารณ์ทำนองเดียวกัน ว่า คำแถลงนโยบายด้านแรงงานของนายกฯ ไม่ตรงกับที่รัฐบาลได้หาเสียงและสัญญาไว้กับประชาชน ที่ต่างเข้าใจกันว่าเป็นการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ และเงินเดือนปริญญาตรี โดยไม่มีเงื่อนไข

“ ค่าจ้างขั้นต่ำไม่เกี่ยวกับเรื่องของประสิทธิภาพการทำงาน เพราะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่แรงงานควรได้รับค่าจ้างแรกเข้าให้เพียงพอที่จะอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี เมื่อเข้าทำงานแล้ว จึงจะมีการพัฒนาทักษะ ฝีมือ เพื่อเพิ่มผลิตผลและประสิทธิภาพการทำงาน” รศ.ดร.แล อธิบาย

สอดคล้องกับการวิพากษ์วิจารณ์ของนักวิชาการด้านแรงงาน รศ.ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผอ.วิจัยการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) “คำแถลงนโยบาย เป็นการประกันรายได้ให้แก่แรงงาน ไม่ใช่การปรับค่าจ้างขั้นต่ำ และไม่ตรงกับข้อความที่เขียนไว้ในป้ายหาเสียงของพรรคเพื่อไทย ”

“การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน เป็นไปได้ยาก จะทำให้ธุรกิจเอสเอ็มอีต้องเลิกกิจการจำนวนมากและแรงงานตกงานเยอะ”รศ.ยงยุทธ ขยายความเพิ่มเติม

เช่นเดียวกับความกะล่อนของการปรับเงินเดือน 15,000 บาท ของคนเพิ่งจบปริญญาตรีใหม่ๆ อธิบดีกรมบัญชีกลาง “รังสรรค์ ศรีวรศาสตร์” บอกกับนักข่าวว่า ขณะนี้ รัฐบาลเห็นด้วยกับแนวทางของกรมบัญชีกลาง ในการปรับเพิ่มค่าครองชีพให้ข้าราชการระดับปริญญาตรี ที่ยังมีรายได้ไม่ถึงเดือนละ 15,000 บาท โดยจะเป็นการปรับเพิ่มค่าครองชีพ ไม่ใช่ปรับฐานเงินเดือนข้าราชการ

รังสรรค์ ขยายความเพิ่มเติมว่า การปรับเพิ่มค่าครองชีพข้าราชการ และลูกจ้างตามนโยบายรัฐบาลในครั้งนี้ น่าจะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือน ม.ค. 55 ซึ่งน่าจะสอดคล้องกับการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำของภาคเอกชน

แต่การปรับเพิ่มเงินเดือนข้าราชการทั้งระบบนั้น เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา และเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการพิจารณาเงินเดือนแห่งชาติ ซึ่งน่าจะดำเนินการได้ในปีงบประมาณหน้า หรือเดือนตุลาคม 55 ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มเงินเดือนทั้งระบบ และน่าจะใช้เงินงบประมาณอีกจำนวนมาก

ผลการตรวจสอบจำนวนข้าราชการ พนักงานของรัฐทั้งลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราว ที่จบปริญญาตรีที่เข้าข่ายได้รับเงินเพิ่มค่าครองชีพเพื่อให้มีรายได้รวมถึงเดือนละ 15,000 บาท ประจำปีงบประมาณ 55 น่าจะมีกว่า 500,000 ราย ซึ่งรวมถึงข้าราชการรับเข้ามาใหม่ที่ทดแทนข้าราชการที่เกษียณอายุในปีงบประมาณ 54 นี้ด้วย

รัฐบาลยิ่งลักษณ์พยายามจะเล่นลิ้น ใช้ความกะล่อนบริหารนโยบายเศรษฐกิจของประเทศโดยไม่รักษาคำพูด

ความกะล่อนดังกล่าว ยังลุกลามไปสู่การบริหารคนที่เกี่ยวข้องกับนโยบายเศรษฐกิจ แปลไทยเป็นไทยก็คือ การเดินหน้าปลดคนที่ยึดหลักการบริหารเศรษฐกิจ

มีความพยายามอย่างยิ่งยวดของ 2 รัก-ยม ทางเศรษฐกิจ “กิตติรัตน์-ธีระชัย” ที่ต้องการให้มีการปลดผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย ( ธปท. )

คุณเชื่อหรือเปล่าว่า กิตติรัตน์ ณ ระนอง ชำนาญการวิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาค ???

ไม่ว่าจะเชื่อหรือไม่ก็ตาม แต่กิตติรัตน์ แสดงออกว่าเป็นผู้รู้ทางด้านเศรษฐกิจมหภาค

เขาอธิบายภาวะเศรษฐกิจโลก ว่า เศรษฐกิจโลกในปี 55 มีแนวโน้มเติบโตลดลงเนื่องจากได้รับผลกระทบวิกฤตเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป (อียู) และส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยให้ชะลอตัวลง ทำให้ค่าเงินบาทมีโอกาสแข็งค่าขึ้น เป็นเหตุให้ไทยขายสินค้าได้ยาก จนเป็นอุปสรรคต่อการส่งออกและมีผลต่อการขยายตัวเศรษฐกิจในประเทศ

ทำไมค่าเงินบาทจึงแข็งค่าขึ้น ? กิตติรัตน์ไม่ได้อธิบาย หรือเพราะไม่รู้

ในเชิงทฤษฎีแล้ว ค่าเงินบาทจะแข็งค่า หรือลดค่า ขึ้นอยู่กับปริมาณเงินในประเทศ ผลผลิตในประเทศ ระดับราคาสินค้าในต่างประเทศ อัตราดอกเบี้ยในต่างประเทศ

กิตติรัตน์ ยังท่องคาถานักเศรษฐศาสตร์มหภาคบางคนอธิบายไปถึงเรื่องการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ โดยกระตุ้นกำลังซื้อภายในประเทศ เพื่อลดการพึ่งพาการส่งออกและเศรษฐกิจโลก

ทำให้รัฐบาลต้องเพิ่มรายได้ขั้นต่ำเป็น 300 บาท เพิ่มค่าครองชีพเป็น 15,000 บาท

เช่นเดียวกับ “ธีระชัย” อาศัยอำนาจ รมว.คลัง สั่งการบ้านธนาคารแห่งประเทศ (ธปท.) 4 เรื่องด้วยกัน

โดยขีดเส้นตายว่า จะต้องทำให้เสร็จภายใน 1 เดือน ( แปลไทยเป็นไทยก็คือ จะปลดภายใน 1 เดือนนั่นเอง )

เรื่องที่ 1 ได้ขอให้ ธปท. ไปศึกษาการตั้งกองทุนความมั่งคั่ง โดยให้นำเงินทุนสำรองระหว่างประเทศส่วนหนึ่งออกมาจัดตั้ง ให้มีการแยกบัญชีต่างหาก ซึ่งอาจจะต้องมีการแก้กฎหมาย เพื่อให้นำเงินทุนสำรองออกมาใช้

การตั้งกองทุนมั่นคั่ง จะเป็นการบริการร่วมกันระหว่างรัฐบาลกับ ธปท. โดยต้องมีข้อตกลงว่า กำไรจะนำไปทำอะไร และ ขาดทุนใครจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ

เรื่องที่ 2 ให้หาแนวทางการแก้ไขหนี้กองทุนเพื่อการพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ที่เดิมมีจำนวน 1.1 ล้านล้านบาท แต่ ธปท.ชำระหนี้เงินต้นได้เพียง 1.6 แสนล้านบาท ขณะที่คลังชำระดอกเบี้ยไป 6.7 แสนล้านบาท มีเงินต้นที่เหลืออีก 1.1 ล้านล้านบาท ที่ ธปท. ยังชำระไม่ได้และเป็นภาระกับงบประมาณ

เรื่องที่ 3 ต้องการให้ ธปท. เข้าไปกำกับการดูการออกตั๋วสัญญาใช้เงินระยะสั้น ( ตั๋วบีอี ) ของธนาคารพาณิชย์ ที่มีการขยายตัวจำนวนมาก เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่มีปัญหาทำให้เกิดความเสียหาย และมาเป็นภาระทางการคลัง โดยส่วนตัวต้องการให้โอนการกำกับดูแล ตั๋วบีอีไปไว้ที่คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

เรื่องที่ 4 ขอให้ ธปท. ทบทวนกรอบเงินเฟ้อที่ประกาศใช้ใหม่ปี 2555 โดยให้คำถึงปัจจัยภาวะเศรษฐกิจในและนอกประเทศ รวมถึงแนวนโยบายของรัฐบาลที่ต้องดำเนินการ และค่อยมาดูว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวเท่าไร เงินเฟ้อจะอยู่ระดับไหน ถึงค่อยกำหนดกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ

“กรอบเงินเฟ้อที่ใช้อยู่ในปัจจุบันที่ 0.5-3 % ต่อปี ถือว่า กว้างเกินไป ทำให้ ธปท. ไม่ค่อยกังวลดูแลเงินเฟ้อตอนที่อยู่ในระดับต่ำ

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ( ธปท. ) ตอบโต้อย่างนิ่มนวลทันทีว่า “ปัจจุบันการกำหนดกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อเป็นช่วงนั้น ถือว่ามีความยืดหยุ่นและเหมาะสม เพราะที่ผ่านมาสามารถดูแลเงินเฟ้อได้ดีตามวัตถุประสงค์”

นั่นจึงทำให้ หลายคนเชื่อว่า ดร.ประสาร จะถูกกดดันให้ลาออกจากตำแหน่ง แม้ รมว.คลังไม่มีอำนาจปลด แต่สามารถกดดันผ่านคณะกรรมการ ธปท.ได้

แม้ว่า ดร.ประสาร จะผ่านการประเมินในรอบ 6 เดือนแรกของปีนี้มาแล้วก็ตาม

ธีระชัย คงไม่ให้โอกาสใครมาขวางการใช้เงินภาษีแบบไม่ลืมหูลืมตา ผ่านการเพิ่มรายได้ขั้นต่ำ 300 บาท และปรับค่าครองชีพ 15,000 บาท

แม้ว่า เงินเหล่านั้นจะเป็นเงินของคนทั้งประเทศก็ตาม !!
ประสาร ไตรรัตน์วรกุล
ธีระชัย ภูวนารถนรานุบาล
กำลังโหลดความคิดเห็น