xs
xsm
sm
md
lg

ลูกจ้างฝันสลายโวยรบ.เลี่ยงบาลีค่าแรงบางจากรับได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ลูกจ้างโวยรัฐบาลบิดพลิ้วขึ้นค่าจ้าง 300 บาทต่อวัน ใช้คำเพิ่มรายได้แทน ทั้งที่ปัจจุบันค่าจ้างบวกรายได้สูงกว่านโยบายหาเสียงของรบ.ด้วยซ้ำ แนะแก้กม.คุ้มครองแรงงานเอื้อให้ทำได้จริง สภาอุตฯท่องเที่ยว รับลูกรายได้ 300 บาท ชี้ดีกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ ส่วนนโยบายรายได้ป.ตรี 15,000 บาท อาจต้องรับวุฒิต่ำกว่าป.ตรีแทน “เฉลิมชัย”เลขาธิการปชป.ติงนโบายค่าจ้างเขียนเลี่ยงบาลี

***ลูกจ้างโวย"ปู1"บิดพลิ้ว

นายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างแรงงานแห่งประเทศไทย กล่าวว่า นโยบายของรัฐบาลไม่ตรงกับที่ได้หาเสียงไว้ในเรื่องของค่าจ้างขั้นต่ำ เพราะรัฐบาลเปลี่ยนถ้อยคำมาเป็นรายได้ไม่น้อยกว่าวันละ 300 บาท เมื่อตีความหมายรายได้ก็คือ ค่าจ้างบวกกับค่าสวัสดิการและค่าโอที ทำให้แรงงานรู้สึกว่ารัฐบาลบิดพลิ้วนโยบายปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน หากพูดถึงรายได้ภาพรวมในปัจจุบันทั้งในเรื่องของเงินเดือนและค่าสวัสดิการต่างๆลูกจ้างได้มากกว่า 300 บาทต่อวันอยู่แล้ว แต่ถ้าได้ค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท ทำให้ลูกจ้างมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นเพราะไม่ต้องทำโอที ทั้งนี้ สัปดาห์หน้าสภาองค์การลูกจ้างฯจะขอเข้าพบนายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเพื่อทวงถามความชัดเจนในเรื่องนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท

“หากจะปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวันรัฐบาลสามารถทำได้โดยแก้ไขมาตรา 87 ของพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานพ.ศ.2541 ในเรื่องการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ เนื่องจากในปัจจุบันราคาสินค้ามีการขยับนำหน้าค่าจ้างไปก่อนแล้ว “ นายมนัส กล่าว

จากการสำรวจรายได้ของแรงงานที่จ.สมุทรปราการได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ 215 บาทต่อวัน หากคิดในเวลา 26 วันจะได้เดือนละ 5,590 บาท เมื่อดูภาพรายจ่ายพบว่าต้องจ่ายค่าประกันสังคม 279 บาท ค่ารถ 780 บาท ค่าอาหาร 3,000 บาท ค่าเช่าบ้าน 2,000 บาท ค่าเครื่องใช้อุปโภคบริโภค 800 บาท เมื่อรวมรายจ่ายทั้งหมด 6,859 บาทต่อเดือนเท่ากับติดลบอยู่ที่ 1,269 บาท

"ทุกวันนี้ แรงงานอยู่ได้ด้วยการทำโอที แต่หากได้รับค่าจ้างวันละ 300 บาท จะมีรายได้ 7,800 บาทต่อเดือน เมื่อมาลบรายจ่าย 6,859 บาท จะมีเงินเหลือ 941 บาท ทำให้แรงงานไม่ต้องทำโอทีหรือทำโอทีน้อยลงและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม หากจะให้แรงงานและครอบครัวอยู่ได้ควรได้รับค่าจ้างวันละ 421 บาท"

นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า การเปลี่ยนจากค่าจ้างขั้นต่ำตามที่รัฐบาลได้หาเสียงไว้ก่อนหน้านี้เป็นรายได้ไม่น้อยกว่า 300 บาทนั้น แตกต่างกันมาก เพราะรายได้นั้นจะรวมถึงค่าสวัสดิการ ค่าครองชีพ ค่าทำงานล่วงเวลา ค่าอาหาร ค่ารถ ที่สามารถนำมารวมกับค่าจ้างขั้นต่ำเดิม ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่แรงงานได้รับอยู่แล้ว ถ้าใช้นโยบายนี้จะเท่ากับว่ารัฐบาลไม่ได้ช่วยอะไรลูกจ้างหรือแรงงานเลย แต่ผู้ที่ได้ประโยชน์คือผู้ประกอบการที่ไม่ต้องจ่ายค่าแรงเพิ่ม แต่ได้รับการลดหย่อนภาษี 7 % ซึ่งการบิดในลักษณะนี้เท่ากับว่าลูกจ้างไม่ได้อะไรเลย

น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธาน คสรท. กล่าวว่า " ตอนหาเสียงบอกว่าจะขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ทันทีพร้อมกันทั่วประเทศ แต่พอมาเป็นรัฐบาลแล้ว จะมาบิดเบือนคำพูดของตัวเองไม่ได้ เพราะรายได้ไม่เกี่ยวกับค่าจ้างขั้นต่ำเป็นคนละเรื่องกัน ซึ่งอยากให้นายกฯหญิงทบทวน ถึงนโยบายและสิ่งที่ตัวเองพูดด้วย"

นายกงกฤช หิรัญกิจ ประธานนโยบายสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวถึงนโยบายด้านแรงงาน ที่รัฐบาลแถลงต่อรัฐสภา โดยจะดำเนินการให้แรงงานมีรายได้วันละไม่น้อยกว่า 300 บาท และผู้ที่จบปริญญาตรีมีรายได้ไม่น้อยกว่าเดือนละ 1.5 หมื่นบาท ว่า เป็นเรื่องน่าดีใจ ที่รัฐบาลเปลี่ยนนโยบายจากค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท เป็นรายได้รวม 300 บาท เพราะในกลุ่มธุรกิจการการท่องเที่ยวส่วนใหญ่กว่า 80 % เป็นธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งจะไม่ได้ประโยชน์หากรัฐใช้มาตรการลดภาษีนิติบุคคล ขณะที่อัตราการจ่ายค่าจ้างของธุรกิจท่องเที่ยวในปัจจุบัน อยู่ที่ประมาณ 200 บาทบวกลบ เมื่อรวมกับสวัสดิการอื่นเช่น อาหารทุกมื้อ ชุดพนักงาน หรือรถรับส่ง ก็จะพอๆกับรายได้ 300 บาทที่รัฐบาลประกาศเป็นนโยบาย และทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวสามารถปรับตัวได้ง่ายขึ้น

นายกงกฤช กล่าวว่า นโยบายเงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาท นั้นอาจทำให้ผู้ประกอบการ หันมารับแรงงานที่มีระดับการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี เช่นอาชีวะศึกษา ซึ่งอาจส่งผลกระทบในระยะยาวต่อประสิทธิภาพของบุคคลากรด้านการท่องเที่ยวในอนาคต

***ปชป.อัด'รบ.'เลี่ยงบาลีขึ้นค่าจ้าง

วานนี้ (24 ส.ค.) นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานในฐานะเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.)กล่าวว่า จากการวิเคราะห์คำแถลงนโยบายของรัฐบาลของนายกรัฐมนตรี และคำชี้แจงของนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีที่ดูแลด้านเศรษฐกิจ และรมว.พาณิชย์ เป็นที่ชัดเจนว่า ทั้งคำชี้แจงและคำตอบด้านนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ที่บอกว่าจะทำทันทีทั่วประเทศ ไม่สามารถยืนยันได้ว่าจะทำได้จริง แต่เป็นการเขียนในลักษณะของการเลี่ยงบาลี
การนำเรื่องค่าจ้าง 300 บาท มาเป็นนโยบายหาเสียง เป็นการทำตามกระแสช่วงเลือกตั้ง ไม่ได้มีการศึกษาข้อมูลมาก่อน ซึ่งเห็นได้จากหลังการเลือกตั้ง รัฐบาลไม่มีคำตอบว่าจะขึ้นค่าจ้าง 300 บาทได้เมื่อไร และมีวิธีการอย่างไร ตลอดจนถึงการแก้ปัญหาผลกระทบที่จะเกิดขึ้น

*** บางจากขึ้นค่าแรงเด็กปั๊ม 300 บาทต้นปี

นายอนุสรณ์ แสงนิ่มนวล กรรมการผู้จัดการ บริษัท บางจาก ปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในต้นปีหน้าบางจากจะปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้กับพนักงานหัวจ่ายน้ำมัน (เด็กปั๊ม) เป็นวันละ 300 บาท จากปัจจุบันอยู่ที่ 250 บาทต่อวัน ตามนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของรัฐบาลใหม่ แต่แรงงานต้องเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ โดยจะไม่เพิ่มเวลาการทำงาน ซึ่งบางจากพร้อมแบกรับต้นทุนค่าแรงที่เพิ่มขึ้น 7 สตางค์ต่อลิตร
กำลังโหลดความคิดเห็น