xs
xsm
sm
md
lg

“เฉลิมชัย” จวกนโยบายค่าแรง 300 บ.เขียนเลี่ยงบาลี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“เฉลิมชัย” ติงนโยบายค่าจ้าง 300 บ.ของรัฐบาล “ยิ่งลักษณ์” ขาดการศึกษาข้อมูลเชิงลึก เขียนนโยบายเลี่ยงบาลี ตั้งคำถาม “กิตติรัตน์” ไม่เข้าใจค่าแรงขั้นต่ำ เย้ยตามรอยนโยบายค่าแรงตามาตรฐานฝีมือแรงงานของรัฐบาล “อภิสิทธิ์” ด้านแกนนำแรงงาน ชี้ เปลี่ยนจากค่าจ้างเป็นรายได้ ช่วยนายจ้างได้ลดภาษี 7% แต่แรงงานได้ค่าแรงเหมือนเดิม เหตุนำค่าสวัสดิการ-ค่าล่วงเวลาที่ได้อยู่แล้วมารวมเป็นรายได้ ต่างจากค่าจ้างขั้นต่ำที่แยกออกมา

จากกรณีเมื่อวันที่ 23 ส.ค.ที่ผ่านมา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีแถลงนโยบายด้านแรงงานต่อรัฐสภา ว่า จะดำเนินการให้แรงงานมีรายได้เป็นวันละไม่น้อยกว่า 300 บาท และผู้ที่จบปริญญาตรีมีรายได้ไม่น้อยกว่าเดือนละ 1.5 หมื่นบาท อย่างสอดคล้องกับผลิตภาพ และประสิทธิภาพของบุคลากรนั้น วันนี้ (24 ส.ค.) นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานในฐานะเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า จากการวิเคราะห์คำแถลงนโยบายของรัฐบาลของนายกรัฐมนตรี และคำชี้แจงของนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี ที่ดูแลด้านเศรษฐกิจ และ รมว.พาณิชย์ เป็นที่ชัดเจนว่า ทั้งคำชี้แจงและคำตอบด้านนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ที่บอกว่าจะทำทันทีทั่วประเทศ ไม่สามารถยืนยันได้ว่าจะทำได้จริง แต่เป็นการเขียนในลักษณะของการเลี่ยงบาลี

ทั้งนี้ ตนเข้าใจว่า การนำเรื่องค่าจ้าง 300 บาท มาเป็นนโยบายหาเสียง เป็นการทำตามกระแสช่วงเลือกตั้ง ไม่ได้มีการศึกษาข้อมูลมาก่อน ซึ่งเห็นได้จากหลังการเลือกตั้ง รัฐบาลไม่มีคำตอบว่าจะขึ้นค่าจ้าง 300 บาทได้เมื่อไร และมีวิธีการอย่างไร ตลอดจนถึงการแก้ปัญหาผลกระทบที่จะเกิดขึ้น

“ผมไม่รู้ว่ารองนายกฯด้านเศรษฐกิจเข้าใจเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทหรือไม่ เพราะการไปเขียนว่ามีรายได้วันละไม่ต่ำกว่า 300 บาท ตามทักษะฝีมือและความสามารถ ซึ่งการแถลงเช่นนี้เท่ากับเป็นการสานต่อนโยบายเดิมของรัฐบาลสมัยนายกฯอภิสิทธิ์ ได้ทำไว้ล่วงหน้าแล้ว คือ เรื่องของค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ซึ่งรัฐบาลใหม่สามารถสานต่อได้ทันทีไม่จำเป็นต้องประกาศเป็นนโยบาย”

นอกจากนี้ หากดูในรายละเอียดในนโยบายด้านแรงงาน ตนมองว่า ก็ไม่ได้มีการบรรจุเรื่องขึ้นค่าจ้าง 300 บาท เข้าไปเป็นนโยบายของรัฐบาลเลย ประกอบกับว่า ที่ผ่านมา ภาคเอกชนได้มีการเสนอผลกระทบต่างๆ จากการที่จะปรับขึ้นค่าจ้าง 300 บาท มองว่าเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้รัฐบาลตัดสินใจจะไม่บรรจุนโยบายเรื่องนี้ไว้ให้ชัดเจน

เมื่อถามว่า จะดำเนินการฟ้องตามมาตรา 53(5) ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และสรรหา ส.ว.ที่เกี่ยวกับการผิดสัญญาหาเสียงหรือไม่ นายเฉลิมชัย กล่าวว่า วันนี้คงต้องให้โอกาสและเวลารัฐบาลทำงานไปสักระยะหนึ่งก่อน จากนั้นจึงค่อยมาดูกระบวนการตามกฎหมายว่าจะดำเนินการได้อย่างไรบ้าง เพราะหากรัฐบาลทำตามนโยบายได้ก็จะเกิดประโยชน์ต่อประชาชนส่วนใหญ่ แต่ถ้าทำไม่ได้ก็ต้องว่ากันไปตามกฎหมาย

นายเฉลิมชัย กล่าวต่อว่า ส่วนนโยบายแรงงานด้านอื่นๆ เช่น การเพิ่มสิทธิประโยชน์ประกันสังคม การดูแลแรงงานต่างด้าว ในคำแถลงนโยบายก็ไม่มีระบุรายละเอียดในแนวทางปฏิบัติเอาไว้เลยเช่นกัน

ด้านนายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า การเปลี่ยนจากค่าจ้างขั้นต่ำตามที่รัฐบาลได้หาเสียงไว้ก่อนหน้านี้เป็นรายได้ไม่น้อยกว่า 300 บาทนั้น แตกต่างกันมาก เพราะรายได้นั้นจะรวมถึงค่าสวัสดิการ ค่าครองชีพ ค่าทำงานล่วงเวลา ค่าอาหาร ค่ารถ ที่สามารถนำมารวมกับค่าจ้างขั้นต่ำเดิม ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่แรงงานได้รับอยู่แล้ว ถ้าใช้นโยบายนี้จะเท่ากับว่ารัฐบาลไม่ได้ช่วยอะไรลูกจ้าง หรือแรงงานเลย แต่ผู้ที่ได้ประโยชน์คือผู้ประกอบการที่ไม่ต้องจ่ายค่าแรงเพิ่ม แต่ได้รับการลดหย่อนภาษี 7% ซึ่งการบิดในลักษณะนี้เท่ากับว่าลูกจ้างไม่ได้อะไรเลย

“ส่วนจะต้องปรับตามประสิทธิภาพและผลิตผลนั้นก็ไม่ได้เป็นสิ่งที่ได้หาเสียงไว้ตั้งแต่ต้น หมายความว่าต้องให้ไปฝึกก่อนถึงจะได้ตามรายได้ที่กำหนดไว้ ซึ่งแตกต่างจากค่าจ้างขั้นต่ำที่จะมีฝีมือหรือไม่มีฝีมือก็ต้องได้รับค่าจ้างขั้นต่ำไปก่อน ส่วนจะมีการฝึกอบรม หรือพัฒนาฝีมือนั้นเป็นเรื่องในภายหลัง” นายชาลี กล่าว

น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธาน คสรท.กล่าวว่า ค่าจ้างขั้นต่ำนั้นคือการอยู่ในกรอบของกฏหมายที่กำหนดให้ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ตั้งแต่วันแรกที่เข้าทำงาน ส่วนค่าครองชีพ ค่าทำงานล่วงเวลา เบี้ยขยัน โบนัส ค่าอาหาร ค่ารถ ถือเป็นสวัสดิการที่นอกเหนือจากที่กฏหมายกำหนดไว้ จะต้องแยกออกมาจากค่าจ้างขั้นต่ำ ที่ลูกจ้างจะต้องได้ต่างหาก

“ตอนหาเสียงบอกว่าจะขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ทันทีพร้อมกันทั่วประเทศ แต่พอมาเป็นรัฐบาลแล้ว จะมาบิดเบือนคำพูดของตัวเองไม่ได้ เพราะรายได้ไม่เกี่ยวกับค่าจ้างขั้นต่ำเป็นคนละเรื่องกัน ซึ่งอยากให้นายกฯหญิงทบทวน ถึงนโยบายและสิ่งที่ตัวเองพูดด้วย” น.ส.วิไลวรรณ กล่าว

ทั้งนี้ ในวันที่ 5 ก.ย.นี้ ทาง คสรท.จะมีการประชุมเรื่องค่าจ้าง จากการรวบรวมข้อมูลค่าครองชีพตามความเป็นจริงของแรงงานในเขตปริมณฑลและในต่างจังหวัด เพื่อแถลงเป็นข้อมูลต่อไป

วันเดียวกัน นายกงกฤช หิรัญกิจ ประธานนโยบายสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวถึง นโยบายด้านแรงงาน ที่รัฐบาลแถลงต่อรัฐสภา โดยจะดำเนินการให้แรงงานมีรายได้เป็นวันละไม่น้อยกว่า 300 บาท และผู้ที่จบปริญญาตรีมีรายได้ไม่น้อยกว่าเดือนละ 1.5 หมื่นบาทอย่างสอดคล้องกับผลิตภาพและประสิทธิภาพของบุคลากรว่าเป็นเรื่องน่าดีใจ ที่รัฐบาลเปลี่ยนนโยบายจากค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท เป็นรายได้รวม 300 บาท เพราะในกลุ่มธุรกิจการการท่องเที่ยว ส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 80 เป็นธุรกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม หรือ เอสเอ็มอี ซึ่งจะไม่ได้ประโยชน์หากรัฐใช้มาตรการลดภาษีนิติบุคคลมาใช้ ขณะที่อัตราการจ่ายค่าจ้างของธุรกิจท่องเที่ยวในปัจจุบัน อยู่ที่ประมาณ 200 บาทบวกลบ เมื่อ รวมกับสวัสดิการอื่นเช่น อาหารทุกมื้อ ชุดพนักงาน หรือรถรับส่ง ก็จะพอๆกับรายได้ 300 บาทที่รัฐบาลประกาศเป็นนโยบาย และทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวสามารถปรับตัวได้ง่ายขึ้น

นายกงกฤช กล่าวอีกว่า ส่วนนโยบายเงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาท นั้น ยอมรับว่า อาจทำให้ผู้ประกอบการ หันมารับแรงงานที่มีระดับการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี เช่น อาชีวศึกษา ซึ่งอาจส่งผลกระทบในระยะยาวต่อประสิทธิภาพของบุคคลากรด้านการท่องเที่ยวในอนาคต
กำลังโหลดความคิดเห็น