xs
xsm
sm
md
lg

คสรท.ยี้ข้อเสนอลดเงินสมทบนายจ้างเข้า สปส.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สปส.แจงลดเงินสมทบนายจ้างจาก 5% เหลือ 3% ใน 1 ปี หวังอุ้มนายจ้างรับผลกระทบปรับขึ้นค่าจ้าง 300 บ.เป็นข้อเสนอของสภาอุตฯ หากปรับต้องนำเรื่องเข้า คกก.ประกันสังคม ด้าน คสรท.ค้านเต็มที่ ชี้ อย่านำเรื่องมาปนกัน ควรพัฒนาฝีมือแรงงานแล้วช่วยด้านภาษีมากกว่า ขู่ ออกมาเคลื่อนไหว หากนายจ้างไม่จ่ายสมทบ ลูกจ้างก็ไม่จ่าย

จากกรณีมีกระแสข่าวว่า สำนักงานประกันสังคม (สปส.) เสนอแนวทางช่วยเหลือนายจ้างที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายของปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ต่อกระทรวงแรงงาน โดยให้นายจ้างที่ได้รับผลกระทบลดการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมจากปัจจุบันอยู่ที่ 5% ลดเหลือ 3% เป็นเวลา 1 ปี ซึ่งจะทำให้เงินสมทบกองทุนประกันสังคมหายไป 1 หมื่นล้านบาทนั้น

นายปั้น วรรณพินิจ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ขอยืนยันว่า ข้อเสนอข้างต้นไม่ใช่แนวคิดของตนเอง แต่เป็นข้อเสนอของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ซึ่งได้มีการประชุมหารือกับหน่วยงานต่างๆ ในเรื่องนโยบายปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน เมื่อเร็วๆ นี้
ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
ผมคงไม่บ้าเลือดเสนอข้อเสนอแบบนี้ และหากจะมีการดำเนินการในเรื่องนี้ ก็จะต้องเสนอเรื่องและดำเนินการผ่านมติของคณะกรรมการประกันสังคม ไม่ใช่เรื่องที่อยู่ๆ จะเสนอต่อกระทรวงแรงงานได้ทันที อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ สปส.กำลังศึกษาเรื่องการเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้แก่ผู้ประกันตนทั้ง 7 กรณี เช่น การักษาพยาบาล เงินออมชราภาพ ” เลขาธิการ สปส.กล่าว

นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับข้อเสนอของ ส.อ.ท.เพราะเงินสมทบเป็นเรื่องของสิทธิประโยชน์ และความมั่นคงในชีวิตของแรงงาน ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน จึงไม่ควรนำ 2 เรื่องนี้มาปะปนกัน หากจะทำตามข้อเสนอนี้ ก็เชื่อว่า น่าจะผิดกฎหมายประกันสังคม ถ้าจะลดผลกระทบที่เกิดขึ้นแก่นายจ้าง กระทรวงแรงงานควรไปดูกฎหมายในเรื่องอื่นๆ ที่ช่วยลดผลกระทบแก่นายจ้าง เช่น การพัฒนาฝีมือแรงงาน ซึ่งนายจ้างดำเนินการแล้วได้รับสิทธิประโยชน์ลดหย่อนภาษี

“การหามาตรการช่วยลดผลกระทบจากนโยบายค่าจ้าง 300 บาทต่อวัน ให้แก่นายจ้างของกระทรวงแรงงานและภาคเอกชน เช่น ส.อ.ท.จะต้องทำโดยไม่ให้มีผลกระทบต่อสิทธิประโยชน์และสวัสดิการของลูกจ้าง ไม่ใช่พอหามาตรการอื่นๆ แก้ปัญหาไม่ได้ ก็หันมาลดสิทธิประโยชน์และสวัสดิการของลูกจ้าง ทั้งนี้ นายจ้างได้กำไรมากมายก็ควรเจียดเงินกำไรมาเพิ่มค่าจ้างให้แก่ลูกจ้าง ไม่ใช่หันมาใช้วิธีลดสวัสดิการลูกจ้าง อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลมีนโยบายดำเนินการตามข้อเสนอของ ส.อ.ท.ฝ่ายลูกจ้างก็จะไม่จ่ายเงินสมทบ 5% เข้ากองทุนบ้างเช่นกัน และจะออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านในเรื่องนี้ เพราะไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้าง” ประธาน คสรท.กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น