xs
xsm
sm
md
lg

แรงงานเอจีซีร้องถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แรงงานเอจีซี ร้องถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรม บริษัทไม่แจ้งล่วงหน้าตามกฎหมาย อ้างผลิตงานไม่ได้  วอน ก.แรงงาน ช่วยเจรจาบริษัทรับกลับเข้าทำงาน
               

วันนี้ (11 ส.ค.) ที่ กระทรวงแรงงาน นายชาลี ลอยสูง  ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) พร้อมด้วยพนักงานของบริษัท เอจีซี อิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด จำนวน 30 คน ได้เดินทางมายื่นหนังสือเรียกร้องขอความเป็นธรรม กรณีบริษัทประกาศเลิกจ้างกรรมการ สหภาพแรงงาน เอจีซี สัมพันธ์แห่งประเทศไทย และสหภาพแรงงาน เอจีซี เทคโนโลยี ประเทศไทย และสมาชิก รวม 61 คน
               

นายสมนึก บุญโฉม คณะกรรมการสหภาพแรงงาน เอจีซี เทคโนโลยี ประเทศไทย กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา บริษัทได้อ้างว่า บริษัทคู่ค้าไม่รับสินค้าที่ผลิต เนื่องจากอ้างว่าสินค้าไม่ได้คุณภาพตามมาตรฐานที่กำหนด  จึงได้มีการประกาศใช้มาตรา 75 ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ที่กำหนดให้นายจ้างต้องจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างไม่ต่ำกว่าร้อยละ 75 ของค่าจ้างในวันทำงานก่อนนายจ้างหยุดกิจการตลอดระยะเวลาที่นายจ้างไม่ได้ให้ลูกจ้างทำงาน จนปีนี้นายจ้างก็ยังอ้างในลักษณะเช่นเดิม พร้อมประกาศใช้มาตรา 75 โดยประกาศในวันที่ 12 ก.ค.และลงวันที่ 11 ก.ค.ซึ่งขัดต่อ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ในการใช้มาตรา 75 ที่จะต้องประกาศให้ทราบก่อนใช้จริง 3 วัน

               

 

ทั้งนี้ ในหนังสือดังกล่าวไม่ได้ลงวันที่สิ้นสุดการใช้มาตรา 75 และในวันที่ 18 ก.ค.นายจ้างได้ส่งข้อความเลิกจ้างเข้าโทรศัพท์ของพนักงานทั้ง 61 คน โดยทางสหภาพ และผู้ถูกเลิกจ้างมองว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรม เพราะอยู่ระหว่างการประกาศใช้มาตรา 75
           

“มองว่า บริษัทต้องการจะล้มล้างสหภาพฯ เนื่องจากทางสหภาพฯ จะเข้าไปติดตามทวงถามสิทธิ์ให้กับพนักงาน ส่วนที่อ้างว่าสินค้าไม่ได้คุณภาพ ก็ไม่รู้ว่าจริงเท็จประการใด ทุกครั้งที่เกิดปัญหาก็มักจะบอกว่าเป็นเพราะสินค้าไม่ได้คุณภาพ ลูกค้าไม่ยอมรับ ทำให้ต้องปิดไลน์การผลิต จึงอยากเรียกร้องให้ทางบริษัทรับพนักงานทั้งหมดกลับเข้าทำงาน เพราะการถูกเลิกจ้างครั้งนี้ ไม่ได้กระทบเฉพาะกับตัวพนักงานเท่านั้น แต่ยังกระทบไปถึงครอบครัว พ่อ แม่ ลูก ยังรวมถึงสังคมด้วย เช่น ไม่มีเงินค่าบัตรเครดิต” นายสมนึก กล่าว
               

นายชาลี กล่าวว่า   พนักงานที่ถูกเลิกจ้างมีความต้องการที่จะกลับเข้าทำงานเหมือนเดิม แต่บริษัทไม่ยินยอมที่จะรับกลับเข้าทำงาน  ซึ่งสาเหตุที่ถูกเลิกจ้างน่าจะมาจากความไม่เข้าใจ  เพราะไม่ได้มีการบอกกล่าวล่วงหน้า เมื่อไปทวงถามเข้า ก็ถูกหาว่าไปปิดล้อม ทั้งนี้ ในส่วนที่บริษัทได้ทำผิดกฎหมายของการประกาศใช้มาตรา 75 ที่ตามกฎหมายของ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน กำหนดไว้ คือ จะต้องแจ้งให้ลูกจ้างทราบล่วงหน้า 3 วัน ก่อนประกาศใช้มาตรา 75 ดังนั้น เมื่อออกประกาศเมื่อวันที่ 12 ก.ค.แล้วใช้เลย จึงถือว่าทำผิดโดยในวันที่ 22 ส.ค.นี้ จะมีการนัดเจรจากับทางนายจ้างอีกครั้ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  นายปกรณ์ อมรชีวิน รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ได้เป็นผู้รับเรื่องซึ่งได้พูดคุยถึงขั้นตอนกระบวนการถูกเลิกจ้างและรับปาก ว่า จะช่วยดูแลในเรื่องดังกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น