xs
xsm
sm
md
lg

จับตาค่าแรง 300 “รบ.ปู” ป่วนแน่! ส.อ.ท.ดับเครื่องชน “ปลอด” เหน็บกลุ่มทุนแทนคุณแผ่นดิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
ค่าแรงขั้นต่ำ 300 จ่อทดสอบกึ๋น “รบ.ปู” ทำได้จริงหรือแค่หาเสียง “บิ๊ก ส.อ.ท.” เตรียมนำถก กกร.ในวาระพิเศษ วันพุธนี้ เพื่อผลักดันเข้าเจรจากับว่าที่ รบ.ใหม่ ในเวที กรอ. ขณะที่แกนนำ คสรท.ยกพลบุก “เพื่อไทย” ทวงสัญญา-ขีดเส้นให้เวลา 6 เดือน พาม็อบบุกแน่ แนะ รบ.ใหม่ ไม่ต้องสนใจกลุ่มทุน แต่ให้ดูโลกความเป็นจริง ชี้ ควรได้วันละ 400 บาท เหมือนกับประเทศในเอเชีย แต่ต้องคุมเข้มแรงงานต่างด้าว “ปลอด” เหน็บกลับผู้ประกอบการที่ชอบประกาศทดแทนคุณแผ่นดิน วันนี้ต้องถือเป็นโอกาสดี ด้วยการเพิ่มค่าแรงช่วยเหลือคนจน ลั่น 300 บาท ต้องได้ทั่วประเทศ

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวถึงความคืบหน้าในการรับมือนโยบายค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาทของพรรคเพื่อไทย (พท.) โดยระบุว่า ในวันพุธที่ 20 กรกฎาคม 2554 เวลา 08.30 น.คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ซึ่งประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, สมาคมธนาคารไทย และ ส.อ.ท.ได้นัดประชุมวาระพิเศษ เพื่อระดมความคิดเห็นต่างๆ อย่างรอบด้านของทั้ง 3 องค์กร ในประเด็นดังกล่าว

นายพยุงศักดิ์ กล่าวยอมรับว่า ขณะนี้นโยบายของรัฐบาลยังไม่ออกมาชัดเจน แต่เพื่อความไม่ประมาท ส.อ.ท.ต้องการหารือกับรัฐบาลผ่านเวทีคณะกรรมการร่วมภาครัฐเอกชน (กรอ.) ในเรื่องการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท ซึ่งในเบื้องต้นจากการติดตามสื่อ พบว่า ได้รับการตอบรับที่ดี ดังนั้น กกร.หวังว่า ข้อสรุปจากการประชุมนัดพิเศษที่จะมีขึ้นในวันพุธที่จะถึงนี้ เพื่อจะได้มีโอกาสนำไปหารือกันว่าที่รัฐบาลใหม่ในเวที กรอ.ในที่สุด

ประธาน ส.อ.ท.กล่าวว่า ภาคเอกชนเห็นด้วยกับหลักคิดเรื่องการดูแลสภาพความเป็นอยู่ของแรงงาน ดังจะเห็นได้จากปัจจุบันเกิดภาวะขาดแคลนแรงงานส่งผลให้ผู้ประกอบการแข่งขันกันรักษาแรงงานของตนไว้ ซึ่งเห็นได้จากแต่ละโรงงานมีการจัดสวัสดิการต่างที่นอกเหนือจากค่าจ้างให้แก่แรงงานแก่พนักงานอยู่แล้ว หากรวมมูลค่าก็สูงกว่าการจ่ายค่าแรงขั้นต่ำอยู่แล้ว ในส่วนของการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท รัฐบาลใหม่น่าจะพิจารณาให้มีการดำเนินการอย่างมีเงื่อนไข และควรพิจารณาทยอยปรับขึ้นอย่างเป็นขั้นตอน

“ปกติแล้ว แรงงานที่อยู่ในกลุ่มที่จะได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ มักเป็นแรงงานไร้ฝีมือ ไม่มีทักษะพิเศษ ซึ่งจะเห็นได้จากการมีอายุการทำงานน้อย ยังไม่มีประสบการณ์ในการทำงาน กลุ่มเหล่านี้พิจารณาได้จากทะเบียนประกันสังคม กลุ่มนี้หากจะได้รับค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท ควรมีทักษะพิเศษบางอย่างที่เหมาะกับตำแหน่งงาน”

นายพยุงศักดิ์ กล่าวว่า หากแรงงานไทยได้ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท ในส่วนของแรงงานต่างด้าวที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมแรงงานก็จะได้รับการดูแลด้วย ตามหลักการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) และต้องเป็นแรงงานที่มีทักษะได้มาตรฐาน เช่น สามารถสื่อสารภาษาไทยได้ ทำให้การทำงานราบรื่น ไม่มีอุปสรรคด้านภาษี หรือมีทักษะพิเศษที่เหมาะสมกับตำแหน่งงาน เป็นต้น

สำหรับ ส.อ.ท.ยังคงยืนยันผลประชุมคณะกรรมการบริหารใน 5 ประเด็น ดังนี้ 1.ส.อ.ท.ไม่เห็นด้วยกับการปรับค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศ เพราะจะกระทบต่อระบบเศรษฐกิจในภาพรวม และต้องการให้รัฐบาลพิจารณาอย่างรอบคอบ 2.การปรับค่าจ้างขั้นต่ำควรปรับตามกลไกตลาด 3.ให้คณะกรรมการค่าจ้างกลาง (ไตรภาคี) เป็นผู้พิจารณาปรับค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมายแรงงาน โดยไม่มีการกดดันจากภาคการเมือง 4.หากรัฐบาลจะปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท จะต้องมีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการในการจ่ายส่วนต่างค่าจ้าง เพื่อให้ผู้ประกอบการอยู่รอด และ 5.ส.อ.ท.พร้อมหารือกับภาครัฐในการปรับขึ้นค่าจ้าง เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อทุกฝ่าย

ด้าน นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสามานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) เดินทางมายื่นหนังสือสนับสนุนการขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำเป็น 300 บาท ในอัตราเดียวกันทั่วประเทศต่อพรรคเพื่อไทย (พท.) พร้อมระบุว่า พรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งและเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งถือเป็นโอกาสสำคัญของพรรคในการเดินหน้าทำตามนโยบายที่หาเสียงไว้กับประชาชน โดยเฉพาะการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันในอัตราเดียวกันทั่วประเทศ พร้อมกับขึ้นเงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาท

เนื่องจากตามสภาพความเป็นจริงแล้ว แรงงานไทยควรได้เงินอยู่ที่ประมาณ 400 บาทต่อวัน แต่ปัจจุบันได้เพียง 215 บาท ซึ่งไม่พอสำหรับการเลี้ยงชีพ พรรคเพื่อไทยไม่ต้องสนใจกระแสทักท้วงจากภาคอุสาหกรรม แต่ให้ดูสภาพความเป็นจริง เพราะเวลานี้ค่าแรงของประเทศเอเชียสูงกว่าไทยทั้งสิ้น

“เราจะให้โอกาสพรรคเพื่อไทย 6 เดือน ในการทำตามนโยบาย หากไม่ทำตามที่ประกาศไว้ก็จะดูทบทวนมาตรการอีกครั้ง ส่วนเรื่องแรงงานต่างด้าวที่จะเข้ามาในประเทศนั้น แต่ต้องมีการขึ้นทะเบียนแรงงานให้ถูกกฎหมาย หากขึ้นทะเบียนถูกต้อง แรงงานต่างด้าวก็จะได้ค่าแรงขั้นต่ำเท่ากับแรงงานไทย จะมาใช้สองมาตรฐานไม่ได้ นอกจากนี้ รัฐบาลต้องควบคุมแรงงานที่ข้ามแดนมาอย่างผิดกฎหมายด้วย”

นอกจากนี้ พรรคเพื่อไทยควรสานงานด้านแรงงานต่อจากรัฐบาลเก่าในเรื่องสิทธิแรงงานและการสนับสนุนการรวมตัว การปฏิรูประแบบแรงงานสัมพันธ์ โดยสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ฉบับแรงงาน เพื่อให้ผู้ใช้แรงงานอยู่ภายใต้กฎหมายฉบับเดียวกัน เป็นไปตามอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และ 98

นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า นโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท พรรคได้อธิบายน้อยไป เพราะเราดูความสมดุลทั้งนายจ้างและลูกจ้าง คำนวณทุกแง่มุมแล้ว แบ่งเป็นเป็น 5 ข้อ ได้แก่ 1.รายได้ผู้ใช้แรงงาน ไม่พอต่อค่าครองชีพในแต่ละวันจำเป็นต้องเพิ่มโดยขั้นต้นกำหนดที่ 300 บาทต่อวัน

2.ทุกคนมีความเท่ากัน ดังนั้น การให้ความเคารพต่อความเป็นคนจึงจำเป็นต้องเท่ากันหมด 3.คนจากต่างจังหวัดทั้งชายและผู้หญิง ที่จบการศึกษาในระดับหนึ่ง การเข้ามาในเมืองใหญ่ๆ จะทำให้เกิดสลัม รถติด จึงไม่อยากให้เข้ามา 4.การย้ายถิ่นฐานออกจากชนบท จะทำให้ให้พ่อแม่ สังคม ว้าเหว่ จึงอยากให้อยู่พื้นที่ของตน เพื่อให้สังคมเข้มแข็ง

5.การที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี บอกว่า การเคลื่อนย้ายสังคมชนบท เป็นการขโมยสติความรู้มาจากเมืองอื่น และด้อยด้วยแรงงาน จะทำให้สังคมไม่เจริญ ดังนั้น ต้องให้คนอยู่กับที่ และสนับสนุนคนที่นั่นให้เจริญ เมื่อเมืองเจริญ ผู้ประกอบการก็รายได้ดี จึงเป็นเหตุผลเบื้องต้นและอยากให้ค่าจ้างแรงงานไปถึง 1 พันบาทด้วย

นอกจากนี้ พรรคยังมีแนวคิดสร้างเมืองหลวงที่ภูมิภาค เพราะเมื่อเราตรึงคนให้อยู่ในพื้นที่ได้ ก็สามารถสร้างเมืองให้เจริญเท่า กทม.โดยเลือกจังหวัดที่แข็งแรงที่สุด และพัฒนาเป็นมณฑลแบบประเทศจีน ทั้งนี้ พรรคมองทุกเรื่องเรื่องเชื่อมโยงกัน

“ขอให้ผู้ประกอบการที่ชอบประกาศทดแทนคุณแผ่นดิน วันนี้ถือเป็นโอกาสด้วยการช่วยเหลือ ดังนั้น ไม่อยากให้มาต่อต้าน อยากให้มองยาวๆ ไม่ใช่ห่วงแค่เรื่องเฉพาะหน้า” นายปลอดประสพ กล่าวสรุป
กำลังโหลดความคิดเห็น