xs
xsm
sm
md
lg

สภาอุตฯเหนือค้านขึ้นค่าแรง 300 ชี้การเมืองโยนเผือกร้อนใส่เอกชน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - สภาอุตสาหกรรมภาคเหนือแถลงข่าวไม่เห็นด้วยขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ ชี้ กระทบหนักผู้ประกอบการต้นทุนเพิ่ม-SMEs ตาย เผย สภาอุตสาหกรรมหลายจังหวัดภาคเหนือ วิตกนโยบายเตรียมนำเสนอข้อมูลผ่าน ส.อ.ท.กับ ส.ส.ในพื้นที่ ชี้ทางแก้ทำได้หลายวิธี แต่ทั้งรัฐ-ผู้ประกอบการต้องมาหารือกัน พร้อมบอกฝ่ายการเมืองคิดประชานิยมต้องดูว่าทำได้จริงด้วย ไม่ใช่คิดแล้วโยนเผือกร้อนต่อให้เอกชน

วันนี้ (13 ก.ค.) ที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลพลาซาเชียงใหม่ แอร์พอร์ต สภาอุตสาหกรรมภาคเหนือ นำโดย นายยุทธพงศ์ จีระประภาพงศ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมภาคเหนือ และ นายวีระยุทธ สุขวัฑฒโก รองประธานสภาอุตสาหกรรมภาคเหนือ ร่วมกันแถลงข่าว เรื่องการปรับอัตราค่าจ้าง 300 บาท

การแถลงข่าวของสภาอุตสาหกรรมภาคเหนือในครั้งนี้ มีขึ้นหลังจากที่เมื่อวานนี้ (12 ก.ค.) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มีมติไม่เห็นด้วยกับนโยบายการปรับค่าจ้างแรงขั้นต่ำขึ้นเป็นวันละ 300 บาททั่วประเทศ ภายหลังรัฐบาลชุดใหม่มีแผนที่จะนำเรื่องดังกล่าวมาปฏิบัติ ตามนโยบายที่พรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลได้หาเสียงไว้ในการเลือกตั้งที่ผ่านมา

นายยุทธพงศ์ จีระประภาพงศ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมภาคเหนือ กล่าวว่า สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยมีมติ 5 ข้อที่เตรียมจะนำเสนอต่อรัฐบาลชุดใหม่เกี่ยวกับกรณีดังกล่าว ได้แก่

1.ไม่เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าวเพราะจะกระทบต่อเศรษฐกิจภาพรวม 2.การปรับขึ้นค่าจ้างต้องให้เป็นไปตามกลไกตลาดที่สอดคล้องกับการขึ้นค่าครองชีพ 3.ให้คณะกรรมการไตรภาคีเป็นผู้พิจารณาค่าจ้างอย่างอิสระโดยไม่มีนักการเมืองเข้ามากดดัน

4.หากรัฐบาลยืนยันจะปรับค่าแรง 300 บาทให้ได้ ควรนำงบประมาณมาชดเชยส่วนต่างแก่ผู้ประกอบการ เหมือนนโยบายรับจำนำข้าวตันละ 15,000 บาท ที่รัฐบาลช่วยเหลือเกษตรกร และ 5. ให้ภาคเอกชนหารือกับรัฐบาลชุดใหม่ในการพิจารณาขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ เพื่อไม่ให้กระทบต่อระบบเศรษฐกิจ

นายยุทธพงศ์ กล่าวต่อไปว่า ผู้ประกอบการไม่ได้ค้านการขั้นค่าแรง แต่อยากให้ภาครัฐมีนโยบายที่ค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถปรับตัวได้ เพราะหากขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเท่ากันทั่วประเทศ ต้นทุนในส่วนนี้ที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลกระทบ ทั้งต่อผู้ประกอบการและประชาชนที่ต้องแบกรับต้นทุนผ่านราคาสินค้าที่จะเพิ่มสูงขึ้น

ด้าน นายวีระยุทธ สุขวัฑฒโก รองประธานสภาอุตสาหกรรมภาคเหนือ กล่าวว่า จากการสอบถามความเห็นจากสภาอุตสาหกรรมจังหวัดต่างๆ ในเขตภาคเหนือตอนบน ล้วนมีความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกัน กล่าวคือมีความวิตกกังวลว่าหากมีการดำเนินนโยบายดังกล่าว จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างมาก เนื่องจากจะทำให้ต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นนี้ภาระจะตกอยู่กับประชาชน ที่จะได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าและบริการที่เพิ่มสูงขึ้นตามต้นทุน

ขณะที่ผู้ส่งออกจะประสบปัญหาไม่สามารถเพิ่มราคาขายสินค้าได้ทั้งที่ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น โดยต้องแบกรับภาระต้นทุนในส่วนนี้เอง

นอกจากนี้ ยังมีการคาดการณ์ด้วยว่าการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ อาจส่งผลให้เกิดการย้ายฐานการผลิตในหลายพื้นที่ เนื่องจากมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้น เช่น ที่นิคมอุตสาหกรรมจังหวัดลำพูน เป็นต้น
นายวีระยุทธกล่าวต่อไปว่า ในส่วนของจังหวัดเชียงใหม่นั้นมีความเห็นว่า เมื่อมีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำแล้วจะทำให้ 1.ต้นทุนของผู้ประกอบการเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก อย่างเช่นที่เชียงใหม่ การขึ้นค่าแรงจะทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นอีก 66.67% 2.เป็นการแทรกแซงการทำงานของคณะกรรมการไตรภาคี 3.ทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น เนื่องจากพนักงานได้รับเงินเพิ่มแบบก้าวกระโดด

4.ผู้ประกอบการ SMEs มีต้นทุนเพิ่มสูงขึ้นจนไม่สามารถอยู่ได้ 5.สัดส่วนของค่าแรงที่เพิ่มขึ้นไม่ยุติธรรมในแต่ล่ะพื้นที่ 6.ค่าแรงจะเป็นสิ่งจูงใจให้แรงงานต่างด้าวทะลักเข้ามาในประเทศ 7.การลดภาษีเงินได้นิติบุคคลเหลือ 23% เกิดประโยชน์เฉพาะกับผู้ประกอบการรายใหญ่ และ 8.ผู้ประกอบการจะต้องปรับตัวด้วยการหันมาใช้เทคโนโลยีมากขึ้น ส่งผลให้การจ้างงานลดลง

สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าว รองประธานสภาอุตสาหกรรมภาคเหนือ กล่าวว่า มีหลายมาตรการที่ผู้ประกอบการเห็นว่าควรนำมาใช้ เช่น การชดเชยค่าแรงส่วนต่างในรูปแบบของคูปองหรือบัตรภาษี โดยอาจใช้ฐานข้อมูลของระบบประกันสังคมมาเป็นเกณฑ์ในการดำเนินการ การทยอยขึ้นค่าแรงตามลำดับโดยที่รัฐบาลเป็นผู้สนับสนุนค่าแรงส่วนที่เพิ่มขึ้นร่วมกับเอกชนตามกรอบระยะเวลา เมื่อครบกำหนดจึงปล่อยให้เอกชนเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด

การทยอยปรับค่าจ้างขึ้นปีละ 8% โดยผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการไตรภาคี หรือการจัดให้ค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ถูกนำมาใช้ในการกำหนดอัตราค่าจ้างตามาตรฐานฝีมือ เพื่อจูงใจให้แรงงานมีการพัฒนาฝีมือ และป้องกันไม่ให้ผลประโยชน์ตกอยู่กับแรงงานต่างด้าว ทั้งนี้มาตรการต่างๆ ที่กล่าวมานี้ รวมทั้งความเห็นของสภาอุตสาหกรรมจังหวัดต่างๆ ในภาคเหนือจะถูกนำเสนอผ่านสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยไปสู่รัฐบาลชุดใหม่ รวมทั้งจะประสานกับ ส.ส.ในพื้นที่ให้นำข้อมูลเหล่านี้เสนอต่อสภาด้วย

นายวีรยุทธ กล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตาม เรื่องดังกล่าวทั้งฝ่ายรัฐบาลและภาคอุตสาหกรรมจำเป็นที่จะต้องมาพูดคุยกันเพื่อหาทางออกที่เหมาะสม เพราะหากขึ้นค่าแรงไปแล้วผู้ประกอบการจะได้รับผลกระทบอย่างมาก ขณะเดียวกันหากไม่มีการขึ้นค่าแรงตามที่ฝ่ายการเมืองได้หาเสียงไว้ ผู้ใช้แรงงานก็อาจเกิดความไม่พอใจเช่นกัน

ทั้งนี้ อยากฝากถึงภาคการเมืองด้วยว่า การนำเสนอนโยบายประชานิยมใดๆ ก็ตามนั้น ควรจะพิจารณาความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติด้วยว่าสามารถทำได้จริงหรือไม่ ไม่ใช่นำมาหาเสียงไปก่อน แล้วกลับมาโยนเผือกร้อนให้กับผู้ประกอบการ
กำลังโหลดความคิดเห็น