xs
xsm
sm
md
lg

300บาทกทม. SMEชักแถวเจ๊ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน- "ยิ่งลักษณ์" ประชุมทีมเศรษฐกิจพร้อมปลัดคลัง เลขาสภาพัฒน์ คาดขึ้นค่าแรง 300 บาท เฉพาะกรุงเทพฯ ด้าน ส.อ.ท.ถกผลกระทบนโยบายประชานิยมเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันของรัฐบาลปูแดงวันนี้ ชี้ขึ้นทันทีทั่วประเทศเจ๊งแน่ ด้านบอร์ดค่าจ้างกลาง วาง 2 แนวทาง นายจ้างค้านขึ้นค่าจ้างพรวดเดียว กระทบทุกธุรกิจ

เมื่อเวลา 14.00 น.วานนี้ (11 ก.ค.) น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่าที่นายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานการประชุมคณะทำงาน ยกร่างนโยบายหาเสียงพรรคเพื่อไทย และทีมงานด้านเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทย เพื่อหารือแผนการปฏิบัติงานตามนโยบายที่ได้หาเสียงไว้ หลังพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล โดยครั้งนี้มีผู้บริหารระดับสูงของหลายหน่วยงานได้เข้าร่วมประชุมกันอย่างพร้อมเพรียง อาทิ นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง นายอาคม เต็มพิทยาไพศิษฐ์ เลขาธิการสภาพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจแห่งชาติ เข้าร่วมประชุม

**ขึ้นค่าแรง 300 เฉพาะกทม.ก่อน

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่าที่นายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุมหารือเพื่อเตรียมการด้านนโยบายว่า ในวันนี้(12 ก.ค.) ตนจะเชิญคณะทำงานด้านนโยบายเข้าหารือ เพื่อติดตามงานจากสัปดาห์ที่แล้วที่ได้พูดคุยกันไว้ว่ามีความคืบหน้าอย่างไรบ้างส่วนนโยบายการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวันนั้นจะขึ้นเฉพาะแรงงานใน กทม.หรือไม่ ตนขอรอความชัดเจนภายหลังจากที่คณะกรรมการการเลือกตั้งหรือ กกต.ได้ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการก่อน

ทั้งนี้มีรายงานว่าในการหารือของทีมเศรษฐกิจ จะมีการขึ้นค่าแรงเป็น 300 บาท เฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ ส่วนต่างจังหวัดจะมีการพิจารณาภายหลัง

***ส.อ.ท.ถกขึ้นค่าแรงขั้นต่ำวันนี้

นายสมมาต ขุนเศษฐ เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า วันนี้ (12) ส.อ.ท.จะหารือถึงนโยบายประชานิยมของรัฐบาลโดยเฉพาะประเด็นการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน รวมถึงการปรับเงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาทต่อเดือน เนื่องจากนโยบายดังกล่าวหากดำเนินการจริงเอกชนเห็นว่าควรจะมีกรอบระยะเวลาหรือหลักการที่ชัดเจนและคำนึงถึงแต่ละพื้นที่ด้วย ไม่เช่นนั้นจะกระทบต่อเศรษฐกิจไทยโดยรวม เนื่องจากเศรษฐกิจไทยต้องพึ่งพาการส่งออกถึง 70% การเพิ่มค่าจ้างดังกล่าว จะทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ไทยจะแข่งขันกับต่างประเทศลำบาก

นอกจากนี้ หากจะปรับขึ้นควรจะชัดเจนเรื่องระยะเวลา เนื่องจากผู้ส่งออกต้องเจรจาเรื่องการรับคำสั่ง(ออร์เดอร์)จากลูกค้าล่วงหน้า ซึ่งการขึ้นทันทีก็จะกระทบต่อคำสั่งซื้ออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะบางรายอาจไม่สามารถรับได้กับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น แต่ไม่สามารถต่อรองราคาที่เพิ่มได้จากลูกค้า ขณะเดียวกัน กรณีที่ระบุว่าจะไม่กระทบมากเพราะรัฐบาลจะลดภาษีนิติบุคคลลงมา ซึ่งข้อเท็จจริงแล้วบริษัทที่มีกำไรส่วนใหญ่เป็นบริษัทขนาดใหญ่เท่านั้น และหลักการภาษีดังกล่าวของไทยก็สูงกว่าเพื่อนบ้านหากไม่ลดการแข่งขันก็จะลำบาก

นายทวีกิจ จตุรเจริญคุณ รองประธานส.อ.ท.กล่าวว่า เอกชนไม่เห็นด้วยหากจะขึ้นทันที 300 บาทต่อวันทั่วประเทศ เพราะค่าครองชีพต่างกันและควรจะเป็นการพิจารณาผ่านคณะอนุกรรมการไตรภาคีซึ่งจะมีข้อมูลที่ชัดเจนอยู่แล้ว เพราะการขึ้นทันที 300บาทต่อวันทั่วประเทศเท่ากันหมดเอสเอ็มอีจะได้รับผลกระทบมาก

“ล่าสุดรัฐบาลลอกจะขึ้นเฉพาะเขตกรุงเทพฯจะปรับ 300 บาทต่อวัน พอรับได้ แต่ทั่วประเทศรับไม่ได้แน่ แถมราคาสินค้าก็ยังถูกควบคุมอีกแล้วไทยจะแข่งขันกับต่างประเทศอย่างไร เดี๋ยวนี้ผู้ซื้อเขาไม่โง่แล้วเขาต้องการสินค้าคุณภาพและราคาต่ำ อยากให้รัฐบอกมาเลยว่าจะขึ้นทันทีทั่วประเทศจะได้เตรียมตัวไม่ต้องรับออร์เดอร์การผลิต” นายทวีกิจกล่าว

***ชงกทม.-ภูเก็ต300บาทต่อวัน

วานนี้ (11 ) นายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังประชุมคณะกรรมการค่าจ้างกลาง (บอร์ดค่าจ้าง) ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาตามที่คณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดเสนอตัวเลข การปรับค่าจ้างของแต่ละจังหวัด ซึ่งขณะนี้ได้เสนอเข้ามาแล้วทุกจังหวัด ยกเว้นกทม. โดยมีจังหวัดที่ขอปรับค่าจ้าง 35 จังหวัด อยู่ที่ระหว่าง 2-28 บาท ส่วนอีก 40 จังหวัด เห็นว่าควรปรับในช่วงเดือนมกราคม 2555 ซึ่งที่ประชุมจะมีการหารือเรื่องนี้อีกครั้งในช่วงเดือนต้นส.ค.นี้

“ที่ประชุมเห็นว่ามาตรการลดภาษีนิติบุคคล ไปไม่ถึงธุรกิจเอสเอ็มอี และเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรง จึงมีข้อเสนอในที่ประชุมว่า น่าจะปรับค่าจ้างขั้นต่ำในจังหวัดกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 215 บาทต่อวัน และภูเก็ต ซึ่งอยู่ที่ 221 บาทต่อวัน ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีอัตราค่าจ้างขั้นต่ำสูงสุด เริ่มต้นให้ขึ้นไป 300 บาท หรือขึ้นประมาณ 40% ไปก่อน จากนั้นจะทยอยปรับค่าจ้างขั้นต่ำในจังหวัดอื่นๆ ในอัตรา 40 %จนกว่าจะได้รับจะได้ค่าจ้างขั้นต่ำที่ 300 บาทเท่ากันทุกจังหวัด” นายสมเกียรติ กล่าว

แนวทางดังกล่าวจะทำให้ต้นทุนการผลิตของนายจ้าง ซึ่งจากเดิมอยู่ที่ 10% เพิ่มขึ้นเป็น 14% ซึ่งรัฐบาลควรหามาตรการมารองรับส่วนต่างนี้ โดยใช้มาตรการลดหย่อนภาษี รวมถึงการพัฒนาฝีมือแรงงาน ที่ปัจจุบัน พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ.2545 ให้สิทธิประโยชน์สถานประกอบการที่จัดอบรมพัฒนาฝีมือแรงงาน นำค่าใช้จ่ายมาลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า ซึ่งจะเร่งประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการทราบมากขึ้น

นายอรรถยุทธ ลียะวณิช เลขาธิการสภาองค์การนายจ้างผู้ค้าและบริการเครื่องอุปโภคบริโภค ในฐานะกรรมการค่าจ้างกลาง ฝ่ายนายจ้าง กล่าวว่า มาตรการทางภาษีที่บอกว่าช่วยเหลือนั้น เป็นไปได้ยาก เพราะสถานประกอบการส่วนใหญ่ 80% เป็นเอสเอ็มอี ซึ่งไม่ได้เสียภาษีที่จะนำมาหักในครั้งนี้ ขณะที่อีก 20% เป็นบริษัทขนาดใหญ่และบริษัทข้ามชาติ แม้จะมีคนเสนอให้หักค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีก 2-3 เท่า แต่ก็ยังเป็นไปได้ยากเช่นกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น