xs
xsm
sm
md
lg

บอร์ดค่าจ้างรอ รมว.รง.ใหม่ เคาะขั้นต่ำ ชง กทม.-ภูเก็ต 300 ต่อวัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


บอร์ดค่าจ้างกลาง รอ รมว.แรงงานใหม่ เคาะปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ วาง 2 แนวทาง ทั้งปรับตาม 35 อนุค่าจ้างจังหวัดเสนอ อยู่ที่ 2-28 บาท  อีกแนวทางปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท เดือน ม.ค.ปีหน้า ประเดิมจังหวัดค่าจ้างสูงสุดใน กทม.-ปริมณฑล และ ภูเก็ต เสนอมาตรการอุ้มเอสเอ็มอี ลดภาษีพัฒนาฝีมือแรงงาน นายจ้างค้านขึ้นค่าจ้างพรวดเดียว กระทบทุกธุรกิจ แนะปรับขึ้นเป็นขั้นบันได


วันนี้ (11 ก.ค.) นายสมเกียรติ   ฉายะศรีวงศ์  ปลัดกระทรวงแรงงาน (รง.) เปิดเผยภายหลังประชุมคณะกรรมการค่าจ้างกลาง (บอร์ดค่าจ้าง) ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาตามที่คณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดเสนอตัวเลขการปรับค่าจ้างของแต่ละจังหวัด ซึ่งขณะนี้ได้เสนอเข้ามาแล้วทุกจังหวัด ยกเว้นกรุงเทพมหานคร โดยมีจังหวัดที่ขอปรับค่าจ้าง 35 จังหวัด อยู่ที่ระหว่าง 2-28 บาท ส่วนอีก 40 จังหวัด เห็นว่าควรปรับในช่วงเดือนมกราคม 2555 ซึ่งที่ประชุมจะมีการหารือเรื่องนี้อีกครั้งในช่วงเดือนต้นสิงหาคมนี้

นายสมเกียรติ กล่าวอีกว่า ที่ประชุมยังได้หารือนโยบายการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ ของรัฐบาลใหม่ โดยเห็นว่า เป็นเรื่องที่ดี ทำให้การดำรงของผู้ใช้แรงงานดีขึ้น แต่อยากฟังความชัดเจนด้านนโยบายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานคนใหม่ อย่างไรก็ตาม ทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่า เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในกาปรับค่าจ้างขั้นต่ำตามนโยบายดังกล่าว ควรพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน เพื่อให้ได้ผลงานที่ดีขึ้นและผลิตชิ้นงานได้มากขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องเข้มข้นเหมือนมาตรฐานฝีมือแรงงาน

           
“ที่ประชุมเห็นว่ามาตรการลดภาษีนิติบุคคล ไปไม่ถึงธุรกิจเอสเอ็มอี และเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรง จึงมีข้อเสนอในที่ประชุม ว่า น่าจะปรับค่าจ้างขั้นต่ำในจังหวัดกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 215 บาทต่อวัน และภูเก็ต ซึ่งอยู่ที่ 221 บาทต่อวัน ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีอัตราค่าจ้างขั้นต่ำสูงสุด เริ่มต้นให้ขึ้นไป 300 บาท หรือขึ้นประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ไปก่อน จากนั้นจะทยอยปรับค่าจ้างขั้นต่ำในจังหวัดอื่นๆ ในอัตรา 40 เปอร์เซ็นต์ จนกว่าจะได้รับจะได้ค่าจ้างขั้นต่ำที่ 300 บาทเท่ากันทุกจังหวัด อย่างไรก็ตาม จะต้องรอความชัดเจนจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานคนใหม่ว่าจะให้มีการปรับ ค่าจ้างขั้นต่ำอย่างไร” นายสมเกียรติ กล่าว

ปลัดแรงงาน กล่าวอีกว่า แนวทางดังกล่าวจะทำให้ต้นทุนการผลิตของนายจ้าง ซึ่งจากเดิมอยู่ที่ 10 เปอร์เซ็นต์ เพิ่มขึ้นเป็น 14 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งรัฐบาลควรหามาตรการมารองรับส่วนต่างนี้ โดยใช้มาตรการลดหย่อนภาษี รวมถึงการพัฒนาฝีมือแรงงาน ที่ปัจจุบัน พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ.2545 ให้สิทธิประโยชน์สถานประกอบการที่จัดอบรมพัฒนาฝีมือแรงงาน นำค่าใช้จ่ายมาลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า ซึ่งจะเร่งประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการทราบมากขึ้น

“เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ได้ไปพบ นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ซึ่งการหารือเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท และ นายจารุพงศ์ ไม่ได้สั่งการหรือกดดันใดๆ” ปลัดแรงงาน กล่าวและว่า ส่วนกรณีที่บริษัท ศึกษาภัณฑ์ ขอนแก่น จำกัด ปรับค่าจ้างขั้นต่ำไป 300 บาทนั้น ก็ถือเป็นตัวอย่างที่ดี หากบริษัทใดจะทำตาม ก็สามารถทำได้ เพราะไม่มีกฎหมายห้าม

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีแรงงานกัมพูชาทะลักเข้ามาในไทย เพื่อหวังค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท นายสมเกียรติ กล่าวว่า ปัจจุบันแรงงานต่างด้าวก็หลบหนีเข้ามาทำงานในไทยอยู่แล้ว แต่ก็เชื่อว่า นโยบายนี้มีส่วนจูงใจให้แรงงานต่างด้าวอยากเข้ามาทำงานในไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งตามข้อตกลงสากล และกฎหมายคุ้มครองแรงงานกำหนดให้แรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในไทยโดยถูกต้องตามกฎหมาย จะต้องได้รับค่าจ้างขั้นต่ำในอัตราเดียวกับคนไทย ทั้งนี้ ปัจจุบันมีแรงงานต่างด้าวที่ได้รับการพิสูจน์สัญชาติแล้วประมาณ 6.3 แสนคน และเข้ามาโดยเอ็มโอยูระหว่างไทย กับ กัมพูชา พม่า และ ลาว ประมาณ 5 หมื่นคน โดยในส่วนของแรงงานที่ได้รับการพิสูจน์สัญชาติแล้ว จะต้องไปดูกฎหมายคุ้มครองแรงงานว่า การได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทนั้น ครอบคลุมถึงแรงงานกลุ่มนี้หรือไม่

นายอรรถยุทธ  ลียะวณิช เลขาธิการสภาองค์การนายจ้างผู้ค้าและบริการเครื่องอุปโภคบริโภค ในฐานะกรรมการค่าจ้างกลาง ฝ่ายนายจ้าง  กล่าว ว่า ทุกองค์กรต่างก็พูดตรงกันว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะขึ้นค่าจ้าง 300 บาททีเดียว แต่หากทำเป็นขั้นบันไดก็พอที่จะมีความเป็นไปได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับสภาวะทางเศรษฐกิจ ส่วนมาตรการทางภาษีที่บอกว่าช่วยเหลือนั้น เป็นไปได้ยาก เพราะสถานประกอบการส่วนใหญ่ร้อยละ 80 เป็นเอสเอ็มอี ซึ่งไม่ได้เสียภาษีที่จะนำมาหักในครั้งนี้  ขณะที่อีก 20 เปอร์เซ็นต์ เป็นบริษัทขนาดใหญ่และบริษัทข้ามชาติ แม้จะมีคนเสนอให้หักค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีก 2-3 เท่า แต่ก็ยังเป็นไปได้ยากเช่นกัน

ผู้สื่อข่าวถามว่า ข้อเสนอที่ให้มีการปรับในส่วนของจังหวัดที่มีค่าจ้างสูงสุด ให้เป็น 300 บาทต่อวันไปก่อน นายอรรถยุทธ กล่าวว่า ต้องดูหลักเกณฑ์และสภาวะเศรษฐกิจ แต่การพิจารณาหลักเกณฑ์ใดๆ ที่มากเกินไป ก็เป็นเรื่องที่ทำไม่ได้ และเรื่องนี้ก็คงไม่ใช่แค่รอรัฐมนตรีแรงงานคนใหม่ เพราะนั่นเป็นเพียงแค่นโยบายทางการเมือง ส่วนจะถูกเข้ามาแทรกแซงหรือไม่ก็ต้องรออีกทีหนึ่ง ทั้งนี้ ในส่วนของนายจ้างทั้งหมดจะนัดหารือกันในประเด็นนี้ภายในสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้ แต่ต้องเข้าใจด้วยว่านายจ้างยินดีที่ให้มีการปรับค่าจ้าง ส่วนจะปรับเมื่อไรนั้นให้ดูเวลา

ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า  หากรัฐบาลชุดใหม่เอาจริงและให้ปรับค่าจ้างเป็น 300 บาทต่อวัน จะทำอย่างไร นายอรรถยุทธ กล่าวว่า นายจ้างก็ย่ำแย่ เพราะว่าร้อยละ 42 ของสถานประกอบการ ได้ทำสัญญาล่วงหน้าไว้แล้ว ดังนั้น จึงอาจจะต้องยกเลิกสัญญาดังกล่าว

นายสมพงษ์  นครศรี  ประธานกิตติมศักดิ์ และสมาชิกองค์การนายจ้าง ผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย ในฐานะกรรมการค่าจ้างกลาง ฝ่ายนายจ้าง   กล่าวว่า  การจะปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวัน  ถือว่ามากเกินไป เพราะจะทำให้นายจ้างลำบาก จึงอยากให้ฟังนายจ้างบ้าง ที่สำคัญ ควรพิจารณาในเรื่องการพัฒนาทักษะฝีมือให้มีความชำนาญ เพราะหากไม่มีการพัฒนาฝีมือ ก็อยู่ไม่ได้ เพราะการพิจารณาค่าจ้างก็เป็นอำนาจของไตรภาคี และการจะปรับลดในเรื่องภาษีบุคคลให้นั้นเป็นคนละเรื่องกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น