ปลัดแรงงาน ยันบอร์ดค่าจ้างเป็นอิสระ ไร้การเมืองแทรก ย้ำ การพิจารณาค่าจ้างต้องจบที่บอร์ด พร้อมรับฟังข้อมูลทุกฝ่าย ด้านกสร.ประเมินข้อดีข้อเสีย ชี้ ค่าจ้าง 300 บ.ทำแรงงานกว่าครึ่งคุณภาพชีวิตดีขึ้น ส่งผลเศรษฐกิจโตแถมรัฐได้เงินภาษีเพิ่ม ขณะที่อุตสาหกรรมสิ่งทอ รองเท้า ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เสี่ยงย้ายฐานการผลิต เตรียมมาตราการรองรับแรงงานถูกเลิกจ้าง
วันนี้ (13 ก.ค.) นายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน (รง.) ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้างกลาง (บอร์ด) กล่าวถึงกรณีที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) มีมติคัดค้าน นโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันของพรรคเพื่อไทย ว่า จะนำความเห็นในส่วนนี้เป็นข้อมูลในการพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งขณะนี้บอร์ดค่าจ้างกลางอยู่ในช่วงเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย เพื่อรวบรวมข้อมูลให้รอบด้านทั้งฝ่ายนายจ้างและลูกจ้าง เนื่องจากการปรับขึ้นค่าจ้างต้องใช้ความละเอียดและรอบคอบ
ผู้สื่อข่าวถามว่า การพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำของบอร์ดกลางถูกการเมืองแทรกแซงหรือไม่ นายสมเกียรติ กล่าวว่า ขอยืนยันว่า การทำงานของบอร์ดค่าจ้างกลางในระบบไตรภาคีมีความเป็นอิสระ โดยที่ฝ่ายการเมืองไม่สามารถมากดดันหรือสั่งการใดๆ ได้ และการทำงานตั้งแต่ตนมาเป็นประธานบอร์ดไม่มีข้อขัดแย้งในการทำงาน และการพิจารณาปรับค่าจ้างขั้นต่ำต้องจบลงที่บอร์ด ซึ่งมีกฎหมายรองรับ ซึ่งกรณีเรื่องของค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ทางฝ่ายการเมืองก็ไม่ได้เข้ามาสั่งการหรือกดดันใดๆ
“ส่วนข้อเสนอการจัดตั้งกองทุนเพื่อให้ผู้ประกอบการกู้ไปจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท โดยไม่คิดดอกเบี้ยและผ่อนส่งระยะยาวนั้นเรื่องนี้ยังไม่ได้มีการหารือใดๆ แต่หากดำเนินการจริงก็คงต้องใช้งบมหาศาล ซึ่งในส่วนของกระทรวงแรงงาน เห็นว่า ไม่ว่าจะมีการปรับขึ้นค่าจ้างจำนวนเท่าใดก็ต้องมีการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานให้ทำงานได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ จะต้องรอดูนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ว่าจะเป็นอย่างไร” นายสมเกียรติ กล่าว
ด้าน นางอัมพร นิติสิริ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวหลังประชุมผู้บริหาร กสร.ว่า ที่ประชุมได้วิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้ในการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน ว่า มีข้อดีข้อเสียอะไรบ้าง ซึ่งจากการประเมินข้อดีพบว่ามีหลายประเด็น ได้แก่ จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงาน เนื่องจากผู้ใช้แรงงานส่วนใหญ่ยังยากจน และที่ผ่านมา การปรับขึ้นค่าจ้างแต่ละครั้งไม่ได้ช่วยให้คุณภาพชีวิตของแรงงานดีขึ้น
ขณะที่ข้อมูลของสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ระบุว่า มีแรงงานที่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำประมาณ 5 ล้านคน จากทั้งหมดกว่า 9 ล้านคน ซึ่งถือเป็นคนส่วนใหญ่ที่ยังเดือดร้อน
นอกจากนี้ ยังช่วยลดภาวะการขาดแคลนแรงงาน เพราะเชื่อว่าค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน จะช่วยจูงใจให้แรงงานที่หลุดออกไปนอกระบบ เช่น แรงงานภาคเกษตร ผู้ประกอบอิสระอื่นๆ เข้าให้กลับสู่ตลาดแรงงานมากขึ้น ทำให้มีผลต่อเนื่องไปยังการจ้างแรงงานต่างด้าวที่จะมีอัตราลดลง เนื่องจากพฤติกรรมนายจ้างจะหันมาจ้างคนไทยมากขึ้น หากต้องจ่ายค่าจ้างในอัตรา เดียวกัน
ส่วนประเด็นต่อมา คือ จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวม และยังทำให้รัฐบาลมีรายได้จากภาษีเพิ่มขึ้น ทั้งจากภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีบุคคลธรรมดา ตลอดจนรายได้ที่จะเข้าสู่กองทุนประกันสังคม ก็จะมีเพิ่มขึ้นตามจำนวนแรงงานที่เข้าสูระบบมากขึ้น กองทุนก็จะมีเสถียรภาพมากขึ้นตามไปด้วย
สำหรับประเด็นเรื่องความเสี่ยงที่หลายฝ่ายกังวลเรื่องการย้ายฐานผลิตของผู้ประกอบการนั้น อธิบดี กสร.กล่าวว่า สถานการณ์ในปัจจุบันแม้จะไม่มีการขึ้นค่าจ้าง 300 บาท พบว่าในธุรกิจบางประเภท เช่น อุตสาหกรรมสิ่งทอ สิ่งถัก รองเท้า และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์พื้นฐานบางประเภท มีความเสียเปรียบประเทศเพื่อนบ้านในเรื่องเรื่องต้นทุนค่าแรงอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นแนวโน้มการย้ายฐานผลิตจึงไม่ใช่เรื่องใหม่
ทั้งนี้ จากการประเมินเบื้องต้นลูกจ้างที่อาจได้รับผลกระทบส่วนใหญ่จะเป็นสถานประกอบ การที่เน้นใช้แรงงานจำนวนมาก ปัจจุบันมีสถานประกอบการที่อยู่ในข่าย 12,839 แห่ง มีลูกจ้างทั้งหมด 588,000 คน ในจำนวนนี้ 20%เป็นกลุ่มเสี่ยงสุด
อธิบดี กสร.กล่าวต่อว่า กสร.ได้เตรียมมาตรการช่วยเหลือแรงงานที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากนโยบายปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน ซึ่งเชื่อว่า มีจำนวนไม่มากโดยเฉพาะแรงงานกลุ่มเสี่ยงจะใช้มาตรการแรงงานสัมพันธ์ โดยช่วยเหลือด้านสิทธิประโยชน์ให้แก่แรงงานที่ถูกเลิกจ้าง เช่น ชดเชยการถูกเลิกจ้าง ชดเชยการว่างงาน รวมทั้งของบอุดหนุนในการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานให้สอดคล้องกับความต้องการของนายจ้าง
อย่างไรก็ตาม ขอเตือนลูกจ้างว่า การที่ได้รับค่าจ้างเพิ่มขึ้นก็ต้องพัฒนาทักษะฝีมือให้ผลิตชิ้นงานได้มากขึ้นตามไปด้วย ทั้งนี้ จะต้องรอฟังนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ในเรื่องนี้ต่อไป