xs
xsm
sm
md
lg

กพร.เล็งปรับหลักสูตรพัฒนาฝีมือแรงงาน หลังพบนายจ้างอบรมไร้คุณภาพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
กพร.เล็งปรับหลักสูตรพัฒนาฝีมือแรงงาน หลังพบสถานประกอบการอบรมไร้คุณภาพ ปรับแนวทางให้สถานประกอบการส่งหลักสูตร-ค่าใช้จ่ายในการอบรมมาให้ กพร.พิจารณาก่อน พร้อมดันประกาศกระทรวงครอบคลุมสถานประกอบการที่มีลูกจ้าง 50 คนขึ้นไป ต้องอบรมลูกจ้าง ได้ลดภาษีตาม พ.ร.บ.เช่นกัน คาดเสนอ คกก.ช่วง ส.ค.นี้
 

นายพานิช จิตร์แจ้ง รองอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยผลประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน ซึ่งมีนายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานเมื่อเร็วๆ นี้ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ปรับแนวทางการฝึกอบรมพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานของสถานประกอบการ เช่น ช่างฝีมือสาขาต่างๆ พนักงานธุรการ บัญชี ซึ่งเดิม กพร.ให้สถานประกอบการสามารถส่งหลักสูตรและค่าใช้จ่าย มาให้พิจารณาก่อนหรือหลังการอบรมก็ได้ เพื่อให้รับสิทธิประโยชน์ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2554 เช่น  สถานประกอบการสามารถนำค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการฝึกอบรม มาขอลดหย่อนภาษีได้ถึง 200 เปอร์เซ็นต์  ทั้งนี้ พบว่าการจัดอบรมของสถานประกอบการส่วนหนึ่ง เป็นไปอย่างไม่มีคุณภาพ ดังนั้น จึงปรับแนวทางให้สถานประกอบการต้องส่งหลักสูตรและค่าใช้จ่ายในการอบรมมาให้ กพร.พิจารณาเพื่อให้การรับรองก่อนจัดฝึกอบรม อีกทั้ง กพร.จะส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบว่ามีการฝึกอบรมจริงหรือไม่ เพื่อให้การอบรมเป็นไปอย่างมีคุณภาพ  ซึ่งจะเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2555
 

รองอธิบดี กพร.กล่าวอีกว่า กพร.ยังได้เตรียมการรองรับแนวทางดังกล่าว โดยได้จัดทำโปรแกรมคอมพิวเตอร์บรรจุไว้ในเว็บไซต์ กพร. ที่ www.dsd.go.th เพื่อให้สถานประกอบการส่งหลักสูตรและค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมมาให้ กพร.ผ่านทางระบบอินเทอร์เน็ต เพื่อลดค่าใช้จ่ายในเรื่องเอกสารและการเดินทางให้แก่ผู้ประกอบการ ทั้งนี้จะมีการเปิดตัวระบบนี้ในวันที่ 8 กันยายนนี้ นอกจากนี้ ยังเตรียมเสนอคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน ให้ออกประกาศกระทรวงแรงงานตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน ขยายการอบรมทักษะฝีมือแรงงาน ให้ครอบคลุมไปถึงสถานประกอบการที่มีลูกจ้าง 50 คนขึ้นไป เพื่อให้การพัฒนาแรงงานครอบคลุมทั้งระบบ และสนับสนุนให้แรงงานเข้าสู่ระบบมาตรฐานฝีมือแรงงานมากขึ้น ซึ่งสถานประกอบการกลุ่มนี้ได้รับสิทธิประโยชน์การลดหย่อนหรือยกเว้นภาษี ตาม พ.ร.บ.เช่นกัน คาดว่าจะเสนอคณะกรรมการฯในช่วงเดือนสิงหาคมนี้

นายพานิชกล่าวด้วยว่า   ปัจจุบัน พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน กำหนดให้สถานประกอบการที่มีลูกจ้าง 100 คนขึ้นไป ต้องจัดฝึกอบรมพัฒนาทักษะฝีมือลูกจ้างให้ได้อย่างน้อย 50 เปอร์เซ็นต์ หากฝึกไม่ครบหรือไม่จัดฝึกอบรมจะต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนพัฒนาฝีมือแรงงานร้อยละ 1 ของเงินเดือนลูกจ้าง โดยมีสถานประกอบการที่อยู่ในข่ายข้อบังคับนี้กว่า 1 หมื่นแห่ง  ซึ่ง กพร.เน้นให้สถานประกอบการจัดทำหลักสูตรฝึกอบรมโดยอิงเกณฑ์มาตรฐานฝีมือแรงงานในระดับ 1 แต่ละปีมีแรงงานได้รับการพัฒนาทักษะฝีมือ 3-4 ล้านคน โดยสถานประกอบการเสียค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมตั้งแต่ 1 พันบาทจนถึงหลักล้านบาท

“ปี 2551 มีสถานประกอบการที่ฝึกอบรมไม่ครบ 851 แห่ง ต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนฯ กว่า 24 ล้านบาท มีลูกจ้างไม่ได้รับการอบรม 52,040 คน และปี 2552 มีสถานประกอบการที่ฝึกอบรมไม่ครบ 783 แห่ง ต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนฯ กว่า 25 ล้านบาท มีลูกจ้างไม่ได้รับการอบรม 48,456 คน อีกทั้งในช่วง 2 ปีมีสถานประกอบการที่ไม่มาขึ้นทะเบียนอบรมลูกจ้างปีละ 3-4 พันแห่ง ซึ่ง กพร.จะเรียกสถานประกอบการเหล่านี้มาชี้แจงเหตุผล โดยขณะนี้กองทุนฯมีเงินทั้งสิ้น 573 ล้านบาท” รองอธิบดี กพร.กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น