xs
xsm
sm
md
lg

ปลัดแรงงาน เผย ไทยเข้าสู่ยุคขาดแคลนแรงงานฝีมือ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปลัดแรงงาน รับไทยเข้าสู่ยุคขาดแคลนแรงงาน ชี้ โครงสร้างประชากรเปลี่ยน ด้านอุตสาหกรรมยานยนต์เตรียมปรับตัว พัฒนาทักษะพนักงาน ให้ต่างด้าว-คนพิการช่วยเสริมบางจุด เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตปีละ 3% รับมือเคลื่อนย้ายแรงงานเสรี

วันนี้ (14 ก.ค.) ที่โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค กรุงเทพฯ กรมพัฒนาฝีมือแรงงานร่วมกับกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์-อะไหล่ยานยนต์ จัดสัมมนาทิศทางการพัฒนาแรงงานในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์รองรับการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรี (ASEAN Economic Community-AEC) โดย นายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน (รง.) กล่าวว่า ได้มีการหารือกับประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งบอกว่าต้องการแรงงานในภาคส่วนนี้อีก 1 แสนคน และคาดว่า ภายใน 5 ปีต้องการเพิ่มอีก 3-4 แสนคน แต่บ้านเรามีปัญหาขาดแคลนแรงงาน จึงมีความจำเป็นที่ทุกอุตสาหกรรมต้องมีการปรับตัวนำเทคโนโลยีมาใช้ ทั้งนี้ หลักสำคัญคือ การพัฒนาทักษะให้มีสมรรถนะมากขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องใช้คนมากส่วนประเด็นเรื่องค่าจ้างที่หากจะมีการปรับขึ้นนั้นมองว่านายจ้างไม่ค่อยขัดข้อง หากแรงงานมีการพัฒนาทักษะฝีมือและสมรรถนะในการทำงานเพิ่มขึ้น

ปลัดแรงงานยังกล่าวถึงสถานการณ์การเข้าสู่ตลาดการค้าเสรีอาเซียน ว่า ขณะนี้ทุกประเทศพยายามสร้างความได้เปรียบ เพื่อเพิ่มขีดการแข่งขันก่อนที่จะเปิดเสรีในอีก 4-5 ปีข้างหน้า ซึ่งประเทศไทยก็อยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมที่จะเข้าสู่ตลาดโลกที่จะเปิดกว้างขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะการเพิ่มทักษะฝีมือแรงงานให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานอาเซียน ขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งเติบโตอย่างต่อเนื่อง แม้จะได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สึนามิในประเทศญี่ปุ่น แต่ก็กลับมาฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว ทว่า ปัญหาของเราขณะนี้ คือการขาดแคลนแรงงาน ที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น เนื่องจากโครงสร้างประชากรเปลี่ยนไป โดยคนวัยหนุ่มสาวเข้าสู่ตลาดแรงงานน้อยลง

นายสมเกียรติ กล่าวอีกว่า กระทรวงแรงงานได้ทำแผนยุทธศาสตร์แก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานไว้ 2 ด้าน คือ การเติมคนเข้าไปในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็นคนว่างงานหรือคนที่ทำงานไม่เต็มที่ รวมถึงคนพิการที่สามารถช่วยเสริมในบางจุด และหากมีความจำเป็นต้องการแรงงานต่างด้าวก็ต้องใช้เท่าที่จำเป็น ซึ่งจะเป็นตัวเลือกสุดท้าย ส่วนอีกยุทธศาสตร์คือการเพิ่มขีดความสามารถของคนทำงานให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น โดยจะดูทุกส่วนทั้งด้านฝีมือ และขวัญกำลังใจ รวมถึงการดูเรื่องเทคโนโลยีในการสนับสนุนการทำงานด้วย ขณะเดียวกันรัฐบาลก็ต้องมีมาตรการด้านภาษีเข้ามาสนับสนุนอีกทางหนึ่ง

“ที่สำคัญ ต้องดูเรื่องระบบการทำงานที่มีคุณภาพของสถานประกอบการ ที่สามารถดูแลลูกจ้างได้เป็นอย่างดี ทำให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงาน ซึ่งทราบมาว่าจะมีการย้ายฐานการลงทุนด้านยานยนต์ของชาวญี่ปุ่นเข้ามาประเทศไทยอีกเยอะ ดังนั้นเราจึงต้องเตรียมการรองรับ” ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าว

นายพานิช จิตต์แจ้ง รองอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า เมื่อมีเขตการค้าอาเซียน จำเป็นต้องมีกรอบมาตรฐานฝีมือของอาเซียน ซึ่งขณะนี้เกิดขึ้นแล้วในกลุ่มอุตสาหกรรมท่องเที่ยว โดยประเทศไทยได้เตรียมจัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติด้านการท่องเที่ยวแล้วใน 32 ตำแหน่งงาน และจะนำกรอบมาตรฐานฝีมือนี้เข้าสู่ที่ประชุมในระดับอาเซียน และผลักดันให้เป็นมาตรฐานกลางของอาเซียนต่อไป เช่นเดียวกับด้านยานยนต์ แม้มีมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติอยู่แล้ว แต่การกำหนดเป็นกรอบอาเซียนต้องมีการทำเพิ่มเติม

นายถาวร ชลัษเฐียร รองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมาเรามีแต่แผนใหญ่ของประเทศ แต่กลับไม่มีอุตสาหกรรมใดที่มีแผนในการพัฒนากำลังคนใน 5-10 ปีข้างหน้า ทั้งๆที่ปี 2558 ก็จะมีการเปิดเสรีอาเซียนแล้ว จึงต้องการให้อุตสาหกรรมยานยนต์เป็นจุดเริ่มต้น โดยจากนี้ไปต้องให้อุตสาหกรรมเหล่านี้ได้พัฒนาทั้งด้านทักษะการทำงานของคน เพื่อรองรับกับปริมาณคนที่ขาดแคลน

“ขณะนี้สภาอุตสาหกรรมและกรมพัฒนาฝีมือแรงงานกำลังร่วมกันทำมาตรฐานฝีมือแรงงาน ซึ่งทำไปแล้ว 44 มาตรฐานใน 11 กลุ่ม และกำลังเร่งมืออีกเกือบ 200 สาขา ใน 20-30 กลุ่มอุตสาหกรรม โดยกว่าจะเปิดการค้าเสรีในปี 2558 ก็น่าจะทำเสร็จทันเวลา ทั้งนี้ ในส่วนของอุตสาหกรรมยานยนต์นั้น ได้มีการปรับเงินเดือนตามโครงสร้างอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม จากนี้ไปจนถึงเปิดเสรีอาเซียน ในด้านประสิทธิภาพการผลิตต้องเพิ่มขึ้นปีละ 3% คือ จากเดิมผลิตได้ 3.5 คันต่อคนต่อปี ให้เป็น 4 คันต่อคนต่อปี” นายถาวร กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น