xs
xsm
sm
md
lg

เลขาฯเผาไทย การันตี SMEไม่เจ๊ง “แรงงาน” แจงค่าจ้างต่างด้าวเทียบเท่าไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้(12 ก.ค.) นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการพรรคเพื่อไทย(พท.) กล่าวถึงแนวทางการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน ว่า พท.ยินดีรับฟังข้อมูลจากทุกฝ่ายทั้งจากคณะกรรมการค่าจ้างกลาง นายจ้างลูกจ้างและนักวิชาการและจะนำข้อมูลเหล่านี้มาประกอบการพิจารณาในการดำเนินนโยบายปรับค่าจ้างขั้นต่ำ
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ว่านโยบายการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน จะดำเนินการเฉพาะในกรุงเทพฯ และจังหวัดอื่นๆ ค่าจ้างจะลดหลั่นกันไป
นายจารุพงศ์ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ขอให้รายละเอียดในเรื่องนี้ นโยบายนี้จะมีความชัดเจนหลังจากมีการแต่งตั้งรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ เรียบร้อยแล้ว
อย่างไรก็ตาม กรณีที่ภาคธุรกิจห่วงว่าธุรกิจเอสเอ็มอีจะเสียหายจากนโยบายนี้ ทาง พท.ได้เตรียมมาตรการรองรับไว้แล้ว

**เสนอตั้งกองทุนปล่อยกู้ไม่คิดดอก
นายพานิช จิตร์แจ้ง รองอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน (รง.) กล่าวว่า เมื่อสัปดาห์ที่แล้วผู้บริหารกระทรวงแรงงานและตนได้เข้าพบนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการ พท.เพื่อหารือเกี่ยวกับนโยบายการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวัน โดยตนได้เสนอให้มีการสำรวจว่ามีสถานประกอบการที่ยังจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำไม่ถึง 300 ต่อวัน มีจำนวนกี่แห่งและต้องใช้งบประมาณเติมเข้าไปจำนวนเท่าใด เมื่อได้ข้อมูลเหล่านี้มาแล้ว ทางรัฐบาลชุดใหม่ก็จัดสรรงบประมาณมาจำนวนหนึ่งให้เพียงพอแก่การที่สถานประกอบการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาท โดยจัดตั้งกองทุนแล้วให้สถานประกอบการมากู้ยืมโดยไม่คิดอัตราดอกเบี้ยและผ่อนส่งหนี้ในระยะยาว
นายพานิช กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังได้เสนอให้ใช้มาตรการลดภาษี เพื่อช่วยลดต้นทุนแก่ประกอบการในการปรับขึ้นค่าจ้าง 300 บาทต่อวัน โดยนำเรื่องของการพัฒนาฝีมือแรงงานมาช่วยลดหย่อนภาษีให้แก่สถานประกอบการ เนื่องจากตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานพ.ศ.2545 กำหนดให้สถานประกอบการที่มีการอบรมพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานสามารถนำค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมมาขอลดหย่อนภาษีได้ถึง 200%
"เชื่อว่ามาตรการทั้งสองแนวทางที่เสนอไปข้างต้นนี้จะเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่ายทั้งรัฐบาลชุดใหม่ นายจ้าง ลูกจ้างรวมถึงประเทศชาติเพราะเงินเหล่านี้จะไม่สูญเปล่า เนื่องจากเป็นเงินกู้ยืมที่นายจ้างต้องจ่ายคืนรัฐบาลทำให้รัฐบาลชุดใหม่สามารถเดินหน้านโยบายค่าจ้างขั้นต่ำได้ตามที่หาเสียงไว้ นายจ้างมีแหล่งเงินทุนกู้ยืมเพื่อจ่ายค่าจ้างและหากมีการพัฒนาฝีมือแรงงานก็ได้รับการลดหย่อนภาษี ช่วยลดรายจ่ายด้วย ส่วนลูกจ้างก็ได้รับการพัฒนาทักษะฝีมือทำให้ทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นและได้รับค่าจ้างสูงขึ้น"รองอธิบดีกพร.กล่าว

**คสรท.ยันถ้าปรับ300 ต้องพร้อมกัน
นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า อยากให้มีการปรับค่าจ้างขั้นเป็น 300 บาทต่อวันเท่ากันทั่วประเทศ ไม่น่าจะเลือกปรับเพียงบางจังหวัดเพราะแรงงานประเทศก็ต้องใช้จ่ายเหมือนกัน ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้พท.ประกาศนโยบายว่าหากได้เป็นรัฐบาลจะขึ้นค่าจ้างเป็น 300 บาทต่อวัน รวมทั้งปรับเงินเดือนผู้จบปริญญาตรีรุ่นใหม่เป็น 1.5 หมื่นต่อเดือน ทำให้พี่น้องแรงงานเทคะแนนให้ตามที่ได้หาเสียง ถ้าไม่ทำตามที่สัญญาไว้ก็เหมือนเป็นการหลอกพี่น้องแรงงานทั่วประเทศ
"ส่วนกรณีอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด 35 จังหวัดเสนอปรับค่าขึ้นค่าจ้างขั้นอยู่ที่ 2-28 บาทนั้นเห็นว่าในส่วนนี้เป็นนโยบายของรัฐบาลเก่า หากจะมีการปรับก็ขอให้ปรับส่วนนี้ไปก่อน ถ้าไปรอปรับช่วงเดือนมกราคมปี 2555 แรงงานก็คงอยู่ไม่ได้ต้องอดตายไปก่อน"นายชาลี กล่าว

**อนุกสม.ชี้ต้องควบคุมถึงต่างด้าว
นายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติและผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ กล่าวว่า ตามพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน กำหนดให้แรงงานต่างด้าวที่อยู่ในไทยทุกกลุ่มทั้งกลุ่มที่ได้รับการพิสูจน์สัญชาติแล้วกลุ่มที่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์สัญชาติ กลุ่มที่จดทะเบียนแล้วและกลุ่มที่ยังไม่ได้จดทะเบียนได้รับค่าจ้างขั้นต่ำในอัตราเดียวกับคนไทย ซึ่งที่ผ่านมามีแรงงานต่างด้าวจำนวนมากฟ้องศาลเพราะไม่ได้รับค่าจ้างตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำและชนะคดี
นายสุรพงษ์ กล่าวอีกว่า หากมีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวัน จะต้องครอบคลุมไปถึงแรงงานต่างด้าวด้วย ซึ่งการจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำนั้นต้องสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและค่าครองชีพที่เป็นจริงซึ่งขณะนี้ตัวเลขค่าจ้างจริงๆ อยู่ที่กว่า 400 บาทต่อวันแล้ว
"อยากให้รัฐบาลชุดใหม่มีนโยบายที่ชัดเจนในการส่งเสริมให้สถานประกอบการจ้างแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาอยู่ในไทยโดยถูกต้องตามกฎหมายและได้รับค่าจ้างขั้นต่ำในตราเดียวกับคนไทยรวมทั้งเอาจริงเอาจังในการปราบปรามการใช้แรงงานเถื่อนและกดค่าแรงไม่จ่ายตามค่าจ้างขั้นต่ำ ไม่ปล่อยให้สถานประกอบการจ้างแรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมายแล้วจ่ายค่าจ้างถูกกว่าค่าจ้างขั้นต่ำเพื่อหนีการจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน เพื่อหวังลดต้นทุน ทั้งนี้ การจ้างแรงงานต่างด้าวโดยถูกกฎหมายจะเป็นผลดีต่อประเทศไทยในระยะยาวเพราะจะลดปัญหาเรื่องการใช้แรงงานเถื่อนและการค้ามนุษย์ทำให้ประเทศไทยมีความน่าเชื่อถือในเรื่องการจ้างงาน" นายสุรพงษ์ กล่าว

**แรงงานแจงต่างด้าวเทียบเท่าไทย
นางอัมพร นิติสิริ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานนั้น แรงงานต่างด้าวทุกกลุ่มทั้งที่เข้ามาทำงานในไทยไม่ว่าเข้ามาโดยถูกกฎหมายหรือผิดกฎหมาย เมื่อเข้าสู่ระบบนายจ้างและลูกจ้างจะได้ค่าตอบแทนตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเหมือนคนไทยทุกประการแต่ในส่วนแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาอยู่ในไทยโดยผิดกฎหมายจะมีความผิดข้อหาเข้าเมืองผิดกฎหมาย
"ที่ผ่านมาแรงงานต่างด้าวที่ไม่ได้รับค่าตอบแทนตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำก็ไม่กล้าเข้ามาร้องเรียนเพราะกลัวถูกจับข้อหาเข้าเมืองผิดกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ในแต่ละปีกสร.ได้สุ่มตรวจแรงงานต่างด้าวจำนวน 6-7 พันคนและพบว่า มีแรงงานต่างด้าวที่ไม่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำและพบว่าปัญหาส่วนใหญ่แรงงานต่างด้าวไม่ได้รับค่าตอบแทนตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำซึ่งทางกสร.ได้ตักเตือนนายจ้างและออกคำสั่งให้ดำเนินการตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน"นางอัมพร กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น