xs
xsm
sm
md
lg

ค้านขึ้นค่าแรง300 หวั่นธุรกิจSMEsเจ๊ง คาดต่างด้าวทะลัก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน- ส.อ.ท.ค้านขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันทั่วประเทศ โยนให้คณะกรรมการไตรภาคีพิจารณาดีกว่า ชี้หากขึ้นอุตสาหกรรมกระทบแน่ เฉพาะ SMEs จะอยู่ไม่ได้ เผยจูงใจแรงงานต่างด้าวทะลักเข้ามาเพิ่มเป็นเท่าตัวแน่ ก.แรงงานเสนอตั้งกองทุนอุ้มผู้ประกอบการ ส่วนตัวแทนแรงงานยันหาเสียงไว้แล้วต้องทำให้ได้

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารส.อ.ท.นัดพิเศษวานนี้ (12ก.ค.) ว่า ที่ประชุมได้หารือถึงนโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันของรัฐบาลโดยมีความเห็นตรงกันที่จะเสนอรัฐบาลใน 5 ข้อและในสัปดาห์หน้า และเตรียมที่จะนำประเด็นดังกล่าวหารือในเวทีคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3สถาบัน (กกร.)

สำหรับข้อเสนอประกอบด้วย 1.ไม่เห็นด้วยกับการปรับค่าแรงดังกล่าวทั่วประเทศโดยควรปรับนโยบายดังกล่าวใหม่เนื่องจากจะมีผลกระทบต่อภาคธุรกิจโดยรวม 2.ควรปล่อยให้การขึ้นค่าแรงเป็นไปตามกลไกตลาด 3.การพิจารณาปรับขึ้นควรให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการไตรภาคีโดยปราศจากการกดดันและให้เป็นไปตามกฏหมายแรงงาน 4.ถ้าจำเป็นจะต้องดำเนินการตามนโยบายจริงก็ควรจะหาเงินสนับสนุนมาชดเชยส่วนต่างของค่าแรงที่จะปรับเพิ่ม และ 5.พร้อมที่จะหารือร่วมกับภาครัฐต่อการขึ้นค่าจ้างเพื่อให้ก่อประโยชน์ต่อทุกฝ่าย

“ผลสำรวจของส.อ.ท.ยืนยันว่าภาคอตสาหกรรมส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นค่าแรงแน่นอน และระบุว่าอาจมีการลอยแพพนักงานในบางประเภท โดยเฉพาะกลุ่มที่ใช้แรงงานขั้นต่ำจำนวนมาก เช่น แปรรูปอาหาร แต่ไม่มากนัก และส่วนหนึ่งมองเรื่องการย้ายฐานไปประเทศเพื่อนบ้าน”นายพยุงศักดิ์กล่าว

นายสมมาต ขุนเศษฐ เลขาธิการส.อ.ท.กล่าวว่า จากการสำรวจส.อ.ท.513ราย ครอบคลุมทุกกิจการ ส่วนใหญ่ระบุชัดเจนว่าจะมีผลต่อต้นทุนที่สูงขึ้น โดยบางพื้นที่หากขึ้นค่าแรง300 บาทต่อวัน จะทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นเท่าตัว ซึ่งกิจการขนาดกลางและเล็ก(SMEs) จำนวนมาก จะอยู่ไม่ได้ ดังนั้น รัฐบาลควรจะทบทวนและให้ปล่อยไปตามกลไกตลาด

นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตามพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานระบุไว้ชัดเจนว่าการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจะครอบคลุมแรงงานต่างด้าวที่ถูกกฏหมาย ดังนั้น แรงงานต่างด้าวที่มีการจดทะเบียนขณะนี้ที่จะปิดรับ 15 ก.ค.คาดว่าจะมีประมาณ 1 ล้านรายเข้าระบบเพิ่มขึ้นรวมกับของเดิม 6.8 แสนรายก็จะเป็น 1.68 ล้านราย ซึ่งจะต้องเข้าสู่ระบบการขึ้นค่าจ้างใหม่ทันที หากไม่ปฏิบัติต้องโดนปรับ 1 แสนบาทจำคุก 1 ปี

“การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ แต่ค่าครองชีพไม่เท่ากัน จึงขึ้นเท่ากันทั่วประเทศไม่ได้แน่ และกรณีการขึ้นเงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาทต่อเดือนนั้น ก็ต้องไปขึ้นข้าราชการให้ได้ก่อน ถ้าขึ้นไม่ได้ ก็คงจะมาบังคับเราไม่ได้เช่นกัน”นายวัลลภกล่าว

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานส.อ.ท.กล่าวว่า การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศเป็น 300 บาทต่อวันจะเป็นการกดดันให้มีแรงงานผิดกฏหมายไหลเข้าสู่ประเทศไทยมากขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากพม่าค่าจ้างต่ำกว่าไทย 5.2 เท่า กัมพูชาต่ำกว่า 4.3 เท่าและลาวต่ำกว่า 3.7เท่า ซึ่งค่าจ้างที่จะต่างเพิ่มขึ้นจากนี้ก็จะยิ่งดึงดูดการลักลอบเคลื่อนย้ายแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านสู่การผลิตของไทยมากขึ้นเป็นทวีคูณจากปัจจุบันมีแรงงานต่างด้าวประมาณ 3.8 ล้านคน

นายพานิช จิตร์แจ้ง รองอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวว่า เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผู้บริหารกระทรวงแรงงานและตนได้เข้าพบนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการพรรคเพื่อไทย เพื่อหารือเกี่ยวกับนโยบายการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวัน โดยได้เสนอให้มีการสำรวจว่ามีสถานประกอบการที่ยังจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำไม่ถึง 300 ต่อวัน มีจำนวนกี่แห่งและต้องใช้งบประมาณเติมเข้าไปจำนวนเท่าใด เมื่อได้ข้อมูลเหล่านี้มาแล้ว ทางรัฐบาลชุดใหม่ก็จัดสรรงบประมาณมาจำนวนหนึ่งให้เพียงพอแก่การที่สถานประกอบการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาท โดยจัดตั้งกองทุนแล้วให้สถานประกอบการมากู้ยืมโดยไม่คิดอัตราดอกเบี้ยและผ่อนส่งหนี้ในระยะยาว

นอกจากนี้ ยังได้เสนอให้ใช้มาตรการลดภาษี เพื่อช่วยลดต้นทุนแก่ประกอบการในการปรับขึ้นค่าจ้าง 300 บาทต่อวัน โดยนำเรื่องของการพัฒนาฝีมือแรงงานมาช่วยลดหย่อนภาษีให้แก่สถานประกอบการ เนื่องจากตามพ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ.2545 กำหนดให้สถานประกอบการที่มีการอบรมพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานสามารถนำค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมมาขอลดหย่อนภาษีได้ถึง 200%

นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า อยากให้มีการปรับค่าจ้างขั้นเป็น 300 บาทต่อวันเท่ากันทั่วประเทศ ไม่น่าจะเลือกปรับเพียงบางจังหวัด เพราะแรงงานก็ต้องใช้จ่ายเหมือนกัน เพราะก่อนหน้านี้ พรรคเพื่อไทยประกาศนโยบายว่าหากได้เป็นรัฐบาลจะขึ้นค่าจ้างเป็น 300 บาทต่อวัน รวมทั้งปรับเงินเดือนผู้จบปริญญาตรีรุ่นใหม่เป็น 1.5 หมื่นต่อเดือน ทำให้พี่น้องแรงงานเทคะแนนให้ตามที่ได้หาเสียง ถ้าไม่ทำตามที่สัญญาไว้ก็เหมือนเป็นการหลอกพี่น้องแรงงานทั่วประเทศ

ส่วนกรณีอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด 35 จังหวัดเสนอปรับค่าขึ้นค่าจ้างขั้นอยู่ที่ 2-28 บาทนั้น เห็นว่าในส่วนนี้เป็นนโยบายของรัฐบาลเก่า หากจะมีการปรับก็ขอให้ปรับส่วนนี้ไปก่อน ถ้าไปรอปรับช่วงเดือนม.ค.2555 แรงงานก็คงอยู่ไม่ได้ ต้องอดตายไปก่อน

นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พรรคยินดีฟังข้อมูลจากทุกฝ่ายทั้งจากคณะกรรมการค่าจ้างกลาง นายจ้าง ลูกจ้างและนักวิชาการ และจะนำข้อมูลเหล่านี้มาประกอบการพิจารณาในการดำเนินนโยบายปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน แต่ยังไม่ขอให้รายละเอียดในเรื่องนี้ นโยบายนี้จะมีความชัดเจนหลังจากมีการแต่งตั้งรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ เรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ตาม กรณีที่ภาคธุรกิจห่วงว่าธุรกิจ SMEs จะเสียหายจากนโยบายนี้ ทางพรรคได้เตรียมมาตรการรองรับไว้แล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น