xs
xsm
sm
md
lg

สภาอุตฯ ชี้ชัดปรับค่าจ้างขั้นต่ำนายจ้างเป็นคนรับเคราะห์ไม่ใช่รัฐบาล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สภาอุตฯ ชี้ นโยบายหาเสียงปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็นต้นทุนเอกชนไม่ใช่รัฐ ควรปรับไม่เกิน 5% หรือ 220 บ./วัน หวั่นหากปรับสูงเกิน กระทบราคาสินค้า-ค่าครองชีพ-เงินเฟ้อ ด้านนักวิชาการ จี้ฝ่ายการเมือง หากปรับค่าจ้างต้องคุมราคาสินค้า แนะเร่งพัฒนาฝีมือแรงงาน รองรับประชาคมอาเซียน ส่วนเลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจวกการเมืองเมินดูแลสวัสดิการ ปชช.ทั้งการศึกษา-สาธารณสุข

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวถึงกรณีพรรคการเมืองต่างๆ แข่งขันกันชูนโยบายปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำว่า ขณะนี้เรื่องของการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำกลายเป็นนโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองต่างๆ ไปแล้ว โดยมีการเสนอตัวเลขตั้งแต่จะปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 25% ภายใน 2 ปี หรือประมาณ 269 บาท, 300 บาท, 350 บาท และ 400 บาทต่อวัน ทั้งที่ค่าจ้างขั้นต่ำนั้นเป็นเงินที่มาจากต้นทุนของภาคเอกชนไม่ใช่เงินของภาครัฐ อย่างไรก็ตาม เท่าที่ ส.อ.ท.ประเมินสภาพเศรษฐกิจในขณะนี้ หากจะปรับค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งอยู่ในอัตราที่ไม่กระทบต่อต้นทุนผู้ประกอบการมากนัก ควรปรับไม่เกิน 5% อยู่ที่ระหว่าง 5-9 บาท หรืออยู่ที่ 220 บาทต่อวันจากทีปัจจุบันอยู่ที่ 215 บาทต่อวัน เนื่องจากการปรับค่าจ้างขั้นต่ำในรอบที่ผ่านมาได้มีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำไปถึง 10%
ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
หากจะให้นายจ้างปรับค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นไปอีก 40-50 บาท ตามนโยบายของพรรคการเมืองต่างๆ นั้น ผู้ประกอบการไม่สามารถแบกรับต้นทุนผลิตสินค้าที่สูงขึ้นได้ และเป็นเรื่องที่อันตรายต่อระบบเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ เพราะจะทำให้ราคาสินค้า ค่าครองชีพ และอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนทุกกลุ่ม และส่งผลให้ต้องมีการปรับเงินเดือนข้าราชการ อีกทั้งราคาสินค้าเกษตรก็จะปรับสูงขึ้นตามไปด้วย ขณะที่การส่งออกสินค้าจะลดลงเพราะมีต้นทุนสูงขึ้น” นายธนิต กล่าว

รศ.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ที่ผ่านมา รัฐบาลปล่อยให้กลุ่มทุนผูกขาดโครงสร้างทางการตลาด ทำให้ราคาสินค้าสูงขึ้น ดังนั้น การเรียกร้องปรับค่าจ้างขั้นต่ำควรจะพ่วงข้อเรียกร้องมาตรฐานควบคุมราคาสินค้าเข้าไปด้วย

ถามว่า วันนี้ทำไมคนไทยซื้อไข่แพงกว่าสหรัฐอเมริกา ซึ่งในอเมริกาอยู่ใบละ 3.50 แต่ในไทยใบละ 6-7 บาท แต่ละพรรคมีนโยบายแก้ปัญหาเหล่านี้หรือไม่ ซึ่งไม่เห็นพรรคการเมืองใดเสนอแก้ปัญหานี้” รศ.สิริพรรณ กล่าว

รศ.สิริพรรณ กล่าวอีกว่า หากมองเนื้อหาของนโยบายด้านแรงงานแต่ละพรรค ส่วนใหญ่หวังผลเพียงระยะสั้น โดยไม่ได้มุ่งให้เป็นนโยบายระยะยาว และส่งผลให้ประเทศเสียหายด้วย เช่น นโยบายขาดเป้าหมายในเรื่องของการพัฒนาและยกระดับขบวนการแรงงานโดยเฉพาะการเตรียมรับมือประชาคมอาเซียนในปี พ.ศ.2558 ซึ่งยังไม่มีพรรคการเมืองใดพูดถึงเรื่องนี้ว่าจะทำอย่างไร

“อยากให้ภาคแรงงานตั้งคำถามให้ชัดเจนต่อพรรคการเมืองว่าจะสร้างจุดแข็ง เช่น พัฒนาทักษะฝีมือ พัฒนาภาษาให้แก่ภาคแรงงานอย่างไรเพื่อให้แข่งขันได้ในประชาคมอาเซียน เนื่องจากศูนย์การแข่งขันของโลกเปลี่ยนมาสู่เอเชียตะวันออก ทั้งนี้ เป้าหมายระยะยาวควรจะมุ่งพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานเพื่อเป็นหลักประกันให้แก่แรงงานในการเข้าสู่ตลาดอาเซียนโดยเฉพาะการเพิ่มค่าแรงตามมาตรฐานแรงงานอาเซียน” รศ.สิริพรรณ กล่าว

น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า นโยบายของพรรคการเมืองโดยเฉพาะการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเข้าข่ายซื้อเสียงล่วงหน้าเพราะมีการเสนอตัวเลขเกทับกันมาก ซึ่งล่าสุดตัวเลขสูงถึง 400 บาทต่อวันไปแล้ว แต่กลับไม่ให้ความสำคัญกับสวัสดิการของภาคประชาชนโดยเฉพาะความเหลื่อมล้ำในเรื่องสิทธิและสวัสดิการการรักษาพยาบาล ซึ่งควรปรับให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน

“อยากให้พรรคการเมืองมองนโยบายสังคมด้านอื่นๆ บ้าง เช่น นโยบายการศึกษา สาธารณสุข ซึ่งบางพรรคมีนโยบายกู้ซื้อบ้านหลังแรก ซื้อรถคันแรกปลอดดอกเบี้ย 2 ปี ขณะที่กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เด็กต้องจ่ายดอกเบี้ย เมื่อเรียนจบปริญญาตรีต้องเป็นหนี้คนละกว่า 3 แสนบาท” น.ส.สารี กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น