ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - บสย.เดินสายจัดตลาดนัดสินเชื่อธุรกิจในสงขลาคาดเม็ดเงินสะพัดไม่ต่ำกว่า 300 ล้านบาท เผยปีนี้เตรียมเม็ดเงินค้ำประกันสินเชื่อภาคใต้ตอนล่างปีนี้ถึง 2,000 ล้านบาท และสำรองอีก 900 ล้านหากวงเงินเต็มก่อนปิดโครงการ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนและเป็นการรับมือการปรับค่าแรงที่จะทยอยเกิดขึ้นทั่วประเทศ ด้านรองประธาน ส.อ.ท. ว้ากรัฐหยุดพูดปรับค่าแรงขึ้นอีก 60% เพื่อข่มขวัญกำลังใจผู้ประกอบการ ชี้มีแต่จะทำให้เงินเฟ้อ สินค้าแพงก่อนจริงเสมอ
วันนี้ (12 ก.ค.) บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม สำนักงานสงขลา (บสย.) ได้ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้ และชมรมธนาคารภาคใต้ จัดงานตลาดนัดสินเชื่อธุรกิจ จ.สงขลา ณ โรงแรมสิงห์โกเด้ลเพลส อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา โดยมีผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมตลอดทั้งวัน
นายเอกพร นิโรจน์ ผู้จัดการบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม สำนักงานสงขลา (บสย.) กล่าวว่า ภายในงานนี้มีผู้ประกอบการทั้งใน จ.สงขลา และใกล้เคียงให้ความสนใจมาร่วมงานตลาดนัดสินเชื่อธุรกิจราว 200 คน ทั้งในกลุ่มของอุตสาหกรรม การค้าปลีก-ค้าส่ง เป็นต้น โดยคาดว่าจะมีการอนุมัติสินเชื่อไม่น้อยกว่า 300 ล้านบาท โดยมีผู้ประกอบการรายใหญ่คนหนึ่งในกลุ่มธุรกิจอาหารกระป๋องได้ติดต่อขอสินเชื่อประมาณ 100 ล้านบาท และหลังจากวันนี้เป็นต้นไป บสย.จะเดินหน้าจัดตลาดนัดในจังหวัดอื่นๆ ในภาคใต้ตอนล่างเพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนผู้ประกอบการอย่างทั่วถึง
อย่างไรก็ตาม ปี 2554 นี้ บสย.ตั้งเป้าว่าจะค้ำประกันสินเชื่อผู้ประกอบการขนาดย่อมในภาคใต้ตอนล่างทั้งหมด 2,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2553 ที่มีเพียง 1,500 ล้านบาท เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาธุรกิจต่อการแข่งขันในตลาดได้ ทั้งนี้ หากว่าวงเงินที่ตั้งไว้หมดลงก่อนวันปิดโครงการคือวันที่ 31 ธันวาคม 2554 บสย.ได้เตรียมวงเงินสำรองสำหรับภาคใต้ตอนล่างอีก 900 ล้านบาท
“จนถึงขณะนี้มีการค้ำประกันในโครงการ Portfolio Guarantee Scheme (PGS) ตั้งแต่มกราคม-มิถุนายน 2554 จำนวน 238 ราย วงเงินค้ำประกันรวม 626.29 ล้านบาท ส่วนโครงการ PGS3 อนุมัติค้ำประกันจำนวน 103 ราย วงเงินค้ำประกัน 334.64 ล้าบาท” นายเอกพรกล่าว และว่า สำหรับนโยบายของรัฐบาลเรื่องการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท/วัน แม้ว่าจะกระทบต่อผู้ประกอบการโดยตรงในด้านต้นทุน แต่สำหรับภาคใต้ตอนล่างแล้วเชื่อว่าผู้ประกอบการจะสามารถปรับตัวรับได้ แต่ยังไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง เนื่องจากเบื้องต้นจะปรับเฉพาะในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล และจังหวัดภูเก็ต ส่วนจังหวัดอื่นๆ จะทยอยปรับขึ้น จึงยังเป็นโอกาสดีของผู้ประกอบการที่อยู่นอกพื้นที่เป้าหมายดังเช่นภาคใต้ตอนล่างที่ยังจ่ายค่าแรงในอัตราเดิมต่อไปได้ ทาง บสย.จึงไม่ได้กังวลเรื่องนี้มากนัก
เกี่ยวกับเรื่องต้นทุนการผลิตที่จะสูงขึ้นจากนโยบายปรับค่าแรง นายทวี ปิยะพัฒนา รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า นับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.54 ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการต้องเผชิญกับปัญหาต้นทุนสูงจากการขึ้นค่าแรงเพิ่มขึ้น 12% ซึ่งเป็นการส่งสัญญาทางการเมืองของรัฐบาล และเมื่อได้ว่าที่รัฐบาลใหม่ก็ต้องเผชิญปัญหานี้ใหม่อีกครั้ง เป็นการปรับเพิ่มขึ้นอีกถึง 60% หนักกว่าเมื่อต้นปี
อีกทั้งยังมีการปรับฐานเงินเดือนปริญญาตรีเพิ่มเป็น 15,000 บาทอีกด้วย ทั้งหมดจะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อการขาดแคลนแรงงานในระดับ ปวช., ปวส. ดังนั้นจึงขอวอนให้รัฐบาลหยุดพูดเรื่องการปรับค่าแรง 300 บาท/วัน เป็นการชั่วคราว เพื่อไม่ให้ผู้ประกอบการต้องเสียขวัญ เสียกำลังใจต่อนโยบายรัฐที่ไม่เอื้อต่อผู้ประกอบการธุรกิจ และทุกครั้งที่มีการประกาศปรับเงินเดือน ค่าแรง มักจะพบว่าสินค้าจะขึ้นราคาไปแล้วล่วงหน้า ร่วมกับภาวะเงินเฟ้อ และผู้ประกอบการของประเทศที่ส่วนใหญ่เป็นขนาดเล็ก-กลางกว่า 80% อาจล้มหายตายจากเพราะไม่สามารถแบกภาระต้นทุนได้อีกต่อไป