xs
xsm
sm
md
lg

นโยบายพท.เหลวNGOค้านถมทะเลเอกชนโวย300บาท

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เผาไทยกระอัก! นโยบายหาเสียงย้อนศร NGOฮึ่ม!เตรียมยื่นฟ้องศาลฯเพิกถอนนโยบายถมทะเล 3แสนไร่ เหตุไร้กม.รองรับกรรมสิทธิ์ที่ดิน เท่ากับเป็นกม.ขายชาติ ด้านสภาอุตฯภาคเหนือ ค้านขึ้นค่าแรง 300 บาท เตือนอย่าโยนเผือกร้อนใส่ภาคเอกชน

นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เปิดเผยถึงกรณีที่พรรคเพื่อไทยมีนโยบายที่จะถมทะเลบริเวณปากน้ำถึงจ.สมุทรสาคร พื้นที่ประมาณ 3 แสนไร่ว่า หากดำเนินการจะยื่นฟ้องร้องต่อศาลปกครองและศาลรัฐธรรมนูญให้เพิกถอนนโยบาย เนื่องจากเป็นการดำเนินการโดยผิดกฏหมาย เพราะการถมทะเลถือเป็นกิจการที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพชมชนรุนแรงต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา67(2)

“การถมทะเลเป็นกิจการรุนแรง ต้องทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพหรือ E-HIA ต้องผ่านการประชาพิจารณ์ ผ่านความเห็นจากองค์การอิสระ ใช้เวลา 2-3 ปี จึงจะทำได้ แถมยังไม่มีกฏหมายมารองรับว่า พื้นที่ดังกล่าวจะถมได้หรือไม่ ต้องไปแก้กฏหมายที่ดิน ผังเมือง ฯลฯ ถ้าแก้แล้วนำไปขายให้ต่างชาติก็จะมีความผิดเป็นกฏหมายขายชาติอีกเพราะถือว่าพื้นที่นี้เป็นที่สาธารณะประโยชน์”นายศรีสุวรณกล่าว

สำหรับประเด็นปัญหามาบตาพุดที่ผ่านมา คงไม่คิดที่จะเสนอรัฐบาลใหม่ที่จะให้แก้ไขใด ๆเพราะที่ผ่านมาทุกรัฐบาลต่างก็มีวิธีการปฏิบัติที่ไม่ต่างกัน ท้ายสุดก็ไม่สามารถแก้ไขตามที่ชุมชนเรียกร้องได้มักเป็นการเข้ามาแก้ไข โดยอ้างความชอบธรรมให้แก่ภาคอุตสาหกรรมที่เป็นกลุ่มทุนของตนเองเป็นหลัก ดังนั้น จึงรอการพิจารณาจากศาลปกครองสูงสุดถึงคดีต่างๆ ที่ก่อนหน้าได้ยื่นฟ้องไปแล้วมากกว่า

นายศรีสุวรรณยังกล่าวถึงรัฐบาลใหม่ หากจะตั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ควรจะเป็นบุคคลที่สังคมให้การยอมรับ ไม่ใช่นำคนที่มีประวัติด่างพร้อยมาทำงาน และเคยต้องคำสั่งถูกลงโทษทางวินัยมาแล้ว ก็ยิ่งต้องกลั่นกรองมาเป็นพิเศษ หากพรรคเพื่อไทยด่วนตัดสินใจโดยไม่พิจารณาภูมิหลังอาจนำไปสู่การสร้างความขัดแย้งกับชาวบ้านและเอ็นจีโอต่างๆ ไม่มีที่สิ้นสุด จากนโยบายปรองดองอาจเป็นชนวนความขัดแย้งกลุ่มใหม่

นายสุทธิ อัฌชาศัย ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก กล่าวว่า การที่พรรคเพื่อไทยจะเดินหน้านโยบายถมทะเลโดยไม่ทำ E-HIA โดยอ้างว่าประชาชนได้เลือกตั้งเข้ามาบริหารประเทศแล้วนั้น ถือเป็นคนละเรื่องกัน เพราะการถมทะเลถือว่าอยู่ใน 11 ประเภทกิจการรุนแรงจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้

“รัฐบาลใหม่ไม่ควรดำเนินนโยบายถมทะเลเพราะไม่สามารถพิสูจน์กรรมสิทธิ์การถือครองที่ดินได้ แต่ถ้ารัฐบาลจะทำจริงก็ต้องมีการหารือกันนอกรอบเพื่อหาทางออกในเรื่องดังกล่าว และถ้ารัฐบาลไม่ฟังก็จะเคลื่อนไหวโดยการฟ้องศาลปกครองสูงสุด”นายสุทธิกล่าว

นอกจากนี้ หลังคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)รับรองผลการเลือกตั้งเรียบร้อยแล้ว ซึ่งคาดว่าจะอยู่ภายในวันที่ 20 กรกฎาคมนี้ เครือข่ายฯก็จะมีการประสานไปยังพรรคเพื่อไทยที่ได้รับปากจะมาดูแลการลงทุนในภาคตะวันออกและมาบตาพุด และจะติดตามตรวจสอบการทำงานของพรรคเพื่อไทยอย่างใกล้ชิด โดย นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เคยรับปากที่จะทำตามข้อเสนอแนะของประชาชนไว้ในการหาเสียงผ่านเวทีต่างๆ ซึ่งหากไม่ดำเนินการตามเครือข่ายฯก็จะมีการเคลื่อนไหวต่อไป

นายเดชรัตน์ สุขกำเนิด อาจารณ์เศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และอดีตคณะกรรมการ 4 ฝ่ายแก้ไขปัญหามาบตาพุดกล่าวว่า การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในมาบตาพุดนั้นรัฐบาลใหม่มาควรจะต้องมาสานต่อให้มการขับเคลื่อนตามแผนปฏิบัติการที่กำหนดไว้ซึ่งขณะนี้ภาพรวมยังคงต้องติดตามเป็นส่วนใหญ่ทั้งเรื่องอุบัติภัยที่กำหนดวิธีปฏิบัติไว้แล้ว ปัญหาน้ำที่ยังน่าห่วงเนื่องจากมีโรงงานเกิดใหม่เพิ่มขึ้นหากประสบภัยแล้งอาจไม่เพียงพอ เป็นต้น

นอกจากนี้ยังคงต้องมาทบทวนประเภทกิจการรุนแรงที่เดิมกำหนดไว้ 11 ประเภทหรือไม่เนื่องจากภาคประชาชนเองต้องการให้มีการทบทวนใหม่ รวมไปถึงกระบวนการจัดทำ EIA- HIA รัฐบาลอาจต้องหาคนกลางเข้ามาดูแลเพื่อให้ดำเนินการเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ

สภาอุตฯเหนือค้าน 300 บาท
โบ้ยการเมืองโยนเผือกร้อนใส่เอกชน

วานนี้( 13 ก.ค.)ที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลพลาซ่าเชียงใหม่ แอร์พอร์ต สภาอุตสาหกรรมภาคเหนือ นำโดย นายยุทธพงศ์ จีระประภาพงศ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมภาคเหนือ และนายวีระยุทธ สุขวัฑฒโก รองประธานสภาอุตสาหกรรมภาคเหนือ ร่วมกันแถลงข่าว เรื่องการปรับอัตราค่าจ้าง 300 บาท

นายยุทธพงศ์ จีระประภาพงศ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมภาคเหนือกล่าวว่า สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยมีมติ 5 ข้อที่เตรียมจะนำเสนอต่อรัฐบาลชุดใหม่เกี่ยวกับกรณีดังกล่าว ได้แก่

1. ไม่เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าวเพราะจะกระทบต่อเศรษฐกิจภาพรวม 2. การปรับขึ้นค่าจ้างต้องให้เป็นไปตามกลไกตลาดที่สอดคล้องกับการขึ้นค่าครองชีพ 3. ให้คณะกรรมการไตรภาคีเป็นผู้พิจารณาค่าจ้างอย่างอิสระโดยไม่มีนักการเมืองเข้ามากดดัน

4. หากรัฐบาลยืนยันจะปรับค่าแรง 300 บาทให้ได้ ควรนำงบประมาณมาชดเชยส่วนต่างแก่ผู้ประกอบการ เหมือนนโยบายรับจำนำข้าวตันละ 15,000 บาทที่รัฐบาลช่วยเหลือเกษตรกร และ 5. ให้ภาคเอกชนหารือกับรัฐบาลชุดใหม่ในการพิจารณาขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ เพื่อไม่ให้กระทบต่อระบบเศรษฐกิจ

นายยุทธพงศ์กล่าวต่อไปว่าผู้ประกอบการไม่ได้ค้านการขั้นค่าแรง แต่อยากให้ภาครัฐมีนโยบายที่ค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถปรับตัวได้ เพราะหากขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเท่ากันทั่วประเทศ ต้นทุนในส่วนนี้ที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลกระทบ ทั้งต่อผู้ประกอบการและประชาชนที่ต้องแบกรับต้นทุนผ่านราคาสินค้าที่จะเพิ่มสูงขึ้น

ด้านนายวีระยุทธ สุขวัฑฒโก รองประธานสภาอุตสาหกรรมภาคเหนือ กล่าวว่า จากการสอบถามความเห็นจากสภาอุตสาหกรรมจังหวัดต่างๆ ในเขตภาคเหนือตอนบน ล้วนมีความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกัน กล่าวคือมีความวิตกกังวลว่าหากมีการดำเนินนโยบายดังกล่าว จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างมาก เนื่องจากจะทำให้ต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นนี้ภาระจะตกอยู่กับประชาชน ที่จะได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าและบริการที่เพิ่มสูงขึ้นตามต้นทุน

ขณะที่ผู้ส่งออกจะประสบปัญหาไม่สามารถเพิ่มราคาขายสินค้าได้ทั้งที่ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น โดยต้องแบกรับภาระต้นทุนในส่วนนี้เอง

นอกจากนี้ยังมีการคาดการณ์ด้วยว่าการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ อาจส่งผลให้เกิดการย้ายฐานการผลิตในหลายพื้นที่ เนื่องจากมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้น เช่น ที่นิคมอุตสาหกรรมจังหวัดลำพูน เป็นต้น

นายวีระยุทธกล่าวต่อไปว่า ในส่วนของจังหวัดเชียงใหม่นั้นมีความเห็นว่า เมื่อมีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำแล้วจะทำให้ 1. ต้นทุนของผู้ประกอบการเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก อย่างเช่นที่เชียงใหม่ การขึ้นค่าแรงจะทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นอีก 66.67% 2. เป็นการแทรกแซงการทำงานของคณะกรรมการไตรภาคี 3. ทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น เนื่องจากพนักงานได้รับเงินเพิ่มแบบก้าวกระโดด
4. ผู้ประกอบการ SMEs มีต้นทุนเพิ่มสูงขึ้นจนไม่สามารถอยู่ได้ 5. สัดส่วนของค่าแรงที่เพิ่มขึ้นไม่ยุติธรรมในแต่ล่ะพื้นที่ 6. ค่าแรงจะเป็นสิ่งจูงใจให้แรงงานต่างด้าวทะลักเข้ามาในประเทศ 7. การลดภาษีเงินได้นิติบุคคลเหลือ 23% เกิดประโยชน์เฉพาะกับผู้ประกอบการรายใหญ่ และ 8. ผู้ประกอบการจะต้องปรับตัวด้วยการหันมาใช้เทคโนโลยีมากขึ้น ส่งผลให้การจ้างงานลดลง

สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าว รองประธานสภาอุตสาหกรรมภาคเหนือกล่าวว่า มีหลายมาตรการที่ผู้ประกอบการเห็นว่าควรนำมาใช้ เช่น การชดเชยค่าแรงส่วนต่างในรูปแบบของคูปองหรือบัตรภาษี โดยอาจใช้ฐานข้อมูลของระบบประกันสังคมมาเป็นเกณฑ์ในการดำเนินการ การทยอยขึ้นค่าแรงตามลำดับโดยที่รัฐบาลเป็นผู้สนับสนุนค่าแรงส่วนที่เพิ่มขึ้นร่วมกับเอกชนตามกรอบระยะเวลา เมื่อครอบกำหนดจึงปล่อยให้เอกชนเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด

การทยอยปรับค่าจ้างขึ้นปีละ 8% โดยผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการไตรภาคี หรือการจัดให้ค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ถูกนำมาใช้ในการกำหนดอัตราค่าจ้างตามาตรฐานฝีมือ เพื่อจูงใจให้แรงงานมีการพัฒนาฝีมือ และป้องกันไม่ให้ผลประโยชน์ตกอยู่กับแรงงานต่างด้าว ทั้งนี้มาตรการต่างๆ ที่กล่าวมานี้ รวมทั้งความเห็นของสภาอุตสาหกรรมจังหวัดต่างๆ ในภาคเหนือจะถูกนำเสนอผ่านสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยไปสู่รัฐบาลชุดใหม่ รวมทั้งจะประสานกับ ส.ส.ในพื้นที่ให้นำข้อมูลเหล่านี้เสนอต่อสภาด้วย

นายวีรยุทธกล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตาม เรื่องดังกล่าวทั้งฝ่ายรัฐบาลและภาคอุตสาหกรรมจำเป็นที่จะต้องมาพูดคุยกันเพื่อหาทางออกที่เหมาะสม เพราะหากขึ้นค่าแรงไปแล้วผู้ประกอบการจะได้รับผลกระทบอย่างมาก ขณะเดียวกันหากไม่มีการขึ้นค่าแรงตามที่ฝ่ายการเมืองได้หาเสียงไว้ ผู้ใช้แรงงานก็อาจเกิดความไม่พอใจเช่นกัน

ทั้งนี้ อยากฝากถึงภาคการเมืองด้วยว่า การนำเสนอนโยบายประชานิยมใดๆ ก็ตามนั้น ควรจะพิจารณาความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติด้วยว่าสามารถทำได้จริงหรือไม่ ไม่ใช่นำมาหาเสียงไปก่อน แล้วกลับมาโยนเผือกร้อนให้กับผู้ประกอบการ

จี้รบ.ชุดใหม่แก้ปัญหาNGVขาดแคลน

ที่รัฐสภา นายไพบูลย์ ซำศิริพงษ์ ส.ว.ปทุมธานี ในฐานะประธานอนุกรรมาธิการพัฒนา ส่งเสริม ตรวจสอบการพลังงาน และเรื่องประชาชน การเมือง เพื่อความเป็นธรรม กล่าวว่า คณะกรรมาธิการพลังงาน ได้รับเรื่องร้องเรียนจากสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย ช่วยขอให้แก้ไขปัญหาก๊าซเอ็นจีวีขาดแคลนในภาคต่างๆ ทั้งที่ปริมาณการผลิตของก๊าซมีเพียงพอต่อการใช้ของประชาชน ในเบื้องต้นสงสัยว่าทางหน่วยงานที่ผลิต คือ ปตท. ไม่ยอมจ่ายก๊าซ เพื่อต้องการให้ประกาศขึ้นราคาก๊าซ อย่างไรก็ตาม ทราบมาว่ากระทรวงคมนาคมยังยืนยัน เสนอโครงการรถเมล์เอ็นจีวี 4 พันคัน ให้รัฐบาลชุดใหม่ได้สานต่อ แต่ปัญหาเรื่องก๊าซขาดแคลนยังแก้ไขไม่ได้ ดังนั้น ตนจึงมองไม่ควรผลักดันเรื่องนี้ต่อไป หรือควรให้ยกเลิกโครงการนี้ไปเลย

ด้านนายสุระชัย กนกะปิณฑะ ที่ปรึกษาอนุกรรมาการฯ กล่าวว่า จากการที่ศึกษาหน่วยงานที่ผลิตก๊าซมีกำลังการผลิต 8.5 เปอร์เซ็นต์ ทั้งที่ความสามารถในการผลิตควรที่จะอยู่ในระดับ 10 - 11 เปอร์เซ็นต์ จากการที่ได้รับฟังการชี้แจงของตัวแทน ปตท. และกระทรวงพลังงาน ก็ไม่ได้การชี้แจงที่ชัดเจน ในเรื่องของต้นทุนที่แท้จริงกับความเป็นไปที่จะขึ้นราคาก๊าซ เนื่องจากข้อมูลราคาของตั้งแต่ปากหลุมก๊าซถึงสถานีลูกข่าย พบว่า ราคาในหลุมส่งผ่านท่อจะอยู่ที่ 8.39 บาทในไตรแรก ค่าก๊าซจากแนวท่อสู่รถขนส่ง ราคา 2 บาท ค่าขนส่ง 2 บาท และค่าอัดก๊าซไปยังสถานีลูกข่าย รวมกับค่าการตลาด และการบริการ 2 บาท ซึ่งในราคา 2 + 2+ 2 ยังไม่มีการพิสูจน์ทราบราคาที่ชัดเจน ดังนั้น หาก ปตท. จะประกาศขึ้นราคาก๊าซเอ็นจีวี ก็ควรที่จะแก้ไขเรื่องก๊าซขาดแคลนได้ก่อน

นายสุระชัย กล่าวอีกว่า จากข้อมูลพบว่า พื้นที่ภาคอีสานขาดแคลนก๊าซเอ็นจีวีมากถึงวันละ 250 ตัน ภาคเหนือ 300 ตัน ซึ่งเป็นผลทำให้ประชาชนต้องมารอเติมก๊าซ 2 -5 ชั่วโมง เช่น รถทัวร์ที่ใช้เส้นทางกรุงเทพฯ - ภูเก็ต ต้องแวะเติมก๊าซที่จ.ชุมพร ซึ่งต้องใช้เวลารอเติมนานถึง 4 ชั่วโมง เป็นต้น ส่วนสาเหตุการขาดแคลนทราบมาว่า ในหน่วยงานของ ปตท. ได้ออกคำสั่งพิเศษให้ระงับการจ่ายก๊าซไปยังสถานีต่างๆ เพื่อหวังจะให้ขึ้นก๊าซ และอ้างว่าขาดทุน ตนมองว่าเรื่องนี้น่าจะเป็นปัญหาจาการบริหารจัดการภายใน ปตท. ซึ่งทำให้ทางฝ่ายการเมืองไม่สามารถเข้าไปลวงลูก ทั้งที่หน่วยงานรัฐมีหุ้นถึง 51 เปอร์เซ็นต์ในหน่วยงานดังกล่าว ดังนั้น อยากฝากให้รัฐบาลเข้ามาแก้ไขเรื่องนี้ด่วน ส่วนทางพวกเราก็จะเดินทางตรวจสอบต่อไปจนว่าจะได้ข้อสรุปที่ตกผลึก
กำลังโหลดความคิดเห็น