xs
xsm
sm
md
lg

ขึ้นค่าแรง จุดขายฝันนักการเมือง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
พรรคการเมืองขายฝัน เกทับปรับค่าจ้างขั้นต่ำทะลุ 400 บาทต่อวัน อัดโปรโมชันแรงงานนอกระบบ ทั้งแจกคูปองรักษา ปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำ เห็นพ้องปรับ สปส.เป็นองค์กรอิสระ เอาใจแรงงานร่วมลงนามรับข้อเสนอ 9 ข้อ นักวิชาการจวกเกทับค่าแรงเหมือนบ่อนพนัน ทั้งที่ปรับค่าแรงขั้นต่ำขึ้นอยู่กับ คกก.ไตรภาคี

วันนี้ (21 มิ.ย.) ที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ กรุงเทพฯ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวทีสมัชชาแรงงานแสดงจุดยืนและข้อเสนอต่อนโยบายแรงงานของพรรคการเมืองในการเลือกตั้ง 2554 โดยมีตัวแทนผู้สมัครสส.จากพรรคการเมืองต่างๆ เข้าร่วมและตอบประเด็นคำถามของ คสรท.ซึ่ง นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการครสท.และแกนนำเครือข่ายแรงงานไทยเป็นผู้ถามใน 9 ประเด็น ได้แก่ 1.การให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ฉบับที่ 87 และ 98 เพื่อสร้างหลักประกันในสิทธิเสรีภาพในการรวมตัวและเจรจาต่อรอง รวมทั้งแก้ไข พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ให้สอดคล้องกับอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับ เพื่อให้เกิดการคุ้มครองผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน 2.การปฏิรูประบบประกันสังคมให้เป็นองค์กรอิสระ ผู้ประกันตนสามารถเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม มีส่วนร่วม โปร่งใสและตรวจสอบได้ และบัตรประกันสังคมใช้ได้ในทุกโรงพยาบาล

3.ค่าจ้างที่เป็นธรรมโดยคำนึงถึงหลักเกณฑ์ทางสากลขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) และโครงสร้างค่าจ้างเพื่อให้มีหลักเกณฑ์การปรับค่าจ้างประจำปี 4.ยกเลิกนโยบายแปรรูปรัฐวิสาหกิจในกิจการสาธารณูปโภคและมีกองทุนพัฒนารัฐวิสาหกิจ

5.สิทธิการเลือกตั้ง ส.ส. ส.ว.และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกระดับ 6.จัดตั้งสถาบันและกองทุนส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน 7.จัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงจากการลงทุนเพื่อคุ้มครองสิทธิคนงานให้ได้รับค่าชดเชยที่เป็นธรรมและเป็นหลักประกันความมั่นคงในการทำงานจากกรณีสถานประกอบการปิดกิจการและเลิกจ้าง 8.คุ้มครองสิทธิแรงงานนอกระบบ 9.สิทธิแรงงานข้ามชาติ

นพ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า จะปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 25% ใน 2 ปี หากปรับสูงเกินไปจะกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม ส่วนประกันสังคมเห็นด้วยกับการปฏิรูปประกันสังคมให้เป็นองค์กรอิสระ และการแก้ไข พ.ร.บ.ประกันสังคมจะใช้ทั้งฉบับแรงงาน และฉบับกระทรวงแรงงาน มาปรับเนื้อหาให้สอดคล้องกัน รวมทั้งขยายไปสู่แรงงานนอกระบบทุกกลุ่ม และเรื่องอนุสัญญาไอแอลโอนั้นคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบแล้ว แต่ได้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความว่าขัดต่อมาตรา 190 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญเพื่อเสนอต่อรัฐสภาก่อนหรือไม่ ซึ่งล่าสุดคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความว่าไม่ขัด ดังนั้น หากพรรคได้เป็นรัฐบาลต่อก็ดำเนินการได้ภายใน 1 เดือนที่เข้าไปทำงาน

นพ.บุรณัชย์ กล่าวอีกว่า ส่วนการจัดตั้งสถาบันและกองทุนส่งเสริมความปลอดภัยฯ ทางแรงงาน กับภาครัฐต้องหาทางออกร่วมกันในการกำหนดสัดส่วนอนุกรรมการตั้งสถาบันและตั้งกองทุนฯ และการตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงฯ ควรเน้นการบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองแรงงานให้นายจ้างจ่ายเงินชดเชยกรณีเลิกจ้างอย่างเข้มงวด และเห็นด้วยกับการนำ ปตท.กลับมาเป็นของประชาชน เพราะขณะนี้ ปตท.ถูกผูกขาดโดยเอกชนซึ่งเป็นสิทธิที่เอกชนไม่ควรจะได้ และการดูแลแรงงานต่างด้าวควรดูแลตามกฎหมายให้เท่าเทียมกันกับแรงงานไทย ยกเว้นการตั้งสหภาพแรงงาน
กำลังโหลดความคิดเห็น