xs
xsm
sm
md
lg

สภาอุตฯเผยผลสำรวจค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศยังสูงกว่าค่าจ้างคุณภาพของ ก.แรงงาน ถึง 15 บ.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สภาอุตฯ เผยผลสำรวจค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศยังสูงกว่าค่าจ้างคุณภาพของ ก.แรงงาน ถึง 15 บ.ปลัด รง.ชี้ เป็นสัญญาณดี นายจ้างยอมรับขึ้นค่าแรง เล็งนำตัวเลขสภาอุตฯให้คณะอนุวิชาการกลั่นกรองพิจารณา ด้านลูกจ้างโอดยังไม่พอค่าครองชีพ แนะจัดสวัสดิการที่พัก รถรับ-ส่ง ขายสินค้าอุปโภคบริโภคราคาถูก     

วันนี้ (8 มิ.ย.)  ที่กระทรวงแรงงาน  นพ.สมเกียรติ  ฉายะศรีวงศ์  ปลัดกระทรวงแรงงาน (รง.) ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้างกลาง (บอร์ดค่าจ้าง) กล่าวถึงกรณีที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลสำรวจอัตราค่าจ้างที่เหมาะสม โดยภาพรวมทั่วประเทศอยู่ที่ 226.67 บาท/วัน ซึ่งสูงกว่าผลสำรวจของ รง.ว่า เป็นการส่งสัญญาณที่ดีในอัตราค่าจ้างที่ผู้ประกอบการยอมรับว่าค่าจ้างในแต่ ละพื้นที่ควรปรับสูงขึ้น ให้สอดคล้องกับค่าใช้จ่ายในปัจจุบัน  ทั้งนี้ จะนำข้อมูลที่ ส.อ.ท.สำรวจส่งต่อให้นายสุนันท์  โพธิ์ทอง รองปลัดรง.ในฐานะประธานคณะอนุวิชาการและกลั่นกรองค่าจ้างกลางประกอบการ พิจารณา หลังจากคณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดเสนอตัวเลขที่ต้องการปรับขึ้นเข้ามาภาย ในวันที่ 16 มิ.ย.นี้ ขณะเดียวกัน ก็จะนำเข้าที่ประชุมบอร์ดค่าจ้างด้วย

“จาก ที่ส.อ.ท.เผยผลสำรวจมานั้น แสดงถึงการที่ผู้ประกอบการยอมรับว่า ต้องมีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำให้สูงขึ้น โดยจะนำข้อมูลตรงนี้มาประกอบในการพิจารณาด้วย ซึ่งการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ ต้องคำนึงในหลายด้าน ทั้งผู้ใช้แรงงานและผู้ประกอบการจะยอมรับได้ เนื่องจากการปรับค่าจ้างถือเป็นการเพิ่มภาระต้นทุนการผลิตให้กับนายจ้าง แต่ขณะเดียวกัน ก็ไม่ได้กระทบหนักจนราคาสินค้าต้องขยับสูงเกินจริง ดังนั้น ผู้ประกอบการเองไม่ควรถือโอกาสช่วงการปรับค่าจ้างขั้นต่ำปรับราคา สินค้าเกินความจำเป็น” นพ.สมเกียรติ กล่าว

ด้านนายชาลี ลอยสูง   ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า  หากมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจากเดิม  215 บาทต่อวันมาเป็น 226 บาทต่อวัน   ก็ยังไม่เพียงพอต่อค่าครองชีพของแรงงาน   อย่างไรก็ตาม ถ้ามีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในอัตรานี้จริง  ก็จะสามารถแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของแรงงานไปได้ระดับหนึ่ง แต่อยากให้มีมาตรการช่วยเหลือลดค่าใช้จ่ายแก่แรงงานด้วยเช่น  จำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคราคาถูก จัดหาที่พัก หรือคิดค่าเช่าที่พักราคาถูก

“ผมยืนยันว่าการปรับค่าแรงขั้นต่ำของแรงงานควรเป็นไปอย่างเป็นธรรมโดยการให้รายรับกับรายจ่ายของแรงงานมีความสมดุลกัน   หากคิดตามอัตราเงินเฟ้อในปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 4    ค่าครองชีพแรงงานอยู่ที่ 441 บาท/วัน   แต่หากมีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำจาก 215 บาทมาเป็น 226 บาท/วันจริง   ก็คิดว่าดีกว่าไม่ได้ปรับเลย  แม้จะไม่สามารถช่วยเหลือในเรื่องค่าครองชีพของแรงงานได้ร้อยเปอร์เซ็นต์” นายชาลี กล่าว

นายทวี   เตชะธีราวัฒน์       ประธานสภาองค์การลูกจ้างสมาพันธ์แรงงานแห่งประเทศไทย (สมท.) กล่าวว่า ค่าแรงขั้นต่ำนั้นถูกกดมาหลายปีแล้วซึ่งปัจจุบันน่าจะอยู่เกินกว่า 250 บาท/วัน  อย่างไรก็ตาม จากผลสำรวจของ ส.อ.ท.ระบุค่าจ้างที่เหมาะสมในภาพรวมควรอยู่ที่ 226.67 บาท/วันนั้นก็พอรับได้ ช่วยเหลือเรื่องค่าครองชีพแรงงานได้ระดับหนึ่ง  ทั้งนี้  ตนเคยพูดคุยกับนายจ้างหลายคนบอกว่า หากปรับค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นไปถึง  300 บาทต่อวันคงสู้ไม่ไหว  จะทำให้ขาดทุนและอยู่ไม่ได้  อาจจะต้องจ้างแรงงานต่างด้าวหรือย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่น   

“หากมีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำจริง   ภาครัฐก็ควรมีมาตรการช่วยเหลือนายจ้างและลูกจ้างเพื่อลดค่าใช้จ่ายควบคู่ไปด้วย  เช่น   การจัดรถรับ-ส่งลูกจ้าง    จำหน่ายอาหาร 3  มื้อราคาถูก   รัฐบาลต้องควบคุมราคาน้ำมันและให้กระทรวงพาณิชย์จำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค เช่น ข้าวสาร น้ำมันพืช ในราคาที่ต่ำกว่าท้องตลาดให้แก่นายจ้าง และสหกรณ์แรงงาน” นายทวี กล่าว

ทั้งนี้  เมื่อเปรียบเทียบผลสำรวจของ ส.อ.ท.และกระทรวงแรงงาน พบว่า ผลสำรวจของทั่วประเทศของ ส.อ.ท.สูงกว่าค่าจ้างตามอัตภาพของกระทรวงแรงงาน 31.21 บาท เมื่อเปรียบเป็นรายภาค พบว่า ภาคกลาง สูงกว่า 19.69 บาท ภาคเหนือ สูงกว่า 36.52 บาท ภาคใต้ สูงกว่า 20.56 บาท และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สูงกว่า 10.18 บาท

นอกจากนี้  เมื่อเปรียบเทียบผลสำรวจของ ส.อ.ท.กับผลสำรวจค่าจ้างตามคุณภาพของรง.พบว่า ผลสำรวจของทั่วประเทศ ส.อ.ท.สูงกว่า 15.44 บาท  เมื่อเปรียบเป็นรายภาค พบว่าภาคกลาง สูงกว่า 3.82 บาท ภาคเหนือ สูงกว่า 21.24 บาท ภาคใต้ สูงกว่า 3.26 บาท และมีเพียงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ต่ำกว่า 5.45 บาท ทั้งนี้  ส่วนใหญ่ผลสำรวจของส.อ.ท.สูงกว่าอย่างเห็นได้ชัด   แม้จะเปรียบทั้งอัตราค่าจ้างตามอัตภาพ หรือ คุณภาพของ รง.ก็ตาม

สำหรับตัวเลขของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สำรวจอัตราค่าจ้างที่เหมาะสม โดยภาพรวมทั่วประเทศอยู่ที่ 226.67 บาท/วัน ขณะที่แบ่งเป็นรายภาค พบว่า ภาคกลาง 231.88 บาท/วัน ภาคเหนือ 223.20 บาท/วัน ภาคตะวันออก 203.33 บาท/วัน ภาคใต้ 209.37 บาท/วัน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 190 บาท/วัน
 
ขณะที่ผลสำรวจอัตราค่าจ้าง ของกระทรวงแรงงาน พบว่า อัตราค่าจ้างตามอัตภาพ (อยู่ได้แบบประหยัด) เฉลี่ยทั่วประเทศ ณ ขณะนี้ คือ 195.41 บาท และเมื่อคิดเป็นอัตราค่าจ้างตามคุณภาพเฉลี่ย 211.23 บาท เมื่อแบ่งเป็นรายภาคสำหรับค่าจ้างที่คนงานอยู่ได้ คือ กทม.226 บาท ปริมณฑล 221.82 บาท กลาง 211.92 บาท เหนือ 186.68 บาท ตะวันออกเฉียงเหนือ 179.82 บาท ใต้  188.81 บาท

ส่วนผลสำรวจค่าจ้างตามคุณภาพชีวิตเฉลี่ยทั่วประเทศ ณ ขณะนี้ คือ 211.23 บาท เมื่อแบ่งเป็นรายภาค คือ  กทม.240.12บาท ปริมณฑล 239.29 บาท ภาคกลาง 228.06 บาท ภาคเหนือ 201.96 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 195.45 บาท และภาคใต้  206.11 บาท

ทั้งนี้ เมื่อแบ่งระยะห่างค่าจ้างตามอัตภาพกับอัตราค่าครองชีพเฉลี่ยทั่วประเทศติดลบอยู่ 20 บาท เมื่อแบ่งเป็นรายภาค กทม.ติดลบ 11 บาท ปริมณฑล ติดลบ 6 บาท ภาคกลางติดลบ 35 บาท เหนือติดลบ 23 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือติดลบ 13 บาท และภาคใต้ติดลบ 11 บาท

ส่วนระยะห่างอัตราค่าครองชีพ กับ อัตราค่าจ้างตามคุณภาพชีวิตเฉลี่ยทั่วประเทศติดลบ 37 บาท แบ่งเป็นรายภาค กทม.ติดลบ 25 บาท ปริมณฑลติดลบ 23 บาท ภาคกลางติดลบ 50.97 บาท เหนือติดลบ 38 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  และภาคใต้ ติดลบ 28 บาท

อย่างไรก็ตาม  เมื่อเปรียบเทียบผลสำรวจของ ส.อ.ท.และกระทรวงแรงงาน พบว่า ผลสำรวจของทั่วประเทศของ ส.อ.ท.สูงกว่าค่าจ้างตามอัตภาพของกระทรวงแรงงาน 31.21 บาท เมื่อเปรียบเป็นรายภาค พบว่าภาคกลาง สูงกว่า 19.69 บาท ภาคเหนือ สูงกว่า 36.52 บาท ภาคใต้ สูงกว่า 20.56 บาท และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สูงกว่า 10.18 บาท

นอกจากนี้  เมื่อเปรียบเทียบผลสำรวจของ ส.อ.ท.กับผลสำรวจค่าจ้างตามคุณภาพของรง.พบว่า ผลสำรวจของทั่วประเทศส.อ.ท.สูงกว่า 15.44 บาท  เมื่อเปรียบเป็นรายภาค พบว่าภาคกลาง สูงกว่า 3.82 บาท ภาคเหนือ สูงกว่า 21.24 บาท ภาคใต้ สูงกว่า 3.26 บาท และมีเพียงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ต่ำกว่า 5.45 บาท ทั้งนี้  ส่วนใหญ่ผลสำรวจของ ส.อ.ท.สูงกว่าอย่างเห็นได้ชัด   แม้จะเปรียบทั้งอัตราค่าจ้างตามอัตภาพ หรือ คุณภาพของ รง.ก็ตาม
กำลังโหลดความคิดเห็น