xs
xsm
sm
md
lg

ปลัดแรงงานตอกขึ้นค่าจ้างสนองนักการเมืองไม่ได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปลัด ก.แรงงาน ยันปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำไม่สนองการเมือง ชี้ ไม่สามารถปรับได้ตามตัวเลขค่าจ้างขั้นต่ำของนโยบายพรรคการเมือง ด้านนักวิชาการห่วงนโยบายพรรคการเมือง หลอก ปชช.แนะลดค่าใช้จ่าย-จัดสวัสดิการดูแลคุณภาพชีวิตแรงงานแก้ปัญหาค่าครองชีพได้มากกว่าปรับค่าจ้างขั้นต่ำ

วันนี้ (7 มิ.ย.) นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน (รง.) ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้างกลาง (บอร์ดค่าจ้าง) กล่าวถึงการทำงานของบอร์ดค่าจ้างว่าเป็นการทำเพื่อตอบสนองนโยบายพรรคการเมืองหรือไม่ ว่า ขอยืนยันไม่ได้ทำเพื่อตอบสนองนโยบายของพรรคการเมืองใด ซึ่งการสั่งการให้คณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดสำรวจอัตราค่าครองชีพในแต่ละจังหวัดนั้น ไม่ได้สั่งการให้เสนออัตราที่ต้องปรับขึ้น เนื่องจากการจะสั่งการให้อนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดเสนอตัวเลขมานั้น ต้องให้เป็นมติของบอร์ดค่าจ้าง จึงจะมีการพิจารณาภายในจังหวัดว่าจะขอปรับเท่าใด ก่อนเสนอมายังส่วนกลางในวันที่ 16 มิ.ย.นี้ เพื่อให้คณะอนุกรรมการวิชาการและกลั่นกรองค่าจ้างกลางพิจารณา ก่อนเสนอเข้าที่ประชุมบอร์ดค่าจ้างอีกครั้งในช่วงปลายเดือนมิ.ย.หรือก.ค.นี้ ทั้งนี้ จากข้อมูลที่คณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดเสนอมา เชื่อว่า ไม่สามารถปรับได้เท่ากับนโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างของทุกพรรคการเมืองแน่นอน
ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
ผมได้สั่งการให้อนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดสำรวจตั้งแต่ต้นปี โดยแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 31 พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งมีเวลาสำรวจ 2 เดือน อีกทั้งมีข้อร้องเรียนว่าแรงงานได้รับผลกระทบกับค่าครองชีพ จึงได้นำมาพิจารณา ผมรับรองว่าไม่มีทางขึ้นตามที่พรรคการเมืองต่างๆ เสนอมาแน่นอน ไม่ว่าจะ 300 บาท หรือ ร้อยละ 25 ภายใน 2 ปี อย่างไรก็ตาม หากพรรคการเมืองต่างๆ มีข้อมูลว่า สามารถทำได้ก็ขอให้เสนอมา” นพ.สมเกียรติ กล่าว

รศ.ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผอ.วิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า นโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของพรรคการเมืองต่างๆ ทำให้ผู้ประกอบการจะต้องปรับขึ้นค่าแรงแต่ไม่ได้มีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ 2-3 แสนแห่ง ซึ่งได้รับผลกระทบเพราะต้นทุนสูงขึ้นโดยเฉพาะสถานประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก ซึ่งน่าเป็นห่วงว่าในที่สุดแล้วนโยบายเหล่านี้ จะกลายเป็นการหลอกลวงประชาชนเพราะการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะกรรมการค่าจ้างกลางไม่ใช่ฝ่ายการเมือง หากคณะกรรมการค่าจ้างกลางบอกว่าทำไม่ได้ เพราะมีผลกระทบทางเศรษฐกิจในวงกว้าง ก็จะไม่มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ถ้าจะให้นโยบายปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทำได้จริงควรมีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเช่น ลดภาษีผลิตสินค้า ปล่อยสินเชื่อการลงทุนดอกเบี้ยต่ำ

“นโยบายปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำของพรรคการเมืองที่ออกมา ทำให้ตอนนี้ราคาสินค้าปรับขึ้นนำหน้าไปก่อนแล้ว หากปรับค่าจ้างขั้นต่ำจริงก็จะไปไล่ตามราคาสินค้า ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะไล่ทันหรือไม่ ดังนั้น การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำควรให้สอดคล้องกับค่าครองชีพ และมีการเฉลี่ยทุกข์สุขระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง อย่างไรก็ตาม หากจะแก้ปัญหาค่าครองชีพของแรงงานให้ได้ผล ควรช่วยเหลือแรงงานด้วยการลดค่าใช้จ่าย และดูแลคุณภาพชีวิตโดยจัดสวัสดิการในเรื่องปัจจัยสี่ เช่น สถานประกอบการจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคราคาถูก จัดที่พัก รถรับ-ส่งลูกจ้างโดยรัฐต้องไม่นำเอาเรื่องนี้มาถือเป็นรายได้และคำนวณภาษีแรงงาน ขณะเดียวกันก็ต้องลดภาษีให้แก่สถานประกอบการที่จัดสวัสดิการเหล่านี้แก่ลูกจ้างด้วย” รศ.ดร.ยงยุทธ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น