xs
xsm
sm
md
lg

“เฉลิมชัย” ชงข้อมูลผลสำรวจค่าครองชีพเข้าบอร์ดค่าจ้างกลาง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.แรงงาน
“เฉลิมชัย” ชงข้อมูลผลสำรวจค่าครองชีพเข้าบอร์ดค่าจ้างกลาง นัดถกไตรภาคีพรุ่งนี้ ชี้ ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นอยู่กับ คกก.ค่าจ้างกลาง  ด้าน ปลัดแรงงานเผยผลสุ่มสำรวจอัตราค่าครองชีพผู้ใช้แรงงานกว่า 2.3 หมื่นคนทั่วประเทศ พบค่าจ้างขั้นต่ำกับค่าครองชีพห่างกันมาก ระบุค่าจ้างตามอัตภาพทั่วประเทศติดลบ 20 บ. ค่าจ้างตามคุณภาพชีวิตติดลบ 37 บ.เหตุราคาสินค้าพุ่งขึ้นมาก แนะรัฐคุมราคาสินค้า

 

วันนี้ (1 มิ.ย.)  นายเฉลิมชัย   ศรีอ่อน   รัฐมนตรี ว่าการกระทรวงแรงงาน(รมว.รง.) กล่าวถึงการพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ที่คณะกรรมการค่าจ้างกลาง (บอร์ดค่าจ้าง)จะนัดประชุมในวันพรุ่งนี้ (2 มิ.ย.) เวลา 13.30 น.ว่า มีโอกาสที่จะปรับเพิ่มขึ้นตามสภาพความเป็นจริงของค่าครองชีพ และราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น  โดยตนได้สั่งให้ กระทรวงแรงงานไปสำรวจราคาสินค้า และค่าครองชีพในแต่ละพื้นที่ตั้งแต่เดือนต้นปีที่ผ่านมา และให้มีการสรุปความคืบหน้าทุก 3 เดือน  ซึ่งจะต้องนำเหตุผลดังกล่าวเสนอให้บอร์ดที่อยู่ในรูปแบบของคณะกรรมการไตรภาคี พิจารณา ตามสภาพความเป็นจริง  เพื่อให้ทั้งนายจ้างและลูกจ้างสามารถดำเนินธุรกิจและดำรงชีวิตอยู่ได้  และเชื่อว่าบอร์ดจะรับฟัง ส่วนจะปรับขึ้นเท่าใด ตนคงไม่สามารถชี้ชัดได้

นพ.สมเกียรติ  ฉายะศรีวงศ์  ปลัดกระทรวงแรงงาน (รง.) ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้างกลาง (บอร์ดค่าจ้าง)  กล่าวถึงผลสำรวจอัตราค่าครองชีพของผู้ใช้แรงงานแต่ละจังหวัดที่เสนอมายัง ส่วนกลางว่า ค่าเฉลี่ยค่าครองชีพส่วนใหญ่สูงขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 3-5 โดยจากการสำรวจผู้ใช้แรงงานทั่วประเทศกว่า 23,194 คน ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน - 31 พฤษภาคม 2554 เมื่อเฉลี่ยค่าใช้จ่ายรายเดือนต่อ 1 คนแล้ว แบ่งค่าใช้จ่ายเป็น ค่าอาหาร 2,015 บาท ค่าที่พัก 1,400 บาท ค่าใช้จ่ายส่วนตัว 819 บาท ค่าพาหนะ 649 บาท

               

นพ.สมเกียรติ กล่าวว่า   ตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคม 2554  หลังจากมีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น  159-221 บาทต่อวันนั้น จนถึงขณะนี้อัตราค่าครองชีพ ราคาสินค้าถีบตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้อัตราค่าครองชีพ กับ อัตราค่าจ้างปัจจุบัน มีระยะห่างเพิ่มขึ้น เช่น กรุงเทพมหานคร ที่มีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 215 บาท ต่อวัน แต่อัตราค่าจ้างที่จะทำให้ผู้ใช้แรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และทันต่ออัตราค่าครองชีพ ขณะที่แบ่งระยะห่างค่าจ้างตามอัตภาพกับอัตราค่าครองชีพเฉลี่ยทั่วประเทศ ติดลบอยู่ 20 บาท เมื่อแบ่งเป็นรายภาค กทม.ติดลบ 11 บาท ปริมณฑล ติดลบ 6 บาท ภาคกลางติดลบ 35 บาท เหนือติดลบ 23 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือติดลบ 13 บาท และภาคใต้ติดลบ 11 บาท

นพ.สมเกียรติ กล่าวอีกว่า  ส่วนระยะห่างอัตราค่าครองชีพ กับ อัตราค่าจ้างตามคุณภาพชีวิตเฉลี่ยทั่วประเทศติดลบ 37 บาท แบ่งเป็นรายภาค กทม.ติดลบ 25 บาท ปริมณฑลติดลบ 23 บาท ภาคกลางติดลบ 50.97 บาท เหนือติดลบ 38 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  และภาคใต้ ติดลบ 28 บาท

“ผมจะเสนอข้อมูลนี้ต่อที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้างกลางในวันที่ 2 มิ.ย.นี้ซึ่งขึ้นอยู่กับที่ประชุมว่าจะพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำหรือ ไม่    หากมีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ  ทางรัฐบาลโดยเฉพาะกระทรวงพาณิชย์ จะต้องมีมาตรการควบคุมราคาสินค้า ไม่ให้ถีบตัวสูงขึ้น เนื่องจากเมื่อมีการปรับค่าจ้างสถานประกอบการส่วนใหญ่ชอบใช้วิธีการทาง จิตวิทยาในการปรับราคาสินค้า ซึ่งไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง เช่น หากปรับค่าจ้างร้อยละ 10  ต้นทุนการผลิตจะอยู่ที่ร้อยละ 1-2 เท่านั้น” ปลัด รง.กล่าว

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรม (ส.อ.ท.) กล่าวว่า เห็นด้วยกับการปรับค่าแรงขั้นต่ำในช่วงนี้ เนื่องจากสินค้าอุปโภคบริโภคมีราคาสูงขึ้นและนโยบายพรรคการเมืองก่อให้เกิด กระแสการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ อย่างไรก็ตาม ควรปรับไม่เกิน 6-10 เปอร์เซ็นต์ เพื่อไม่ให้ภาระกับนายจ้างมากเกินไป และควรแบ่งการปรับค่าจ้างเป็นประเภทอุตสาหกรรมอย่างน้อย 3 กลุ่ม เช่น กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มและทอผ้า รวมทั้งมีการจัดสวัสดิการดูแลคุณภาพชีวิตแรงงานเพิ่ม เช่น การให้โรงอาหารในโรงงานจำหน่ายอาหารราคาถูกกว่าภายนอก การจัดให้มีหอพักหรือช่วยแบ่งเบาภาระค่าเช่าห้องพักแก่ลูกจ้าง ทั้งนี้ อยากให้หน่วยงานต่างๆ ทั้งกระทรวงแรงงาน ส.อ.ท.นำตัวเลขผลสำรวจค่าครองชีพและรายได้ของแรงงานมาหารือกัน เพื่อให้ได้ข้อมูลสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงมากที่สุด และนำไปใช้ปรับค่าจ้างได้อย่างเหมาะสม


“ตอนนี้การปรับค่าจ้างขั้นต่ำกลายเป็นกระแสไปแล้ว เพราะนโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองต่างๆ โดยมีการมองกันที่ตัวเลข 300 บาทต่อวัน แต่เป็นเพียงการพูดคุยระหว่างหน่วยงานรัฐกับฝ่ายการเมืองเท่านั้น ยังไม่ได้มีการพูดคุยกับฝ่ายนายจ้าง เท่าที่ประเมินนโยบายพรรคการเมือง เช่น พรรคประชาธิปัตย์ ที่ประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 25 เปอร์เซ็นต์ ภายใน 2 ปี หากปรับปีละ 12.5 เปอร์เซ็นต์ เฉลี่ยแล้วทำให้ผู้ประกอบการต้องจ่ายค่าจ้างเพิ่ม700 บาทต่อคนต่อเดือน นโยบายพรรคเพื่อไทย ที่ชูประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวัน คิดเป็น 47 เปอร์เซ็นต์ ทำให้นายจ้างต้องจ่ายเพิ่ม 2.7 พันบาทต่อคนต่อเดือน” นายธนิต กล่าว


ด้าน นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า การปรับค่าจ้างครั้งนี้ยังไม่แน่ใจว่าปรับขึ้นเท่าไหร่ แต่ถ้าปรับตามที่ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้างได้เคยพูดไว้ก่อนหน้านี้ว่าจะขึ้นค่าจ้างเป็น 228 บาทต่อวัน ก็ยังไม่พอกับค่าครองชีพที่สูงขึ้นในขณะนี้ ทั้งนี้ที่ผ่านมา คสรท.ได้มีการรณรงค์การขึ้นค่าจ้างที่เป็นธรรม เพื่อให้พี่น้องแรงงานอยู่ได้ โดยยึดหลักที่ว่าต้องมีรายรับที่เพียงพอกับรายจ่าย ซึ่งตัวเลขมันต้องสมดุลกัน



นายชาลี กล่าวต่อว่า ตนไม่เห็นด้วยกับการนำประเด็นเรื่องการปรับค่าจ้างขั้นต่ำมาใช้เป็นนโยบายหา เสียงของบรรดาพรรคการเมือง กลายเป็นนโยบายชั่วคราว ที่แต่ละพรรคจะใช้ประโยชน์หาเสียงเลือกตั้งเท่านั้น พอเลือกตั้งได้เป็นรัฐบาลแล้วก็เงียบหายไปเหมือนเดิม ซึ่ง คสรท.สนับสนุนให้มีการออกกฎหมายในการปรับโครงสร้างค่าจ้างให้เป็นรูปธรรม แล้วให้เลิกใช้ค่าจ้างขั้นต่ำ โดยแรงงานใหม่ก็ให้ใช้คำว่าค่าจ้างแรกเข้า ส่วนแรงงานที่มีอายุงาน 1 ปีขึ้นไป ก็ให้ปรับค่าจ้างตามระดับที่กำหนดไว้ ขึ้นอยู่กับภาวะเงินเฟ้อและสภาพเศรษฐกิจในช่วงนั้นๆ


“ทุกวันนี้แต่ละบริษัทก็จะรอแต่ค่าจ้างขั้นต่ำอย่างเดียว ไม่ยอมขึ้นค่าจ้างตามที่ลูกจ้างควรจะได้รับ จึงทำให้แรงงานต้องตกอยู่ในสภาพถูกกดค่าแรง ตามไม่ทันค่าครองชีพ แต่ถ้าเรามีโครงสร้างค่าจ้างรายปีมีกฎหมายรองรับ ค่าจ้างก็จะปรับขึ้นทุกปี” นายชาลี กล่าว

นายชาลี กล่าวว่า ที่ผ่านมา คสรท.เคยทำการสำรวจค่าครองชีพ ตั้งแต่ปี 52 จนได้ข้อสรุปว่าค่าแรงที่ควรจะเป็นในขณะนั้น คือ 421 บาทต่อคนต่อวัน แต่ถามว่า ณ วันนี้ ค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้นมาก ในระดับเงินเฟ้อที่เพิ่ม 3-5% เพราะฉะนั้น การขึ้นค่าจ้างควรจะต้องบวกเพิ่มไปอีก 20 บาท คือ 441 บาทต่อคนต่อวัน ซึ่งเป็นตัวเลขที่ลูกจ้างอยู่ได้ในสภาพปัจจุบัน


ขณะที่นายจิรวัฒน์ โพนเวียงอนุกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำฝ่ายลูกจ้าง จ.สมุทรสาคร กล่าวว่า จ.สมุทรสาคร ยังไม่มีการสำรวจค่าครองชีพ เนื่องจากคณะอนุกรรมการเพิ่งได้รับเลือกตั้งใหม่ อย่างไรก็ตาม เท่าที่ดูค่าครองชีพในพื้นที่เช่น ราคาอาหาร สินค้าทุกอย่างแพงขึ้นปรับขึ้นไม่ต่ำกว่า 5% ดังนั้น ฝ่ายลูกจ้างจึงอยากให้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอย่างน้อย 250 บาท โดยก่อนหน้านี้อนุกรรมการฝ่ายลูกจ้างพยายามผลักดันเรื่องนี้แต่อนุกรรมการ ฝ่ายนายจ้างไม่เห็นด้วยเพราะจะมีผลไปถึงแรงงานต่างด้าว

“ขณะนี้ได้ค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ที่ 215 บาทต่อวัน เมื่อของทุกอย่างแพงขึ้น ลูกจ้างก็อยู่ไม่ได้เพราะเงินหมดไปกับค่าข้าว 3 มื้อ ค่ารถ อยากให้มีการปรับค่าจ้างโดยมีโครงสร้างค่าจ้างที่ชัดเจนและเปิดเผย เนื่องจากนายจ้างส่วนใหญ่ยังไม่มีโครงสร้างเงินเดือน เชื่อว่า จะทำให้การปรับค่าจ้างแต่ละปีทำได้ง่ายกว่า” นายจิรวัฒน์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น