xs
xsm
sm
md
lg

อึ้ง!! คนงานประสบอันตรายจากการทำงาน 1.4 แสนคน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ก.แรงงาน เล็งของบพันล้านตั้งกองทุนความปลอดภัย กรมสวัสดิการฯ เผย ปี 2553 มีแรงงานบาดเจ็บจากการทำงานกว่า 1.4 แสนราย เสียชีวิต 650 คน ทุพพลภาพ 10 คน สูญเสียอวัยวะ 2,157 คน จ่ายเงินทดแทนกว่า 1.5 พันล้านบาท มีสถานประกอบการถูกฟ้องร้อง 54 คดี

วันนี้ (10 พ.ค.) นายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวระหว่างเป็นประธานพิธีเปิดงาน 10 พฤษภาคม วันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ ที่อาคารกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (ส่วนแยกตลิ่งชัน) กรุงเทพฯ ว่า การจัดงานครั้งนี้เพื่อรำลึก 18 ปีโศกนาฏกรรมคนงานโรงงานผลิตตุ๊กตาเคเดอร์ จ.นครปฐม เมื่อปี พ.ศ.2536 ที่มีพนักงานเสียชีวิต 188 คน และบาดเจ็บ 469 คน เนื่องจากสถานประกอบการมุ่งแต่การผลิตไม่ได้คำนึงถึงความปลอดภัยและคุณภาพชีวิตของแรงงาน ดังนั้น รัฐบาลจึงได้เห็นชอบให้วันที่ 10 พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ ขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2554 จะเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 16 กรกฎาคมนี้ โดยได้กำหนดให้สถานประกอบการต้องดูแลความปลอดภัยของแรงงาน หากไม่ปฏิบัติตามจะมีบทลงโทษเข้มงวดมากขึ้น ขณะเดียวกัน จะมีการจัดตั้งสถาบันความปลอดภัยฯ และกองทุนความปลอดภัยฯ ขึ้น ซึ่งกระทรวงแรงงานจะเสนอของบประมาณจัดตั้งกองทุนนี้ประมาณ 1 พันล้านบาท แต่ในรัฐบาลชุดนี้คงไม่สามารถดำเนินการได้ทัน เพราะยุบสภาเสียก่อน ดังนั้น จึงจะเสนอของบประมาณจากรัฐบาลชุดหน้า

“จากข้อมูลของกรมสวัสดิการฯ พบว่า มีแรงงานที่ลางาน 3 วัน เพราะประสบอุบัติเหตุจากการทำงานในปี พ.ศ.2543 อยู่ที่ 9.69 คน ต่อ 1 พันคน ปี พ.ศ.2549 อยู่ที่ 7.02 คน ต่อ 1 พันคน และ ปี พ.ศ.2553 อยู่ที่ 5.22 คน ต่อ 1 พันคน จะเห็นว่าสถิติลดลงเรื่อยๆ อย่างไรก็ตาม การเริ่มบังคับใช้ พ.ร.บ.ความปลอดภัยฯ ระยะแรกคงยังไม่เน้นการลงโทษ แต่จะให้กรมสวัสดิการฯ ลงไปตรวจสอบตามสถานประกอบการต่างๆ และให้คำแนะนำในการดูแลความปลอดภัยแก่นายจ้างและลูกจ้างก่อน” ปลัดแรงงาน กล่าว
ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
นางอัมพร นิติสิริ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวว่า ใน ปี พ.ศ.2553 พบว่ามีแรงงานประสบอันตรายจากการทำงาน 149,539 คน ในจำนวนนี้เสียชีวิต 650 คน ทุพพลภาพ 10 คน สูญเสียอวัยวะ 2,157 คน โดยแรงงานที่ประสบอุบัติเหตุจากการทำงานจะได้รับเงินจากกองทุนประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทน ซึ่งทั้ง 2 กองทุนได้จ่ายเงินทดแทนไปทั้งสิ้น 1,592 ล้านบาท ขณะเดียวกันได้ดำเนินคดีกับสถานประกอบการตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ในช่วงวันที่ 1 ต.ค.2553 - 1 พ.ค.2554 จำนวน 215 คดี ในจำนวนนี้เป็นคดีความปลอดภัยในการทำงาน 54 คดี เป็นเงินค่าปรับรวมกว่า 7 ล้านบาทและในจำนวนนี้เป็นเงินค่าปรับจากการที่แรงงานประสบอุบัติเหตุในการทำงานกว่า 4 ล้านบาท ซึ่งเกินกว่าครึ่งหนึ่งของเงินค่าปรับทั้งหมด

“พ.ร.บ.ความปลอดภัยฯ กำหนดบทลงโทษสถานประกอบการที่ไม่ดูแลความปลอดภัยของแรงงานเข้มข้นขึ้นโดยจากเดิมที่กำหนดมีโทษจำคุก 1 ปี ปรับ 2 แสนบาท เพิ่มเป็นจำคุก 2 ปีปรับ 8 แสนบาท” นางอัมพร กล่าว

วันเดียวกัน ที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และองค์กรพันธมิตร ร่วมกันแถลงข่าวในการจัดเวทีสาธารณะ“รำลึก 18 ปี โศกนาฏกรรมเคเดอร์ กับการจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ ในฝันของผู้ใช้แรงงานจะเป็นจริงได้หรือไม่”โดยนายชาลี ลอยสูง ประธาน คสรท.เปิดเผยว่า จากการที่ พ.ร.บ.ความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อมในการทำงานจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 16 กรกฎาคมนี้ จนนำมาสู่การจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ นั้น ทางเครือข่ายได้มีมติร่วมกันและขอแถลงจุดยืนต่ออนุกรรมการยกร่างกฎหมายสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ ที่มี นางอัมพร นิติศิริ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เป็นประธานว่า ขอให้ชะลอการประชุมยกร่างการจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ และให้กระทรวงแรงงาน ดำเนินการจัดเวทีประชาพิจารณ์ร่วมกับผู้ใช้แรงงานทั่วประเทศ เพื่อรับฟังความคิดเห็น และนำมาเป็นแนวทางในการยกร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวต่อไป

นายชาลี กล่าวต่อไปว่า สาเหตุที่ทางเครือข่ายมีมติดังกล่าว เป็นเพราะจากการประชุมยกร่างสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ ที่ผ่านมา เกิดข้อขัดแย้งระหว่างตัวแทนภาครัฐและตัวแทนผู้ใช้แรงงานหลายประเด็น โดยกลุ่มผู้ใช้แรงงานนั้นต้องการให้สถาบันมีศูนย์ข้อมูลและรับเรื่องราวร้องทุกข์ เพื่อจะได้ข้อมูลที่เป็นองค์ความรู้ในการติดตามแก้ปัญหาต่อหน่วยงานรัฐโดยตรง และสามารถเข้าไปในสถานประกอบการ เพื่อให้คำแนะนำด้านความปลอดภัยได้ อีกทั้งกลุ่มผู้ใช้แรงงานยังต้องการงบประมาณจากภาครัฐเป็นทุนประเดิมและรับโดยตรงจากดอกผลของกองทุนเงินทดแทนเป็นร้อยละ 20 แต่ฝ่ายตัวแทนภาครัฐที่มีเสียงข้างมากกลับเห็นต่าง มองว่า การมีศูนย์ข้อมูลและรับเรื่องราวร้องทุกข์เป็นการขัดต่อกฎหมาย และเห็นว่าเป็นการซ้ำซ้อนหากจะให้มีรายได้จากกองทุนเงินทดแทนโดยตรง ดังนั้นต้องผ่านการพิจารณาจาก กสร.ก่อน

“นอกจากนี้ ตัวแทนฝ่ายรัฐยังมองว่าสถาบันที่จัดตั้งขึ้นควรเป็นหน่วยงานระดับกองภายใต้กรมสวัสดิการฯ แตกต่างจากผู้ใช้แรงงานที่ต้องการให้องค์กรเป็นอิสระภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน ทั้งนี้ในที่ประชุมจะมีการตัดสินด้วยการลงมติโดยการสอบถามความเห็นของกรรมการทีละคน ซึ่งไม่เป็นธรรมต่อผู้ใช้แรงงาน เพราะมีสัดส่วนในอนุกรรมการไม่เท่าเทียมกัน ดังนั้น เครือข่ายจึงเห็นควรให้มีการชะลอการยกร่างดังกล่าวออกไปก่อน” ประธาน คสรท.กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น