มูลนิธิสิทธิฯ ชี้ กฎหมายกองทุนเงินทดแทน ใช้ไม่ได้จริง กรณีแรงงานต่างด้าวผิด กม.เหตุนายจ้างหนี-จ่ายค่ารักษาต่ำกว่าความเป็นจริง ด้าน กบร.เผย มีแนวคิดตั้งกองทุนพิเศษช่วยแรงงานต่างด้าวถูกกฎหมาย
วันนี้ (25 เม.ย.) ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ คณะอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) ร่วมจัดการประชุมเสวนา เรื่อง “การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนผู้เข้าเมืองโดยผิดกฎหมายที่ได้รับอนุญาตให้ทำงาน ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวระหว่างรอการส่งกลับ” โดยมีกรณี นายชาลี ดีอยู่ เป็นกรณีศึกษา ซึ่งทางคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ได้เป็นตัวแทนในการยื่นหนังสือให้กับทางตัวแทนจากสำนักบริหารแรงงานต่างด้าว เพื่อพัฒนาระบบเยียวยาแรงงานข้ามชาติที่ได้รับบาดเจ็บจากการทำงานอย่างบูรณาการ
นางสาวญาดา หัตถธรรมนูญ ผู้ช่วยเลขาธิการมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนเเละการพัฒนา กล่าวว่า กองทุนเงินทดแทนนั้น หากว่าเป็นคนต่างด้าวที่เข้าเมืองมาอย่างผิดกฎหมายแล้ว ก็ไม่สามารถเข้าถึงเงินในกองทุนนี้ได้ แต่ได้มีกฎหมายเข้ามาบังคับให้นายจ้างต้องมารับผิดชอบค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วพอนายจ้างไปตกลงกับลูกจ้างที่เป็นแรงงานต่างด้าว กลับได้ค่าชดเชยและค่ารักษาพยาบาลที่น้อยกว่าความเป็นจริงมาก สุดท้ายแล้วลูกจ้างจึงไม่มีทางเลือก ต้องยอมให้ถูกเอาเปรียบ หรือนายจ้างบางคนก็หนีหาตัวไม่ได้ จึงอยากให้มีหน่วยงานที่เข้ามาดูแลในส่วนนี้ด้วย
ด้านนายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า ทางกองทุนเงินทดแทนต้องทบทวนถึงแนวปฏิบัติ ที่กีดกันแรงงานขามชาติในการเข้าถึงเงินทดแทน ซึ่งถือเป็นการเลือกปฏิบัติ และทางกระทรวงแรงงานควรมีบทบาทในการเข้ามาช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติให้มากกว่านี้ เพราะพอคนเหล่านี้เกิดอุบัติเหตุแล้ว นายจ้างก็เลิกจ้าง ทุกฝ่ายต้องคำนึงถึงสิทธิขั้นพื้นฐานไม่แบ่งแยกเชื้อชาติ
ขณะที่นายธวัชชัย เลขสัมฤทธิ์ สำนักนักวิชาการแรงงานชำนาญพิเศษ ตัวแทนจากสำนักงานบริหารแรงงานต่างด้าว (กบร.) กล่าวว่า ต้องมีการประสานงานทุกหน่วยงานอย่างบูรณาการ ทั้งโรงพยาบาล ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง นายจ้าง ลูกจ้าง โดยให้ข้อมูลเชื่อมโยงกัน ซึ่งตอนนี้ได้มีแนวความคิดเรื่องกองทุนพิเศษที่จะให้ทางบริษัทเอกชนด้านประกันชีวิตเข้ามาดำเนินการ เพื่อเป็นกองทุนในการจ่ายเงินชดเชยให้กับแรงงานต่างด้าวที่ใช้บัตรสีชมพู คือ ได้รับการผ่อนผันให้ทำงาน ซึ่งทางสำนักงานประกันสังคมจะเป็นผู้จัดหาในส่วนนี้ และจะมีการนำมาหารือต่อไป ส่วนแรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมายจะไม่ได้รับการคุ้มครองแต่อย่างใด แต่จะมีการประสานให้นายจ้างเข้ามารับผิดชอบ