“เฉลิมชัย” เตรียมหาช่อง แก้ กม.ให้ผู้ประกันตนเลือกระบบรักษาพยาบาล ด้านประธานบอร์ด สปส.คาดรัฐมีงบไม่พอ หากรักษาฟรีทุกระบบ
วันนี้ (18 มี.ค.) นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ นายปราโมทย์ โชติมงคล ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เสนอให้พิจารณาแก้ไขกฎหมายประกันสังคม ในส่วนของการเก็บเงินสมทบไปเป็นค่ารักษาพยาบาล ซึ่งถือเป็นกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมกับผู้ประกันตน และขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 30 ว่า ทางกระทรวงแรงงานมีแนวคิดที่จะแก้ไขปัญหาความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นอยู่แล้ว โดยก่อนหน้านี้ ประมาณ 2 สัปดาห์ได้มอบหมายให้ นายปั้น วรรณพินิจ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) หารือกับคณะกรรมการกฤษฎีกา ในการหาช่องทางแก้กฎหมาย หรือ อาจออกเป็นพระราชกฤษฎีกา โดยเสนอแนวคิดให้ผู้ประกันตนสามารถเลือกรักษาในระบบใดก็ได้
นายเฉลิมชัย กล่าวว่า การที่จะให้เสนอแก้ไขกฎหมาย ในฐานะที่ตนเป็นประธานคณะกรรมการวิสามัญแก้ไขกฎหมายประกันสังคมอยู่ในขณะนี้ ไม่สามารถทำได้ เพราะถือว่าเป็นกฎหมายที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติในอีกหลักการ ทั้งนี้ ข้อเสนอของประธานผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นเพียงความคิดเห็น ส่วนกฎหมายประกันสังคมนั้นจะขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด
ด้านนายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการประกันสังคม(บอร์ด) กล่าวว่า หากได้รับหนังสือจากประธานผู้ตรวจการแผ่นดินก็จะมอบให้ฝ่ายกฎหมายดำเนินการตามลำดับชั้น อย่างไรก็ตาม กฎหมายประกันสังคมได้มีการพิจารณากันเสร็จสิ้นตั้งแต่ปี 2533 ซึ่งก่อนหน้านั้น ก็พูดถึงกันมา 30-40 ปี และผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฏรโดยที่ไม่มีใครคัดค้านเลย เพราะถือว่าเป็นระบบสากลที่มุ่งเน้นให้ดูแลตัวเองและรับผิดชอบต่อสังคม
“เรายึดแนวทางนี้มาโดยตลอด ตอนหลังเมื่อมีรัฐธรรมนูญ ซึ่งในมาตรา 51 ระบุในทำนองว่าผู้ยากไร้ต้องได้รับบริหารด้านสาธารณสุข โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่เอาเข้าจริงๆ ระบบของ สปสช.ก็เอาคนเข้ามาทั้งหมด ไม่ใช่แค่ผู้ยากไร้ การที่บอกว่าระบบประกันสังคมทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมอาจเป็นช่องทางให้นายจ้างไม่ต้องรับผิดชอบจ่ายค่าประกันตนให้ลูกจ้างด้วยซ้ำ” นายสมเกียรติ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามถึงข้อเสนอของฝ่ายลูกจ้างที่ให้สร้างความเท่าเทียมกัน โดยรัฐจ่ายเงินสนับสนุนให้ผู้ประกันตนเท่ากับผู้รับบริการของ สปสช.นายสมเกียรติ กล่าวว่า ถ้าเป็นไปได้ก็ดี เพราะจะได้นำเงินในส่วนที่นายจ้างและลูกจ้างจ่ายไปใช้ต่อยอดในด้านอื่นๆ แต่ตนไม่แน่ใจว่ารัฐบาลจะมีงบประมาณมากพอที่จะทำเช่นนั้นหรือไม่
นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่ารัฐบาลไม่ควรปล่อยให้ศาลรัฐธรรมนูญมีการตัดสิน เพราะเป็นปัญหาที่เหลื่อมล้ำมานานมาก ควรที่จะพิจารณาแก้ไขโดยทันที โดยรัฐบาลต้องนำเงินมาสมทบให้ผู้ประกันตนในส่วนของการรักษาพยาบาลเพื่อให้มีสิทธิเท่าเทียมกัน เหตุใดผู้ประกันตนต้องจ่ายเพิ่มในส่วนของการรักษาพยาบาล ในขณะที่คน 47 ล้านคนของ สปสช.ไม่ต้องจ่ายค่ารักษาในส่วนดังกล่าว ทั้งที่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญเดียวกัน