xs
xsm
sm
md
lg

กรรมกรยืนกราน รัฐต้องจ่ายสมทบค่ารักษาพยาบาลเท่า สปสช.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เนต
กรรมกรแสดงจุดยืน ให้รัฐจ่ายสมทบค่ารักษาพยาบาลเท่า สปสช.แต่ยังสังกัด สปส.ด้านผู้นำแรงงานจี้ปลัดแรงงานเรียกทุกฝ่ายหารือ หวั่นผู้ประกันตนสับสนไม่จ่ายเงินอาจเสียสิทธิ์

วันนี้ (14 มี.ค.) น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ให้สัมภาษณ์ถึงความการเคลื่อนไหวเรื่องความเหลื่อมล้ำในการจ่ายเงินด้านสุขภาพโดยมองว่าผู้ประกันตนของสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ไม่ได้รับความเป็นธรรมเพราะต้องจ่ายทั้งภาษีและเงินสมทบ ขณะที่ประชาชนที่เป็นสมาชิกบัตรทองหรือหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)กลับได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลทั้งหมด ว่า คสรท.ได้มีการประชุม และมีจุดยืนคือให้รัฐบาลเอาเงินมาใส่เพิ่มในส่วนของค่ารักษาพยาบาลเหมือนกับที่จ่ายให้กับ สปสช.แต่ยังให้อยู่ในการดูแลของ สปส.ต่อไป

ขณะที่ นายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หากต้องโอนย้ายงานด้านสุขภาพของ สปส.ไปไว้ที่สปสช.แล้วสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนไม่ขาดหายก็ไม่คัดค้าน แต่ก็ต้องตั้งคำถามกับคุณภาพการรักษาพยาบาลของสปสช.เช่นกัน เพราะต้องดูแลคนกว่า 40 ล้านคน ขณะที่ระบบของสปส. หากไม่ดีจริง แต่ทำไมผู้ประกันตนในมาตรา 39 (ประกันตนเอง) ถึงเพิ่มมากขึ้นทุกวัน ขณะเดียวกันการเคลื่อนไหวที่ให้ผู้ประกันตนหยุดจ่ายเงินเข้า สปส.นั้น เป็นเรื่องน่าห่วงเพราะไม่รู้ว่ามีการฮั้วกับนายจ้างหรือไม่ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริงจะทำให้เกิดปัญหาในการบริหารกองทุนประกันสังคมแน่จึงต้องการขอเข้าพบ นายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงานในฐานะประธานคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด) เพื่อขอให้ประสานไปยังองค์กรต่างๆ ให้เข้ามาหารือเรื่องนี้

ด้าน นายณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ทำไมมาตรฐานพยายาบาลของประเทศไทยถึงไม่ใช้มาตรฐานเดียวกัน ซึ่งส่วนใหญ่ตอบไม่ได้ และทำไมคนกว่า 58 ล้านคน ซึ่งรวมถึงข้าราชการจึงรักษาพยาบาลโดยไม่ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาล ขณะที่ผู้ประกันตนที่มีเงินเดือนไม่มากกลับต้องจ่าย ซึ่งตรงนี้ไม่มีใครสนใจ แต่ตอนนี้มีคนพยายามพิสูจน์ว่านอกจากผู้ประกันตนจ่ายมากกว่าแล้ว ยังให้บริการแย่กว่า ซึ่งสิ่งเหล่านี้สปส.ต้องตอบให้ได้ และถ้าต้องการรักษาระบบเอาไว้ก็ต้องให้บริการดีกว่า แต่ตอนนี้ สปส.เถียงไม่ขึ้นว่าดีกว่า สปสช.อย่างไร

กำลังโหลดความคิดเห็น