นายกฯ เผย ปฏิรูป สปส.ดันเป็นอิสระ-โปร่งใส พร้อมดำเนินการควบคู่กองทุนการออมแห่งชาติ ด้านนักวิชาการชี้บอร์ดผู้บริหารสปส.ควรมาจากผู้ประกันตนที่แท้จริง อีกทั้งยังบริการแย่กว่า สปสช.นับ 100 รายการ
วันนี้ (13 ม.ค.) ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ปาฐกถาพิเศษในการประชุมสมัชชาแรงงาน หัวข้อ “ปฏิรูปประกันสังคมกับคุณภาพแรงงาน : ประกันสังคมถ้วนหน้า อิสระและโปร่งใส” ตอนหนึ่งว่า การจัดสมัชชาน่าจะเป็นส่วนสำคัญในการเดินหน้าปฏิรูปประกันสังคม ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล เพราะวันนี้มีความจำเป็นต้องปฏิรูประบบประกันสังคมในปัจจุบันได้แล้ว โดยมองจากภาพรวมปัญหาของผู้ใช้แรงงาน และแนวโน้มต่างๆ ทางเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มสวัสดิการของผู้ใช้แรงงานให้ครอบคลุม รวมทั้งทำให้กองทุนเป็นความอิสระและโปร่งใสในการจัดการกองทุนประกันสังคม ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้เกี่ยวข้องจะต้องรับไปดำเนินการ ทั้งนี้รัฐบาลได้ประกาศแผนปฏิบัติการเร่งด่วนให้ประชาชนอยู่นอกระบบของประกันสังคมในปัจจุบัน สามารถเข้ามาสู่ระบบประกันสังคมได้ โดยจะดำเนินควบคู่ไปกับกองทุนการออมแห่งชาติ ในส่วนของการบริหารจัดการที่จะเห็นธรรมาภิบาล ก่อนหน้านี้มีการเสนอกฎหมายปรับปรุงโครงสร้างสำนักงานประกันสังคมเป็นอิสระ เข้าใจว่ากฎหมายกำลังพิจารณาอยู่ในสภา
ด้าน น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวในการเสวนาเรื่องทิศทางการปฏิรูปประกันสังคมกับการคุ้มครองคุณภาพชีวิตคนทำงานทุกภาคส่วน ว่า ผู้ใช้แรงงานรู้สึกว่าการใช้เงินของสปส.มีความเสี่ยงเกินไป จึงอยากให้สปส.เป็นอิสระและผู้ที่ดำรงตำแหน่งบอร์ดประกันสังคมควรมาจากผู้ประกันตนที่แท้จริง รวมทั้งให้สปส.อยู่ภายใต้สำนักนายกรัฐมนตรี เพราะอนาคต สปส.ไม่ใช่แค่ดูแลผู้ใช้แรงงานในระบบ 9 ล้านคน แต่ขยายไปสู่แรงงานนอกระบบอีก 20 ล้านคน
นพ.วิชัย โชควิวัฒน กรรมการในคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า สิทธิประโยชน์การรักษาพยาบาลของไทยยังไม่เป็นธรรม เพราะข้าราชการและบัตรทอง รัฐบาลออกให้หมด แต่สปส.ผู้ประกันตนออกเอง และการใช้เงินยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ซึ่งจากการศึกษาเปรียบเทียบ พบว่า สิ่งที่ผู้ประกันตนควรได้รับควรมากกว่านี้ เช่น กรณีเมื่อผู้รับบริการเสียชีวิต ซึ่งบัตรทอง และข้าราชการได้รับเงินค่าเสียหาย แต่ สปส.ไม่มี เคยพยายามออกมาแต่ถูกต่อต้าน และระบบปัจจุบันได้น้อยกว่าบัตรทองหลายเรื่อง ดังนั้น จึงควรโอนระบบการรักษาพยาบาลไปอยู่สปสช.ทั้งหมด เพราะสปส.ใช้เงินรักษาพยาบาลหัวละกว่า 2 พันบาทซึ่งแพงเกินไปและเข้าไปสู่โรงพยาบาล ทั้งนี้ มีหลายสิ่งที่ผู้ประกันตนควรได้รับเพิ่มขึ้น อย่างกรณีการผ่าต้อกระจก หัวใจ ควรพัฒนาจนมีศูนย์ผ่าตัดให้มากขึ้น
ขณะที่นายปั้น วรรณพินิจ เลขาธิการสปส.กล่าวว่า กำลังดำเนินการเรื่องการรักษาพยาบาลข้ามโรงพยาบาล โดยกำลังคุยในรายละเอียด ซึ่งโรงพยาบาลสปส.มี 90 แห่งซึ่งได้แนะนำให้จัดวงคุยกันเพื่อรักษาข้ามโรงพยาบาลได้ และในเดือนเมษายนกำลังพิจารณาให้ข้ามวงจากเอกชนไปโรงพยาบาลรัฐได้ แต่กำลังคุยกันในเรื่องรายละเอียดค่าใช้จ่ายบางตัว เพราะอยากให้กระโดดข้ามวงมาได้ ส่วนเรื่องการปรับโครงสร้างสปส.เป็นองค์กรอิสระนั้น ตอนนี้สปส.ครอบคลุมทุกภาคส่วนของประเทศแล้ว จึงควรเปลี่ยนจากระบบไตรภาคีเป็นพหุภาคี โดยการมีส่วนร่วม แทนที่การปฏิบัติจะถูกสั่งการจากใครก็ไม่รู้ มาเป็นผู้ประกันตนสั่งการและควบคุมดูแล คำถามคือการเข้ามาควบคุมแค่เฉพาะการเลือกตั้งหรือกรรมการแค่นั้นพอหรือไม่ ตนคิดว่าควรมีรูปแบบของสมัชชาเข้ามากำกับดูแลด้วย ซึ่งเชื่อว่า นายกฯเองก็สนใจในแนวทางนี้อยู่
นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า คนไทย 65 ล้านคน มีเพียงไม่กี่คนที่ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาล คือ ผู้ประกันตน นอกจากนี้ รัฐบาลจ่ายให้หมด แม้ยังจ่ายให้ไม่เท่ากัน โดยจ่ายให้ส.ส. 5 หมื่นบาทต่อคนต่อปี นอกจากนี้ ผู้ประกันตนจ่ายเงินเองแล้ว ยังได้ของที่แย่กว่า ขณะที่ผู้ใช้แรงงานยังเชื่อว่าระบบ สปส.ดีกว่า แต่ตนได้ศึกษาเปรียบเทียบแล้ว พบว่ามีความต่างกันนับร้อยรายการ โดยขณะนี้ผู้ประกันตนเป็นคนกลุ่มเดียวที่ห้ามป่วยฉุกเฉินเกิน 2 ครั้งต่อปี และยังมีอีกว่า กว่า 10 กลุ่มรายการที่สปส.ไม่มีให้ แต่บัตรทองกลับมี อยากเสนอทางออก คือ 1.ให้จัดชุดสิทธิประโยชน์เท่ากับบัตรทอง 2. อยากให้ระบบการจัดระบบสวัสดิการสุขภาพเป็นหนึ่งเดียวเพื่อความเป็นธรรม ซึ่งทำให้มีความเป็นเอกภาพ
ด้าน นายณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การปฏิรูป สปส.ต้องทำเพื่อประชาชนและผู้ใช้แรงงาน แต่ที่ผ่านมากระบวนการทั้งหมดไม่ได้เป็นเช่นนั้น โดยมีข้อสังเกต 10 ประการ คือ 1.ไม่มีสิ่งใดได้มาที่ไม่ได้จากการต่อสู้ของผู้ใช้แรงงาน 2 การต่อสู้ใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 5 ปี โดยกว่าจะได้ระบบประกันสังคมใช้เวลาถึง 30 ปี ซึ่งตอนนั้นมีทั้งผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่ที่ประหลาดใจคือตอนนี้ผู้ไม่เห็นด้วยกลับนั่งจนรากงอกอยู่ใน สปส.3.ข้อเสนอร่างกฎหมายมักถูกประกบโดยร่างกฎหมายของส.ส.หรือรัฐบาล 4.ข้อเสนอของผู้ใช้แรงงานจะถูกย่อยสลายโดยร่าง พ.ร.บ.เหล่านั้น 5.ไม่มี ส.ส.หรือกระทรวงใดเสนอในนามขบวนการแรงงาน แต่อยากได้เสียงจากผู้ใช้แรงงาน 6.ไม่มีฝ่ายใดส่งเสริมพลังของแรงงานอย่างแท้จริงเพราะพลังแรงงานขัดขวางผลประโยชน์ของคนที่มีอำนาจสูงกว่า ขบวนการแรงงานจึงถูกขังโดยอำนาจรัฐ อำนาจทุนและความแตกแยกของขบวนการแรงาน 7.การถูกกัดขังโดยกำแพง 3 ชั้นนี้ แม้แต่การเข้าชื่อเรียกร้องพ.ร.บ.ก็ต้องถูกตรวจสอบและแยกย่อยจนทำให้การเข้าชื่อต้องหล่นหาย 8.พันธมิตรที่แท้จริงของคนงานมีแต่ปัญญาชนบางคนเท่านั้น มีความพยายามแยกสลายปัญญาชน 9.สังคมไทยไม่ส่งเสริมการรวมตัวแบบสหภาพ เรามีลูกจ้างเอกชน 14 ล้านคน แต่ที่รวมตัวเป็นสหภาพไม่ถึง 4 แสน เมื่อมีการเลือกตั้งไตรภาคีต่างๆ เช่น บอร์ด สปส.ซึ่งมีผู้ประกันตน 9 ล้านคน ผู้ประกันตนทั้งหมดกลับไม่มีสิทธิ์ 10.สังคมไทยกำลังเข้าสู่สังคมการค้าและอุตสาหกรรมเต็มตัว มีลูกจ้างทั้งภาคเกษตรและนอกภาคเกษตร แต่ความเข้าใจเรื่องแรงงานนอกระบบและในระบบกลับไม่สามารถจำแนกได้