"ดร.ณรงค์" คอนเฟิร์มโครงการเร่งด่วน 9 ข้อ เป็นประชานิยม อัด รบ. แก้ปัญหาไม่ตรงจุดรู้ปัญหาแต่ไม่รู้สาเหตุ ซัดอย่าเนียนอ้างใช้งบแค่ 1,500 ล้าน เป็นเงินสมทบสวัสดิการสังคม ชี้สองเดือนก็หมด ด้าน "ดร.วรพล" ระบุโครงการเร่งด่วน "มาร์ค" เหมือนยาแก้ปวดไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่ยั่งยืน แนะควรลงทุนพัฒนาขีดความสามารถคนให้ยืนได้ด้วยลำแข้งตัวเอง
คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายการ "คนในข่าว"
รายการ “คนในข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวี-ทีวีของประชาชน เวลา 20.30-22.00 น. ดำเนินรายการโดยนายรัฐวุฒิ มิตรมาก ซึ่งได้รับเกียรติจาก ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ดร.วรพล โสคติยานุรักษ์ ผู้อำนวยการศูนย์เพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน สถาบันบัณฑิต พัฒนบริหารศาสตร์มาร่วมวิเคราะห์ ว่า นโยบายเร่งด่วน 9 ข้อ ของรัฐบาลแก้ปัญหาได้ตรงจุดและเป็นประชานิยมหรือไม่
ดร.ณรงค์ กล่าวถึงโครงการเร่งด่วนที่รัฐบาลแถลงออกมา 9 ข้อ นั้นจะเป็นประชานิยมหรือไม่ ต้องทำความเข้าใจว่าแต่เดิมคำว่า ประชานิยม หมายถึง ระบบเศรษฐกิจ การเมือง สังคม อยู่ในมือของประชาชน ต่อมาคำว่าประชานิยม เพี้ยนไปจากกรอบเดิมกลายเป็นว่า ทำอย่างไรก็ได้ให้ประชาชนนิยมชื่นชอบ โดยมากจะเป็นการให้เพราะได้ผลเร็วที่สุด หากถามว่าแตกต่างอย่างไรกับสวัสดิการ สวัสดิการ คือการทำให้อยู่ดีมีสุข ถ้า 1.ทำโดยรัฐทั้งหมด เรียกว่ารัฐสวัสดิการ 2.ทุกฝ่ายช่วยกันทำ เรียกว่าสังคมสวัสดิการ 3.ทำโดยครอบครัวเรียกว่า สวัสดิการ คนที่ไม่เข้าใจทำอะไรก็มักชอบอ้าง ว่า รัฐสวัสดิการ จนเราลืมคิดว่า ในระบบเศรษฐกิจการตลาดมีกฏอยู่ว่า ไม่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้มาฟรี อยากได้มากก็ต้องจ่ายมาก อยากได้ของดีก็ต้องจ่ายแพง ดูได้จากประเทศสวีเดน เยอร์มัน รัฐบาลจัดสวัสดิการให้ทุกอย่างตั้งแต่เกิดจนตาย แต่รัฐบาลเขาเก็บภาษีในรูปแบบต่างๆแพงมาก อย่างไรก็ดี ประเทศเหล่านี้ประชาชนเขาก็พึงพอใจที่จะเสียภาษี เพราะการบริหารงานรัฐบาลเขาโปร่งใส จ่ายภาษีก็ได้ประโยชน์กลับคืนมาเต็มเม็ดเต็มหน่วย
ดร.ณรงค์ กล่าวต่อว่ารัฐสวัสดิการ เป็นการจ่ายเงินจ้างให้รัฐบาลทำสวัสดิการให้ โดยจ่ายในรูปแบบภาษี หากย้อนกลับมาดูประเทศไทยตอนนี้ คำว่ารัฐสวัสดิการ คือรัฐบาลแจกให้ ซึ่งมันคนละเรื่องกันเลย อย่างเรื่องโครงการใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 90 หน่วยให้ใช้ฟรี ตรงนี้หากถามว่าดีหรือไม่ ก็ต้องตอบว่ามันเป็นเรื่องที่ดี แต่เป็นการแก้ไขที่ไม่ตรงจุด บางคนมีหน้าที่การงานดี ใช้ชีวิตอยู่ในออฟฟิสมีรายได้และยินดีจะจ่ายแต่ไม่ต้องจ่าย เพราะใช้ไฟฟ้าไม่ถึง 90 หน่วย ดังนั้นหากรัฐบาลหยากช่วยเหลือก็ควรช่วยเฉพาะที่จนจริงๆหรือคนพิการ ซึ่งน่าจะเหมาะสมกว่าแบบเหมารวม หรือไม่เช่นนั้นก็ทำเป็นบัตรสำหรับคนจน ให้สามารถขึ้นรถฟรี ใช้น้ำไฟฟรี เป็นการเฉพาะเจาะจงตัวบุคคลไปเลย
อย่างไรก็ดี โครงการของรัฐบาลที่ออกมา 9 ข้อ ที่ตนสนับสนุนมากที่สุด คือโดรงการประกันสังคม แต่อยากถามว่ารัฐบาลชัดเจนหรือไม่ กับคำว่าแรงงานนอกระบบ ว่า หมายถึงใครบ้าง เพราะคำว่าแรงงานกับกำลังแรงงาน คนละความหมายกัน คำว่าแรงงานคือคนที่อายุ 15 ปีขึ้นไปจนถึง 60 ปี ที่ทำงานได้และมีเวลาที่จะทำ หากไม่มีเวลาที่จะทำงาน เช่น เป็นพระ นักเรียน นักศึกษา อย่างนี้ไม่ใช่กำลังแรงงาน แล้วที่รัฐบาลบอกว่าใช้เงินแค่ 1,500 ล้าน เป็นเงินสมทบสวัสดิการให้ เช่นทุน 100 บาทรัฐบาลสมทบให้ 30 บาท ประเทศไทยมีกำลังแรงงาน 23 ล้านคน คนละ 30 บาท เดือนเดียวก็ประมาณ 700 ล้านแล้ว เมื่อเป็นอย่างนี้รัฐบาลพูดได้อย่างไรว่าโครงการนี้จะใช้เงินแค่ 1,500 ล้าน เมื่อเป็นเช่นนี้อนาคตรัฐบาลจะหามาเงินจากไหนมาเป็นค่าใช้จ่าย ในเมื่อทางด่วน ภาษี ก็ไม่กล้าขึ้น ด้วยเหตุนี้ทำให้สามารถเรียกโครงการเร่งด่วนของรัฐบาลได้ว่าเป็น ประชานิยม
"ถ้าเราอยากแก้ปัญหา เราต้องดูว่า 1.ปัญหาอะไร 2.มีสาเหตุมาจากอะไร เมื่อเรารู้สาเหตุแล้วจึงคิดหาวิธีดับเหตุทำอย่างไร หากรู้ปัญหาไม่รู้สาเหตุแล้วจะแก้ได้อย่างไร เช่นปัญหา วินมอไซค์ พื้นฐานปัญหาคือส่วย มีอย่างที่ไหนเสื้อวินตัวละเป็นหมื่นเป็นแสน ทางแก้ปัญหา คือ รัฐบาลจัดการส่วยได้หรือไม่" ดร.ณรงค์ กล่าว
ดร.ณรงค์ กล่าวว่ารัฐบาลมักพูดว่าปฏิรูปประเทศไทย สร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ ตนอยากถามรัฐบาลว่าเหตุความไม่เป็นธรรมอยู่ตรงไหน เพราะความไม่เป็นธรรมความเหลื่อมล้ำ มีทั้งเรื่องโอกาส สิทธิ อำนาจ แต่รัฐพูดถึงเรื่องรายได้อย่างเดียว ทั้งนี้ หลังจากมีการวิเคราะห์ปัญหาความเหลื่อมล้ำ สรุปได้ว่าจุดที่เป็นปัญหามากที่สุด คือ ความสัมพันธ์ทางอำนาจ ซึ่งคนที่มีอำนาจจะเอาเปรียบผู้อื่นอยู่เสมอ ดังนั้นรัฐบาลต้องทำให้คนทั่วไปมีอำนาจมากขึ้น การสร้างอำนาจก็ส่งเสริมให้ คนมีความรู้ มีส่วนร่วมการรวมตัว อย่าทำเหมือนพอมีคนบอกว่าปวดหัวก็เอายาแก้ปวดให้กิน เพราะอาการปวดหัว นั้น ปวดท้องก็ปวดหัว เนื้องอกก็ปวดหัว ตาเอียงก็ปวดหัว กินยาอย่างเดียวได้ประโยชน์แต่ไม่หาย แก้ไม่ถูกจุด
ขณะที่ ดร.วรพล กล่าวว่าหากจะดูว่าเป็นประชานิยมหรือไม่เราต้องดู 1.เป็นการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนหรือไม่ 2.เป็นการช่วยให้คนช่วยตนเองยืนด้วยขาตัวเองได้หรือไม่ และ 3.เป็นโครงการที่แก้ถึงปัญหาพื้นฐานได้หรือไม่ กรณีที่รัฐบาลออกโครงการมา 9 มาตรการ เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า อย่างเรื่องใช้ไฟฟ้าฟรี 90 หน่วย รัฐบาลต้องคิดให้รอบคอบ อาจเกิดปัญหาระยะยาว ถึงแม้จะเก็บค่าไฟจากคนที่เกิน 90 หน่วย คิดตามดัชนีที่สูงขึ้นเรื่อยๆตามการใช้ เอามาเฉลี่ยให้คนใช้ไฟน้อย ทำให้ไม่กระทบต่อรัฐมากนัก แต่จะเป็นการปลูกฝังนิสัยไม่ดีต่อคนไทยหลายๆอย่างตามมา ดังนั้นรัฐบาลต้องแยกให้ชัดเจนว่า ใครควรเป็นผู้ได้รับประโยชน์
ดร.วรพล กล่าวต่อว่ารัฐบาลมาถูกทางที่ทำประกันสังคมให้แก่แรงงาน นับเป็นนิมิตที่ดี แต่ยังกังวลว่า ปีต่อๆไป รัฐบาลจะเอาเงินมาจากไหน จึงอยากฝากรัฐบาลถึงความชัดเจนว่าทำกี่คนทำแค่ไหน ถ้าใช้คำว่าชาวไทยทุกคนเป็นเรื่องใหญ่แน่นอน ประเทศไทยมีงบขาดดุลอยู่ใน ขณะที่รายได้ที่เก็บได้ก็ต่ำ ดังนั้น รัฐบาลต้องคิดเป็นระบบ ต้องอยู่บนรากฐานของการเป็นไปได้ ต้องมีการวางแผนว่าจะเพิ่มรายได้ให้ประชาชนอย่างไร เพิ่มรายได้ให้ประเทศอย่างไร หากใช้งบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด เอาไปลงทุนด้านการศึกษา สอนพัฒนาทักษะความรู้ความสามารถทุกแขนงด้านการจัดการ จะแก้ปํญหาได้ถูกต้อง ทำให้ไม่ต้องคอยแจกอยู่อย่างนี้ เราควรมีสวัสดิการสังคมแต่แค่ไหนนั้นต้อง 1.ขีดเส้นให้ชัดว่าคนทีมีรายได้น้อยคือใคร 2.ผู้รับต้องรับผิดชอบพอสมควร 3.ดูเงินแผ่นดินให้เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายเหล่านี้ด้วย ที่สำคัญต้องกระจายกลุ่มคน ไม่ใช่กระจุกกับบคุคคลบางกลุ่ม ถ้าเป็นไปได้ตนอยากให้กระจายไปกลุ่ม เกษตรกร ที่ลำบากมากกว่ากลุ่มอื่นๆ
ทั้งนี้ ตนยังไม่เห็นแผนงานว่ารัฐบาลจะทำอย่างไรที่จะเป็นการเพิ่มรายได้ให้ประชาชน ตรงนี้รัฐบาลอาจลงทุน ทำให้ประชาชนทำงานเป็น เมื่อเขามีงานทำย่อมมีเงิน มีมากเขาก็จะเสียภาษีได้มาก อย่างไรก็ดี สำหรับตนยังให้โอกาสรัฐบาล หวังจะมียุทธศาสตร์ในการแก้ปัญหาประเทศออกมาอีก แต่ต้องชัดเจนในเรื่องปัญหา โครงสร้าง ต้นตอว่าคืออะไร เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ เนื่องจากงบประมาณประเทศเรามีจำกัด เรื่องภาษีสิ่งไหนควรจะเก็บเพิ่มก็เก็บ แต่สิ่งไหนที่ควรลดก็ลด แล้วเราจะมีเงินลงทุน ทำให้เกิดสวัสดิการสังคมมากขึ้น และอาจไกลไปถึงรัฐสวัสดิการ