xs
xsm
sm
md
lg

ทีดีอาร์ไอติงรัฐผลักภาระหลอกแรงงานนอกระบบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ทีดีอาร์ไอติงรัฐจ่ายสมทบประกันสังคมให้แรงงานนอกระบบแค่กึ่งหนึ่ง แต่ผลักภาระให้ประชาชนไม่เป็นธรรม ชี้น้อยกว่าที่จ่ายให้แรงงานในระบบ ด้านนักวิชาการเสนอเก็บค่าภาคหลวงปิโตรเลียม-ทองคำเพิ่ม แก้ปัญหาขาดเงินสมทบ ด้านเครือข่ายแรงงานนอกระบบย้ำ ต้องให้เลือกได้ทั้งบำเหน็จ-บำนาญ
 

วานนี้ (19 ม.ค.) ที่ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง ผู้อำนวยการวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและการเกษตร ฝ่ายการวิจัย แผนงานเศรษฐกิจรายสาขา สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(TDRI) กล่าวในการเสวนาเรื่อง “ประกันแรงงานนอกระบบ ช่วยเหลือหรือเพิ่มภาระคนจน”ว่า รัฐบาลติดกรอบวิธีความคิดหลายอย่าง กรอบอันแรกคือไม่ต้องการให้เป็นภาระทางการคลังของรัฐในระยะยาว ซึ่งปัจจุบันภาระที่รัฐบาลจ่ายให้กับแรงงานในระบบ 2.75 เปอร์เซ็นต์ ถ้าเงินเดือนเฉลี่ยประมาณ 8,000 บาท ต่อคน คำนวณออกมาสูงกว่าที่จะจ่ายให้แรงงานนอกระบบเป็นเท่าตัว ถ้ามองในแง่ความเป็นธรรม รัฐบาลจ่ายให้กับคนที่พอมีฐานะมากกว่าแรงงานนอกระบบ ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วเป็นคนที่จนกว่า

“กรอบอันที่สองคือในพ.ร.บ.ที่กำลังจะแก้ รัฐบาลจะจ่ายสมทบไม่เกินกึ่งหนึ่งของที่ผู้ประกันตนจ่าย แต่ผู้ประกันตนไม่มีนายจ้าง แต่รัฐบาลจ่ายให้ไม่เกินหนึ่งในสามของเงินทั้งหมด ถ้าเทียบกับประกันสังคมในระบบจะมีสามฝ่าย คือนายจ้างจ่าย 5 %ลูกจ้างจ่าย 5 % และรัฐบาลจ่าย 2.75 % ซึ่งได้เอาความคิดนี้มาใช้กับแรงงานนอกระบบ ทำให้แรงงานนอกระบบที่ไม่มีนายจ้างถูกโยนภาระทั้งหมดมาที่ลูกจ้าง ทั้งกลุ่มที่อยู่ในมาตรา 39 และ 40 ซึ่งถ้ามองในแง่ของความทั่วถึงความเป็นธรรมและเป้าหมายคือสร้างหลักประกันสังคม แนวคิดต้องกลับกัน คือคนที่จนกว่า รัฐบาลจะต้องลงทุนมากกว่า” ดร.วิโรจน์กล่าว

รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ ประธานคณะทำงานกระจายรายได้ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า กลุ่มแรงานมีการเรียกร้องที่จะให้สำนักงานประกันสังคมเป็นอิสระ เพราะการเป็นอิสระจะทำให้คนงานมีสิทธิมีเสียง มีส่วนร่วมมากขึ้นในการกำหนดกำหนดทิศทางการบริหาร ทุกวันนี้กองทุนประกันสังคมมีเงินในระบบ 7 แสนกว่าล้าน ใหญ่ที่สุดของกองทุนมวลชนในประเทศ กองทุนที่สองคือกองทุนเงินทดแทน และถ้ามีกองทุนนอกระบบจะเป็นสามกองทุน ดังนั้นสำนักงานประกันสังคมที่ต้องดูแลสามกองทุนจะใหญ่มาก มีเงินมหาศาลในการบริหาร แต่บางครั้งเราก็ไม่รู้ว่ากลไกการบริหารเป็นอย่างไร อย่างผู้เอาเงินประกันสังคมไปลงทุนในความเสี่ยง 20 เปอร์เซ็นต์ ของ7แสนล้าน เป็นใคร ซึ่งถามว่าใครเป็นตัวหลักในการตัดสินใจเอาเงินเหล่านี้ไปลงทุน

รศ.ดร.ณรงค์ กล่าวอีกว่า การสร้างหลักประกันชีวิต ประเทศที่เจริญแล้ว รัฐจะเป็นผู้ควบคุมกฎแต่ไม่ได้ทำเอง อย่างเยอรมัน ผู้ที่สมทบกองทุนประกันสังคมคือนายจ้าง 50 %ลูกจ้าง 50 % ในฝรั่งเศสหรือเนเธอแลนด์ นายจ้าง 60 % ลูกจ้าง 40%รัฐไม่ได้สมทบ แต่รัฐจะเป็นผู้ประกันรายได้ อย่างในยุโรปทุกคนจะมีรายได้ต่อเดือนไม่ต่ำกว่า 400 ยูโร เป็นมาตรฐาน ที่ไม่ใช่ค่าจ้างขั้นต่ำ แต่คือรายได้ขั้นต่ำ ถ้าคนๆ นั้นทำงานไม่ได้เลย นอนจมอยู่ริมถนน รัฐจ่ายให้ 400 ยูโรแต่ถ้าทำงานบ้าน 200 ยูโร รัฐให้อีก 200 ยูโร อย่างนี้เรียกประกันรายได้ แต่ประเทศเขาจะพยายามหางานให้คนทำ ถ้าสมมตินำมาใช้กับบ้านเรา อย่างการประกันรายได้ให้กับเกษตรกร

“คำถามคือจะเอารายได้มาจากไหน ข้อแรกคือภาษีปิโตรเลียม ทั่วโลกเก็บค่าภาคหลวง 30 % บ้านเราเก็บ 8 % รายได้จากแร่ต่างๆ เพราะว่าในกฎสากลแร่ทุกอย่างเป็นของคนในชาติ ไม่ใช่ของรัฐบาล ถ้าขึ้นค่าภาคหลวง 30 % เราจะได้เงิน 3 แสนล้านต่อปี ข้อสองคือค่าภาคหลวงทองคำ เพราะต่อไปทองคำจะเป็นหลักของเงินตรามากกว่าดอลลาร์ บ้านเรามีแหล่งทองคำ 32 แหล่ง แต่เก็บค่าภาคหลวงร้อยละ 2.50 ทั้งที่ควรจะเป็น 15 เพราะฉะนั้นรัฐ ถ้าจะทำจริงก็ไม่ควรกลัวว่ามีเงินไม่พอ แต่ต้องมีความกล้าหาญที่จะหารายได้ เอาเงินมาประกันเกษตรกรดีกว่า ด้วยวิธีนี้จะได้เงินไม่ต่ำกว่า 3 แสนล้าน เพียงพอที่จะประกันชีวิตเกษตรกร ไม่ต้องมานั่งพูดว่าจะสมทบเท่าไหร่ สมทบ200-300 บาท ยังได้เลย หรืออย่างคนขับมอเตอร์ไซหรือแท็กซี่ แค่ล้างส่วยได้ก็ไม่ต้องทำอะไรเลย เพราะเขาก็จะสามารถอยู่ได้”รศ.ดร.ณรงค์กล่าว

นางสุจิน รุ่งสว่าง จากเครือข่ายแรงงานนอกระบบ กล่าวว่า หลังจากคณะรัฐมนตรี(ครม.) ได้เห็นชอบในหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายเงินสมทบ ให้กับแรงงานนอกระบบ ที่จะเข้าสู่ระบบประกันสังคม ตามมาตร 40 โดยความคุ้มครองประกันสังคมของแรงงานนอกระบบมี 2 แต่ก็ยังไม่ตรงตามความต้องการของแรงงานนอกระบบ เนื่องจากแบบแรกไม่มีแบบชราภาพที่เป็นหัวใจที่แรงงานนอกระบบต้องการ แล้วก็มีแต่กองทุนบำเหน็จ ซึ่งอยากให้มีบำนาญด้วย

“อยากให้มีทั้งบำเน็จและบำนาญให้เลือกได้ ไม่ใช่บังคับให้มีแต่บำเหน็จอย่างเดียว ส่วนการส่งเงินให้กองทุนต่างๆ อย่างการส่งเงินประกันสังคมกับการส่งเงินกองทุนการออมเพื่อชราภาพ (กอช.) ไม่มีการเชื่อมร้อยกัน ซึ่งควรจะมีจุดจ่ายเงินที่เดินไปที่เดียวแล้วจ่ายได้ทั้งสองกองทุน และอยากให้มีการเป็นสมาชิกแบบรายกลุ่มได้ด้วย อย่างวันนี้ไม่มีเงินส่งแต่กลุ่มเราอาจจะเกื้อกูลกันด้วยการส่งแทน” นางสุจินกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น