xs
xsm
sm
md
lg

สปส.ปรับโครงสร้างใหญ่รับผู้ประกันตน ม.40 เผยหากขาดงานได้วันละ 200 บ.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สปส.ปรับโครงสร้างใหญ่รับผู้ประกันตน ม.40 เผย หากขาดงานได้วันละ 200 บาท นักวิชาการหนุน แต่ติงกรณีชราภาพได้แค่บำเหน็จ-เข้ากอช.คุ้มกว่า แนะดึงประชาชนร่วมประกันหมู่ หากได้แต่ผู้อ่อนแอก็ไปไม่รอด

วานนี้ (12 ม.ค.) นายรักษ์ศักดิ์ โชติชัยสถิตย์ ผู้ตรวจราชการ สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ในฐานะคณะทำงานเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย ด้านยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนและขยายระบบสวัสดิการสังคม สำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงกรณีที่รัฐบาลออกมาตราเร่งด่วนโดยเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าสู่ระบบประกันสังคมตามมาตรา 40 (ประกันตนโดยสมัครใจ) ใน พ.ร.บ.ประกันสังคม 2533 ว่า รูปแบบรัฐบาลประกาศมี 2 รูปแบบ คือ เดือนละ 100 บาท และ 150 บาท ทั้งนี้รัฐบาลจะจ่ายเงินเป็นกองทุนประเดิมให้ 1,200 ล้านบาทก่อน เนื่องจากรัฐบาลไม่สามารถจ่ายสมทบได้เพราะต้องรอแก้กฎหมายก่อน ซึ่งคาดว่าในปีแรกจะมีประชาชนให้ความสนในและเข้าสู่ระบบประมาณ 2.4 ล้านคน โดยถือว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดีในการจัดระบบสวัสดิการให้กับประชาชน

นายปั้น วรรณพินิจ เลขาธิการ สปส.กล่าวว่า ได้จัดทำแผนเพื่อเสนอไปยังคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการปรับปรุงโครงสร้างของ สปส.เพื่อรองรับการเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าสู่ระบบครั้งนี้ เพราะในปัจจุบันยังมีบุคลากรไม่เพียงพอ เช่น ในพื้นที่ กทม.มี สปส.เขตอยู่เพียงแห่งเดียว ในขณะที่ต่างจังหวัดอาจต้องขยายลงสู่ระดับอำเภอมากขึ้น เพื่อรองรับเกษตรกรและประชาชนทั่วไป นอกจากนี้ ยังได้จัดเตรียมในเรื่องระบบทะเบียน และการประชาสัมพันธ์ให้เข้าถึงประชาชนมากขึ้น ทั้งนี้ ในส่วนของพระราชกฤษฎีกาที่ต้องออกมารองรับนั้น ขณะนี้กำลังดำเนินการอยู่ ซึ่งคาดว่าภายในสิ้นเดือนมกราคมจะเสร็จสิ้น ก่อนส่งให้คณะกรรมการการกฤษฎีกาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาและนำเสนอคณะรัฐมนตรี

“แรงจูงใจที่ทำให้ประชาชนเข้าสู่ระบบนี้ คือ เมื่อเจ็บป่วยก็ยังเข้ารับการรักษาพยาบาลตามสิทธิของสำนักงานปฏิรูปสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) แต่จะได้รับค่าชดเชยจากการขาดงานวันละ 200 บาท แต่ผู้ประกันตนต้องจ่ายเงินแล้ว 3 ใน 4 เดือน ทั้งนี้ ในส่วนของผู้ที่เลือกประกัน 150 บาท นอกจากจะได้รับสิทธิประโยชน์เรื่อง เจ็บป่วย ทุพพลภาพ เสียชีวิตแล้ว ยังมีกรณีชราภาพ ซึ่งจะได้รับเป็นบำเหน็จเท่านั้น” นายปั้น กล่าว

ด้านนายสถิตพงศ์ ธนวิริยะกุล อาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า นโยบายรัฐบาลที่ให้ประชาชนเข้าสู่ระบบประกันสังคมตามมาตรา 40 ถือว่าเป็นการขยายความคุ้มครองระบบสวัสดิการสู่ภาคประชาชนมากขึ้น แต่ที่อยากตั้งข้อสังเกต คือ กรณีของกรณีชราภาพ เพราะหากประชาชนเข้าสู่การออมในส่วนของกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) จะคุ้มค่ากว่า เพราะตามมาตรา 40 นี้ จะจ่ายเฉพาะบำเหน็จซึ่งได้เงินไม่มากนัก และต้องถูกบังคับให้จ่ายทุกเดือน แต่หากเข้าสู่ กอช.จะยังมีสิทธิอยู่และได้เป็นบำนาญ

“ยิ่งในวันนี้ กอช.เพิ่งมีมติให้ตัดสิทธิคนที่อยู่ในระบบประกันสังคม ห้ามใช้สิทธิใน กอช.เพราะเขาเกรงว่าจะจ่ายเงินซ้ำซ้อนกัน ดังนั้น แรงงานนอกระบบที่จะเข้าสู่มาตรา 40 ก็จะไม่ได้สามารถเข้าสู่ กอช.ได้ จำเป็นต้องเลือกเอาทางใดทางหนึ่ง” นายสถิตพงศ์ กล่าวและว่า ในส่วนของ สปส.เองก็จำเป็นต้องมีการปฏิรูปการบริหารด้วย ซึ่งหนีไม่พ้นที่จำเป็นต้องเป็นองค์กรอิสระ และมีการตรวจสอบที่โปร่งใส ซึ่งจะต้องเกิดกระบวนการการมีส่วนร่วมมากขึ้น

นพ.ถาวร สกุลพาณิชย์ รองผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพ (สวปก.) กล่าวว่า นโยบายดังกล่าวของรัฐบาลถือว่าเป็นทิศทางที่ถูกต้อง แต่ที่น่าเป็นห่วง คือ เกรงว่าจะมีผู้ที่เสี่ยงเข้าสู่ระบบประกันสังคมมากขึ้น ซึ่งทางออกคือต้องพยายามดึงประชาชนให้เข้ามาร่วมเป็นประกันหมู่ให้มากที่สุด เพื่อให้ได้ทั้งผู้ที่แข็งแรงและผู้ที่ไม่แข็งแรงมาผสมผสานกัน เพราะหากได้ผู้ที่อ่อนแออย่างเดียวมาซื้อประกันก็จะไปไม่รอด
กำลังโหลดความคิดเห็น