ประธานเครือข่ายแรงงานนอกระบบ เผย ยินดีที่แรงงานนอกระบบเข้าประกันสังคม ชี้ ควรเก็บเงินสมทบน้อยลง ต้องประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่ประชาชนมากขึ้น วอนเปลี่ยนสิทธิ์บำเหน็จชราภาพมาเป็นบำนาญชราภาพ เพื่อจูงใจให้แรงงานเข้าระบบมากขึ้น
นางสุจิน รุ่งสว่าง ประธานเครือข่ายแรงงานนอกระบบ กล่าวถึงกรณีที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ประกาศมาตรการเปิดโอกาสให้แรงงานนอกระบบ จำนวนกว่า 24 ล้านคน เข้าสู่ระบบประกันสังคม ซึ่งจะมีผลตั้งแต่เดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป ว่า ตนเห็นด้วยกับการประกาศมาตรการดังกล่าว ถึงแม้ว่าอาจจะยังไม่ดีมากนักและไม่เท่าเทียมกับแรงงานในระบบก็ตาม แต่อย่างน้อยก็เป็นการเริ่มต้นที่ดี เพราะที่ผ่านมาได้มีการเรียกร้องผลักดันเรื่องดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2540 จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่เห็นเป็นรูปธรรม
นางสุจิน กล่าวอีกว่า จากการพูดคุยกับสมาชิกเครือข่ายแรงงานนอกระบบล้วนมีความเห็นตรงกันว่า สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ควรเก็บเงินสมทบกับแรงงานนอกระบบให้น้อยลงและให้รัฐบาลเข้ามาร่วมจ่ายมากขึ้น หรือไม่เช่นนั้นควรเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้มากขึ้น เพื่อจูงใจให้แรงงานนอกระบบเข้ามาสู่ระบบประกันสังคม นอกจากนี้อยากเปลี่ยนจากสิทธิ์บำเหน็จชราภาพมาเป็นบำนาญชราภาพ เนื่องจากเงินบำนาญถือเป็นหัวใจสำคัญของแรงงานนอกระบบในการดำรงชีวิตในสังคม ทั้งนี้ การประกาศมาตรการดังกล่าว ทำให้ สปส.มีสถานะอยู่ภายใต้ระบบประชาวิวัฒน์ที่ไม่ยั่งยืน ซึ่งมีผลบังคับใช้ภายในระยะเวลาสั้นๆ เมื่อหมดวาระรัฐบาลจะมีใครรับประกันได้ว่ามาตรการดังกล่าวจะไม่ล่ม ดังนั้น รัฐบาลจะทำอย่างไรให้เงินสมทบประเดิมกองทุน สปส.นี้มีผลระยะยาว และใช้ได้ตลอดไป ซึ่งเรื่องนี้ยังไม่ชัดเจน
น.ส.วาสนา ลำดี ผู้ประสานงานโครงการสื่อสารแรงงาน กล่าวว่า การที่รัฐบาลมองเห็นความสำคัญของแรงงานนอกระบบ โดยเฉพาะในเรื่องของหลักประกันชีวิต ถือเป็นเรื่องน่ายินดีอย่างมาก แต่ในทางปฏิบัตินั้นยังไม่ชัดเจนว่ารัฐบาลจะสามารถทำได้จริง และเข้าถึงแรงงานนอกระบบกลุ่มนี้ได้หรือไม่ เพราะต้องยอมรับว่าเรื่องดังกล่าวยังใหม่และไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ดังนั้น รัฐบาลและสำนักงานประกันสังคม (สปส.) จะต้องประชาสัมพันธ์และให้ความรู้แก่ประชาชนอย่างทั่วถึง เช่น ในเรื่องการติดต่อขอแบบฟอร์มและวิธีการจ่ายเงินสมทบ ซึ่งเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องยาก หากจะทำควรจะเป็นในลักษณะคล้ายกับการขายประกันลงพื้นที่ทุกกลุ่ม ทั้งนี้ หากมองในภาพรวมแล้วบุคลากรของ สปส.ยังมีจำกัด และไม่สามารถทำได้
“การที่นายกฯ ออกมาประกาศนำร่องแรงงานนอกระบบใน 3 กลุ่มอาชีพ ได้แก่ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง คนขับรถแท็กซี่ และหาบเร่แผงลอยเห็นจะไม่ถูกต้อง หากต้องการลดความเหลื่อมล้ำจริงต้องไม่จำกัดเฉพาะกลุ่มอาชีพเหล่านี้ นอกจากนี้ ในส่วนของการเก็บเงินสมทบ จำนวน 2 อัตรา คือ 100 บาท และ 150 บาทต่อเดือนนั้น เป็นการกำหนดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าและหวังผลในการเลือกตั้ง เพราะหากโปร่งใสจริงจะต้องมีการปรึกษาหารือถึงเกณฑ์การเก็บเงินสมทบดังกล่าวก่อน ไม่ใช่กำหนดขึ้นมาลอยๆ โดยไม่ทราบว่าใช้อะไรเป็นตัวตั้ง นอกจากนี้หากมีแรงงานนอกระบบเข้าสู่ประกันสังคมเป็นจำนวนมากกว่าที่รัฐบาลคาดการณ์ไว้ จะส่งผลกระทบต่อกองทุนประกันสังคมหรือไม่ และรัฐบาลจะดำเนินอย่างไรต่อไป” น.ส.วาสนา กล่าว
ด้านนายดำรงค์ สังวงษ์ ผู้ประสานงานแผนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานไทย เปิดเผยว่า จากการประชุมกลุ่มย่อยของเครือข่ายแรงงานนอกระบบในกลุ่มอาชีพ เกษตรกร แท็กซี่ มอเตอร์ไซค์รับจ้างและซาเล้งมีความคิดเห็นต่อนโยบายประชาวิวัฒน์ของรัฐบาลในส่วนแพกเกจประกันสังคม ว่า เป็นเรื่องที่ดีแต่อยากให้ครอบคลุมไปถึงเรื่องการจ่ายเงินบำนาญชราภาพด้วย ทั้งนี้ เพราะตามข้อมูลที่รับทราบมา ผู้ที่เลือกจ่ายเงิน 150 บาทต่อเดือน จะได้สิทธิประโยชน์เป็นเงินบำเหน็จเมื่อถึงวัยเกษียณ แต่ไม่ได้บำนาญ อีกทั้งถูกตัดสิทธิ์ในการออมเงินกับกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ซึ่งที่ประชุมมีความเห็นว่าแรงงานนอกระบบยังต้องการมีบำนาญขั้นพื้นฐานเพื่อรองรับภาวะสังคมผู้สูงอายุในอนาคต
“การได้บำเหน็จก็เป็นเรื่องดี แต่คิดว่าเมื่อได้แล้วมันคงหมดลงอย่างรวดเร็ว ฉะนั้น อยากให้ปลดล็อกว่าถึงแม้จะเลือกจ่ายประกันสังคม 150 บาทต่อเดือนก็ยังออมเงินกับ กอช.ได้ด้วย ไม่เช่นนั้น เท่ากับว่า รัฐบีบให้แรงงานนอกระบบไปใช้แพกเกจจ่ายเดือนละ 100 บาท เพราะแพกเกจนี้ไม่ติดสิทธิ์ในการเข้าร่วมกับ กอช.แต่อีกมุมหนึ่งนอกจากจ่ายสมทบประกันสังคมแล้วยังต้องจ่ายสมทบ กอช.เพิ่มอีกด้วย”นายดำรงกล่าว
นายดำรง กล่าวอีกว่า ยังมีรายละเอียดอีกหลายเรื่องที่ยังต้องหารือกันเพื่อให้ตอบโจทย์แรงงานนอกระบบอย่างแท้จริง เช่น เรื่องการจ่ายเงินชดเชยทุพพลภาพที่ยังมีเงื่อนไขว่าหากเกิดอุบัติเหตุแขนขาด หรือขาขาดต้องขาดทั้ง 2 ข้าง หากขาดข้างเดียวก็ไม่ได้รับเงินชดเชย หรือหากเกิดอุบัติเหตุนิ้วขาด ต้องขาดกี่ข้อถึงจะถือว่าทุพพลภาพ