ผ่าประเด็นร้อน
นาทีนี้ยังไม่ต้องมาเถียงกันว่าระหว่างประชาวิวัฒน์ กับ ประชานิยม ของใครดีกว่าใคร หรือใครเลียนแบบใคร หรือว่าต่อยอดมาจากไหน เพราะต่างถือว่าเป็นนโยบายที่ต้องการสร้างคะแนนนิยมจากประชาชน โดยเฉพาะในระดับ “รากหญ้า” ทั้งในเมืองและชนบท ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ เพราะหากสามารถยึดกุมได้นั่นย่อมหมายความว่า สามารถยึดอำนาจรัฐผ่านทางระบบรัฐสภาเหมือนกับที่ ทักษิณ ชินวัตร เคยนำนโยบายประชานิยมมาใช้จนได้ผลมาแล้ว
คราวนี้ก็เช่นเดียวกัน เจตนาเร่งด่วนของรัฐบาล โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และพรรคประชาธิปัตย์ที่อ้างว่าระดมสมองนักวิชาการและบรรดาข้าราชการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดมาตรการเร่งด่วน “ประชาวิวัฒน์ 9 อย่าง” ก็เพื่อเจตนาหาเสียงครองใจชาวบ้านคนยากจน เพื่อให้ตัวเองกลับมามีอำนาจเป็นรัฐบาลอีกครั้ง
อย่างไรก็ดี การจะได้เสียงตามที่หวังหรือไม่ มันก็ต้องขึ้นอยู่กับความพอใจของชาวบ้าน ความคาดหวังว่านโยบายหรือมาตรการที่ออกมาดังกล่าวมันเพ้อฝันหรือว่าทำได้จริงหรือไม่ ถ้าคิดว่าทำได้และชาวบ้านมีความสุขมันก็เข้าเป้า ส่วนจะเป็นภาระงบประมาณ จะเป็นหนี้กันฉิบหายวายป่วงในอนาคตหรือไม่ ถือว่าเป็นเรื่องรองลงไป และต้องถกเถียงกันในหมู่ “กูรู” ทั้งหลาย ซึ่งมีทั้งประเภทติเพื่อก่อ หวังดี รวมไปถึงประสงค์ร้ายล้วนๆ ก็มี
แน่นอนว่านโยบายประชาวิวัฒน์ดังกล่าวย่อมเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางจนกลายเป็น “ประเด็นร้อน” อยู่ในขณะนี้ ถือว่าไม่ใช่เรื่องแปลก อีกทั้งรัฐบาลก็จงใจต้องการให้เป็นอย่างนั้นด้วย เพื่อหวังให้สื่อสารไปถึงกลุ่มเป้าหมาย มีการสอบถามมีการชี้แจงอยู่ตลอดเวลา
แต่ที่น่าสังเกตก็คือ แทบทุกโครงการ หรือส่วนใหญ่เริ่มมีผลในการดำเนินการตั้งแต่ในช่วงกลางปีเป็นต้นไป คำถามก็คือ ดันไปตรงกับช่วงที่แกนนำคนสำคัญหรือแม้แต่นายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ บอกใบ้ไว้ว่าจะมีการยุบสภาเลือกตั้งใหญ่พอดี ซึ่งหากพูดให้ชัดขึ้นมาอีกก็คือในราวเดือน พฤษภาคม นั่นคือหลังจากการการแก้ไขรัฐธรรมนูญในเรื่องแบ่งเขตเลือกตั้งให้เล็กลงที่พรรคร่วมรัฐบาลมีความได้เปรียบฝ่ายตรงข้าม เสร็จเรียบร้อยมี ผลบังคับใช้แล้ว
สิ่งที่มองเห็นจากนโยบายประชาวิวัฒน์ ก็ไม่มีอะไรซับซ้อนมีเป้าหมายตรงไปที่กลุ่ม “รากหญ้า” ไม่ว่าจะเป็น หาบเร่แผงลอย คนขับแท็กซี่ คนขับมอเตอร์ไซค์รับจ้าง คนยากคนจนทั่วไป ให้คนเหล่านี้สามารถเข้าถึงสินเชื่อ ซึ่งถ้าพูดกันตรงๆ ก็คือ ให้ “กู้” ได้ง่ายขึ้น ลดภาระค่าใช้จ่าย รวมไปถึงเพิ่มที่ทำมาหากิน รวมไปถึงเพิ่มสวัสดิการในการดำรงชีวิต เพื่อให้คนกลุ่มใหญ่กลุ่มนี้มีความพึงพอใจ
จากเดิมที่เคยผูกพันมัดใจอยู่กับ ทักษิณ ชินวัตร ที่ถูกนำมาหากินต่อยอดมาถึงยุคพรรคเพื่อไทย และผ่านทางแกนนำคนเสื้อแดงที่ปลุกระดมเพ้อฝันจนมาสู่การจลาจลเผาบ้านเผาเมือง สาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งก็มาจากความหลงใหลเสพติดกับนโยบายประชานิยมในยุคของ ทักษิณ นั่นแหละ
อย่างที่บอกไปตั้งแต่ต้นแล้วว่าถ้าใครสามารถ “ช่วงชิง” รากหญ้ามาไว้ในมือได้แล้วก็ย่อมหมายถึงได้ “อำนาจรัฐ” ตามมา ดังนั้นอย่าได้แปลกใจที่เที่ยวนี้เป้าหมายพุ่งตรงไปที่ หาบเร่แผงลอย คนขับแท็กซี่ วินมอเตอร์ไซค์ คนหาเช้ากินค่ำ
นอกเหนือจากนี้ ในความเป็นจริงแล้วกลุ่มรากหญ้าดังกล่าวที่ส่วนใหญ่อพยพเข้ามาทำงานในเมืองล้วนมาจากชนบท หรือหากกล่าวกันแบบตรงไปตรงมาส่วนใหญ่มาจากภาคอีสานและภาคเหนือแทบทั้งสิ้น ดังนั้นถ้าสามารถมัดใจหรือดึงออกมาได้บางส่วน นั่นก็ย่อมหมายความว่า “จุดบอด” ในภาคอีสานของพรรคประชาธิปัตย์กำลังจะลดน้อยไปหรือไม่
ความหมายก็คือถ้าสามารถทำให้ “รากหญ้า” ในเมืองเกิดความพอใจ มันก็ย่อมส่งต่อไปถึงครอบครัวและญาติมิตร บอกต่อไปถึงต่างจังหวัดแบบปากต่อปากได้อีกด้วย
สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ การออกนโยบายเที่ยวนี้บังเอิญว่าเริ่มทยอยมีผลตั้งแต่กลางปีเป็นต้นไป บางอย่างต้องรอการออกระเบียบ แก้ไขกฎหมาย หรือออกกฎหมายมารองรับก่อน เช่น ขยายสวัสดิการด้านการประกันสังคม กองทุนเงินออม การอุดหนุนพลังงาน เป็นต้น ซึ่งก็บังเอิญไปตรงกับกำหนดการเลือกตั้งใหม่พอดี ซึ่งมันก็ไม่ต่างกับการ “มัดจำ” หรือหาเสียงล่วงหน้า สร้างหลักประกันเอาไว้ก่อน
นั่นคือถ้าอยากให้โครงการเดินต่อก็ต้องเลือก อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และพรรคประชาธิปัตย์กลับมาอีกครั้ง เพื่อให้สามารถเข้ามาแล้วสานต่อเดินหน้าได้ทันที
นี่แหละถึงได้เรียกว่า ประชาวิวัฒน์แผนปฏิบัติการเร่งด่วนเพื่อการหาเสียง 9 ประการกลบประชานิยม เพื่อกลับมายึดอำนาจรัฐของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และพรรคประชาธิปัตย์อีกรอบนั่นเอง!!