xs
xsm
sm
md
lg

“สภาทนาย” เอาแน่! ร่วมฟ้องคดีน้ำท่วม -“ณรงค์” แจงฟ้องช่วยคนจน “ปู” ดูรายละเอียด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี (แฟ้มภาพ)
ASTVผู้จัดการออนไลน์ - รองโฆษกสภาทนายความ ระบุ พร้อมช่วยฟ้องคดีน้ำท่วม หาก ปชช.ร้องขอ แต่ต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน แจงยังไม่ได้รับการประสานงานจาก อ.จุฬาฯ ย้ำ ฟ้องคดีต้องชัดว่ารัฐบริหารจัดการน้ำพลาด หรือวิสัยภัยธรรมชาติ “ปู” ดูรายละเอียด รับทำเต็มที่แล้ว

วันนี้ (10 พ.ย.) นายเกรียงศักดิ์ วรมงคลชัย รองโฆษกสภาทนายความ กล่าวถึงกรณีที่ นายสัก กอแสงเรือง นายกสภาทนายความ ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 8 พ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งระบุว่าสภาทนายความพร้อมให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายกับประชาชนผู้ประสบอุทกภัย ว่า ขณะนี้สภาทนายความส่วนกลาง ได้แจ้งให้ประธานสภาทนายความจังหวัดต่างๆ รับทราบเพื่อพร้อมดำเนินการช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่แล้ว แต่ขณะนี้ยังไม่ได้รับรายงานว่า มีประชาชนยื่นคำร้องขอความช่วยเหลือ ซึ่งหากประชาชนผู้ประสบภัยต้องการความช่วยเหลือก็สามารถแจ้งเรื่องใดที่ประธานสภาทนายความจังหวัดในพื้นที่ โดยเมื่อรับเรื่องราวก็จะได้ประสานส่งเรื่องมายังสภาทนายความส่วนกลางเพื่อพิจารณาให้การช่วยตามความเหมาะสมต่อไป

ส่วนที่มีข่าวว่า นายณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะรวบรวมข้อมูลผู้ประสบภัย ประสานขอความช่วยเหลือการฟ้องคดีนายกรัฐมนตรี หรือหน่วยงานที่ไม่สามารถบริหารจัดการน้ำจนเกิดน้ำท่วมสร้างความเสียหายนั้น นายเกรียงศักดิ์ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับการประสานข้อมูลใดๆ หากจะมีการรวบรวมข้อมูลและขอคำปรึกษาด้านกฎหมายในการฟ้องคดี สภาทนายความก็ยังต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงว่า การกระทำใดๆ ที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเรื่องภัยธรรมชาติ หรือเกิดจากการบริหารจัดการน้ำที่ผิดพลาดหรือไม่ถูกต้องของนายกรัฐมนตรีและหน่วยงานราชการ จริงหรือไม่ เนื่องจากการจะฟ้องคดีต้องมีข้อเท็จจริงที่ชัดเจนและพยานหลักฐานเพียงพอ ซึ่งหากข้อเท็จจริงชัดเจนว่าความเสียหายในอุทกภัยครั้งนี้ เกิดจากการบริหารจัดการน้ำของเจ้าหน้าที่รัฐ ก็สามารถทำเป็นคดียื่นฟ้องได้ทั้งในส่วนของคดีศาลยุติธรรม หรือเป็นคดีปกครองในลักษณะการกระทำประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเพื่อเรียกค่าเสียหายตามกฎหมาย ซึ่งจะต้องพิจารณามูลค่าความเสียหายผู้ประสบภัยเป็นรายๆ ไป

นายเกรียงศักดิ์ กล่าวอีกว่า ในการดูแลให้ความช่วยเหลือเรื่องอุทกภัย สภาทนายความกำลังจะตั้งคณะกรรมการหรือคณะทำงานขึ้นมารับผิดชอบในการตรวจสอบข้อเท็จจริง หากจะมีการขอให้ฟ้องคดีก็ต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน แต่ไม่ใช่ว่าจะใช้เวลาภายใน 1-2 วันเสร็จ ต้องให้เวลาคณะทำงานด้วย ซึ่งการฟ้องคดีมีอายุความกำหนดไว้ตามกฎหมายอยู่แล้ว หากพิจารณารายละเอียดแล้วพบว่ามีข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพียงพอว่าจะยื่นฟ้องได้ สภาทนายก็จะดำเนินการทำคดีให้ทันภายในอายุความ คงไม่รอกระทั่งคดีขาดอายุความ

ขณะที่เรื่องของบุคลากร เรามั่นใจว่า มีเพียงพอที่จะให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายและดูแลเรื่องคดีกับผู้ประสบภัยได้ ตัวอย่างคดีเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมแม้จะมีชาวบ้านจำนวนมากเป็นโจทก์ เราก็สามารถจัดสรรทนายความเข้าดูแลคดีซึ่งอาจใช้เพียง 4-5 คน เพราะคดีมีเนื้อหาเหมือนกัน แตกต่างเรื่องรายละเอียดผู้เสียหาย อย่างไรก็ดี นอกจากการให้ความช่วยเหลือการฟ้องคดีแล้ว สภาทนายยังพร้อมให้คำปรึกษาเรื่องการติดต่อเพื่อเรียกร้องสิทธิ์การเยียวยาต่างๆ รวมทั้งการประกันภัยซึ่งหากเรื่องใดที่สามารถไกล่เกลี่ยเจรจาได้สภาทนายความก็จะดำเนินการเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยให้ได้ก่อนที่จะทำเป็นคดียื่นฟ้อง

อ.จุฬาฯ แจงฟ้องช่วยคนจน

รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมถึงกรณีการดำเนินการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย อันเนื่องมาจากการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมผิดพลาด ทำให้ประชาชนได้รับความเสียหาย โดยกล่าวว่าก่อนหน้านี้มีคนติดต่อเข้ามาว่าให้ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากรัฐบาล โดยจะมีทนายความว่าความให้ฟรี ซึ่งในความเป็นจริงตนดูแลตัวเองได้ แต่เมื่อนึกถึงคนจน ซึ่งไม่มีโอกาสเรียกร้องค่าเสียหายทางกฎหมายได้ ตนจึงตั้งใจที่จะฟ้องร้องเพื่อช่วยเหลือคนจน

ทั้งนี้ ตนได้หารือกับทนายความแล้ว พบว่า มีอยู่ 2-3 ประเด็นที่เป็นรูปธรรมพอที่จะฟ้องร้องถึงความเสียหายว่ามีอะไรบ้าง ใครบ้างที่จะเป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งจะรวบรวมผู้ที่มีความรู้เพื่อร่างประเด็นนำไปเสนอว่ามีใครบ้างที่ได้รับความเสียหาย ก่อนที่จะยื่นฟ้องหน่วยงานต่างๆ อาจมีทั้งรัฐบาล กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือกรุงเทพมหานคร

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ ในเบื้องต้นจะช่วยเหลือคนจนเป็นหลัก แต่เมื่อมีคนเห็นด้วยจำนวนมากจึงตัดสินใจฟ้องร้องเป็นประเด็นสาธารณะ ซึ่งเมื่อมีคนจากทุกสาขาอาชีพเข้ามาฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย ก็จะเป็นเรื่องง่ายในการฟ้องร้องให้เป็นประเด็นร่วม ซึ่งมีแง่มุมทางกฎหมาย โดยจะไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่บ้านที่ประสบปัญหาน้ำท่วมเท่านั้น แต่ยังรวมถึงบ้านที่ยังไม่ถูกน้ำท่วม แต่ได้รับความเสียหายจากการขาดรายได้ ตรงนี้คนที่ร่วมฟ้องร้องมีความเสียหายอย่างไรก็นำมาว่ากัน ซึ่งในขณะนี้อยู่ในขั้นเตรียมการ

เมื่อถามว่า การออกมาเคลื่อนไหวฟ้องร้องในครั้งนี้จะกลายเป็นการโจมตรีรัฐบาลหรือไม่ รศ.ดร.ณรงค์ กล่าวว่า ตนไม่ได้พูดว่าจะฟ้องรัฐบาล แต่ใครก็ตามที่เกี่ยวข้องกับความเสียหายที่เกิดขึ้นก็จะต้องฟ้องร้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรวมถึงกรุงเทพมหานคร แต่ในเมื่อผู้ถูกฟ้องเป็นหน่วยงานของรัฐเสียส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

ส่วนความคาดหวังที่จะได้รับการชดเชยจากภาครัฐมีมากน้อยแค่ไหน รศ.ดร.ณรงค์ กล่าวว่า อย่าไปประเมินถึงตัวเลขความเสียหายเป็นตัวเงิน แต่ต้องดูความเดือดร้อนว่ามีมากเท่าไหร่ การที่รัฐบาลชดเชยให้ครัวเรือนละ 5,000 บาท ก็ต้องดูไปถึง คนที่มีที่ทำงานเก็บเงินเป็นแสนบาทเพื่อซื้อบ้านหนึ่งหลัง แล้วพอเกิดน้ำท่วมขึ้นมาครั้งเดียวบ้านก็จมหายไปทั้งหลัง หรือคนงานที่ทำงานได้ค่าแรงวันละ 100-200 บาท พอเกิดน้ำท่วมขึ้นมาก็ขาดรายได้ แล้วจะอยู่กันอย่างไร ชีวิตคนจนจะสลายมากไปเท่าไหร่

“ปู” ดูรายละเอียด รับทำเต็มที่แล้ว

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ นายณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เตรียมชักชวนประชาชนฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากรัฐบาล ที่บริหารจัดการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมผิดพลาด ทำให้ทรัพย์สินของประชาชนได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมากว่า คงต้องขอดูรายละเอียด แต่กราบเรียนว่า ทุกคนทำหน้าที่อย่างเต็มที่ เพราะครั้งนี้มันเป็นภัยธรรมชาติจริงๆ จะเห็นว่าถ้าไปดูตัวอย่างของประเทศอื่นๆ ก็ไม่มีใครต้านมหาอุทกภัยครั้งนี้ได้ และขอความเห็นใจ และขอกำลังใจเจ้าหน้าที่ที่ต้องการกำลังใจในการต่อสู้กับน้ำ

“ขอเราทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุดให้เต็มกำลังความสามารถ อันนี้จะเป็นสิ่งที่ทำให้ประเทศไทยเดินไปข้างหน้าได้ แล้วเราเองก็จะได้เก็บข้อมูล ข้อแนะต่างๆ ที่ดิฉันยินดีรับข้อเสนอทุกข้อเสนอ บางส่วนเราแก้ได้วันนี้เราแก้ค่ะ แต่บางส่วนที่เราแก้ไม่ได้เราก็ต้องเก็บไว้ แล้วกลับไปศึกษากับชุดกรรมการที่ดูแลเรื่องน้ำอย่างถาวร ที่ กยน.จะนำเอาหลักการนี้ไปคุยกันว่าจากเหตุการณ์ที่ผ่านมาจะแก้ไขอย่างไรและจะป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอย่างไรกับประเทศไทย” น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ยังไม่คิดจะไม่ลาออกจากตำแหน่งเพื่อแสดงความรับผิดชอบใช่หรือไม่ นางสาวยิ่งลักษณ์ กล่าววว่า วันนี้ตนได้รับการไว้วางใจจากประชาชน เสนอตัวเข้ามารับใช้พี่น้องประชาชนทุกคน ทุกกำลังทุกคะแนนเสียงที่พี่น้องประชาชนให้ก็เพื่อต้องการที่จะมารับใช้ดูแลความทุกข์สุขของประชาชน ก็ขอทำหน้าที่นี้ของตัวเองให้เต็มที่ให้ดีที่สุด วันนี้เองเราก็จะทำให้ประชาชนทุกพื้นที่เหมือนกัน เพราะถือว่าเป็นคนไทยเหมือนกันไม่มีการแบ่งแยกค่าย ไม่มีการแบ่งแยกสี
กำลังโหลดความคิดเห็น