ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ทันทีที่ข่าวคณะรัฐมนตรีมีมติออกพระราชกฤษีกา (พ.ร.ฎ.) ขอพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ... เพื่อช่วยเหลือทักษิณ ชินวัตร ให้พ้นผิด
เหตุการณ์อื่นๆ กลายเป็นเรื่องรองขึ้นมาทันที
แม้กระทั่ง ปัญหาน้ำท่วมเกือบ 5 เดือน นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม
จนกระทั่ง “ยิ่งลักษณ์” ชินวัตร” เสื่อมค่าในสายตาคนจมน้ำท่วม
เนื้อหาสำคัญของการนิรโทษ “ทักษิณ ชินวัตร” เกิดขึ้นเมื่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ในวัน 15 พ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งมี ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ได้มีวาระจร “ลับ” ในการพิจารณาและลงมติผ่านร่างพระราชกฤษฎีกา(พ.ร.ฎ.) ขอพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.... ซึ่งจะเป็นการกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับคุณสมบัติของนักโทษที่จะเข้าข่ายในการเข้ารับพระราชทานอภัยโทษ ในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษา 5 ธันวาคม 2554
โดยในการประชุมลับ มีการเชิญเจ้าหน้าที่ที่ไม่เกี่ยวข้องออกทั้งหมด เหลือเพียงคณะรัฐมนตรีเท่านั้น รวมทั้งไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดเนื้อหาพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว และยังมีการดึงเอกสารออก เพื่อป้องกันไม่ให้มีการเผยแพร่ตามระบบปกติอีกด้วย
เนื้อหาที่คณะรัฐมนตรีไม่ยอมเปิดเผยต่อสาธารณะนั้น มีการกำหนดเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้ที่ได้รับพระราชทานอภัยโทษ โดยระบุหลักเกณฑ์ของนักโทษที่ได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัวคือ เป็นผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี
“ยังมีการตัดคำแนบท้ายของ พ.ร.ฎ.อภัยโทษ พ.ศ.2553 ฉบับที่เขียนสมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีเนื้อหาระบุว่า ผู้คนที่เข้าข่ายได้รับอภัยโทษจะต้องเป็นโทษที่ไม่เกี่ยวกับยาเสพติด และไม่เกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชันออก”
รวมทั้งยังไม่มีการระบุถึงระยะเวลาการเข้ารับโทษ
นั่นหมายความว่า ทักษิณจะได้รับการขอพระราชทานอภัยโทษ โดยที่ไม่ต้องเข้ารับการคุมขังแม้แต่วันเดียว
เนื้อหาเหล่านี้สอดคล้องกับร่างกฎหมายที่ เฉลิม เคยทำเอกสารแจกจ่ายให้กับสื่อมวลชนก่อนหน้านี้
นักข่าวรายงานว่า การประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งนี้ มีการวางแผนอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เพื่อให้ ร.ต.อ.เฉลิม รองนายกฯ คนที่ 3 แสดงบทบาทเต็มที่ โดยกัน ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ออกจากการประชุมครม.
ส่วนยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกฯ คนที่ 1 ร่วมคณะกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ คนที่ 2 ติดภารกิจเดินทางไปร่วมประชุมสุดยอดผู้นำเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปก) ที่ฮาวาย ประเทศสหรัฐอเมริกา
ในวันเดียวกับการประชุม ครม. ยิ่งลักษณ์ เดินทางไปตรวจเยี่ยม และให้กำลังใจประชาชนที่ จ.สิงห์บุรี และอ้างเหตุว่าเครื่องบินเฮลิคอปเตอร์เอ็มไอ 17 ซึ่งซื้อมาจากประเทศรัสเซีย ที่ใช้เป็นพาหนะในการเดินทางไม่สามารถบินตอนกลางคืนได้ เพราะไม่มีเรดาร์นำทาง ทำให้ต้องพักค้างคืนที่จังหวัดสิงห์บุรี จนไม่สามารถเข้าร่วมประชุม ครม.
แต่ คนที่เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น ตามปกติวิสัยจะต้องรับทราบเรื่องที่นำเข้าสู่ที่ประชุมครม.ทุกครั้ง และจะต้องเป็นผู้อนุมัติให้นำเรื่องเข้าที่ประชุมเท่านั้น ไม่ใช่รองนายกรัฐมนตรี
ดังนั้น การตอบคำถามนักข่าวเอเอฟพี ของยิ่งลักษณ์ จึงสะท้อนถึงระดับมันสมองในหัวของยิ่งลักษณ์ได้ดี
อีกทั้งกองทัพบกก็ยืนยันแล้วว่า เฮลิคอปเตอร์รุ่นนี้ มีสมรรถภาพเพียงพอที่จะสามารถบินช่วง กลางคืนได้ เพราะสามารถเปิดไฟนำทางการบินและนำเครื่องบินได้หากทัศนวิสัยอยู่ในขั้นที่ดี รวมทั้งยิ่งลักษณ์สามารถประสานขอเครื่องลำอื่นไปทดแทนได้ หากต้องการกลับกทม.จริงๆ
สอดคล้องกับที่ ศิริโชค โสภา ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ได้เขียนข้อความในเฟซบุ๊ค เมื่อเวลา 15.50 น. วันที่ 15 พ.ย. ว่า “ผมมีลางสังหรณ์อยู่แล้วว่าทำไมนายกปูถึงแกล้งไม่มาประชุมครม. อ้างว่า ฮ.ไม่มีเรดาร์ ปรากฏว่าวันนี้มีครม.มีการประชุมลับ ไล่เจ้าหน้าที่ออกจากห้องหมด และมีการผ่านพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษ เรียบร้อยแล้ว เป็นวันที่เศร้าที่สุดวันหนึ่งของประเทศไทย”
ขณะที่ปัญหาน้ำท่วม ยังไม่มีใครตอบได้ว่าจะหมดปัญหาไปเมื่อใด
6 เดือนนับจากนี้ น้ำกว่าหนึ่งหมื่นล้านลูกบาศก์เมตรจะหมดไปจากพื้นที่กรุงเทพฯ และจังหวัดอื่นๆ หรือไม่...ยิ่งลักษณ์ ยังตอบไม่ได้
ไม่มีปัญญาตอบ
เหมือนที่หลายคนบอกว่า “สมองกลวง” นั่นเอง
ทำให้การฟ้องร้องเอาผิดของนักวิชาการ ได้รับการตอบสนองจาก “ผู้เดือดร้อน” จำนวนมากพอสมควร เพราะมีผู้เสียชีวิตจากการบริหารผิดพลาดของรัฐบาลแล้วกว่า 550 คน
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 15 พ.ย.ที่ผ่านมา ผู้ประสบภัยน้ำท่วมหลายรายเดินทางไปที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมนำเอกสารภาพถ่ายบ้านที่ถูกน้ำท่วมสูงมาประกอบการยื่นฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำ
รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้รวบรวมประชาชนเพื่อฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย ซึ่งจะฟ้องศาลแพ่ง ศาลอาญา และศาลปกครอง เพราะเห็นว่า การฟ้องร้องหน่วยงานราชการที่ละเลย หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามมาตรา 157 ของประมวลกฎหมายอาญามีระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 - 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2,000 - 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
“วีรพัฒน์ ปริยวงศ์” นักวิชาการอิสระด้านกฎหมาย อธิบายว่า ตั้งข้อสังเกตการฟ้องทางแพ่งและอาญาอาจเอาผิดได้ยาก เพราะการแก้ปัญหาเป็นเรื่องการบริหารจัดการของรัฐบาล แต่จะเข้าหลักเกณฑ์ในการฟ้องศาลปกครองว่า สิ่งที่รัฐบาลดำเนินการไปมีความถูกต้องชอบธรรมหรือไม่ ซึ่งผลที่ออกมาอาจไม่ได้ชี้ชัดถูกผิด แต่จะเป็นการทำข้อเท็จจริงให้ปรากฏขึ้น เพื่อนำมาสู่การคลี่คลายความสงสัยของประชาชน
“ช่องทางการฟ้องร้องศาลปกครองตามมาตรา 9 วงเล็บ 2 ของ พ.ร.บ.ศาลปกครองจะฟ้องร้องรัฐบาลได้ โดยอ้างเหตุละเลยในการให้ข้อมูลอย่างทันท่วงที และละเว้นการให้ข้อมูลที่เป็นจริง ส่งผลให้ประชาชนตั้งรับสถานการณ์ไม่ทันจนทำให้เกิดความเสียหายต่อชีวิต และทรัพย์สิน”
ทั้งนี้ ทางสภาทนายความจะดำเนินการฟ้องร้องเอาผิดกับผู้ที่ทำให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศชาติจากกรณีอุทกภัยครั้งใหญ่นี้ โดยในวันนี้ได้ออกแถลงการณ์สำนักงานสภาทนายความทุกจังหวัด ได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนที่ได้รับผลกระทบอุทกภัย โดยตั้งประเด็นฟ้องร้องไว้ 5 กรณี คือ 1. กรณีความเสียหายทางปกครอง 2. กรณีประมาทเลินเล่อ 3. กรณีไม่ปฏิบัติหน้าที่ที่ควรปฏิบัติ 4. กรณีความเสียโอกาส เช่น ผู้มีรายได้แต่ต้องเสียโอกาสทางรายได้ และ 5. กรณีความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน
ข้อกฎหมายที่สภาทนายความฟ้องร้อง ไม่ใช่สิ่งที่เฉลิม อยู่บำรุง บอกกับนักข่าวว่า อุทกภัยเกิดจากธรรมชาติ เพราะผู้เดือดร้อนไม่ได้ฟ้องถึงสาเหตุน้ำท่วม
แต่ฟ้องเรื่องการบริหารผิดพลาดในการแก้ปัญหา
คนทั่วไปจึงรู้ว่า เฉลิม น่าจะฉลาดน้อยกว่าที่หลายคนคิด
ลองนึกภาพคนที่หาเช้ากินค่ำ ไม่มีเงินเดือน ถ้าวันไหนไม่ทำงาน ก็ไม่มีรายได้ จะอยู่ในสภาพเช่นไร เมื่อทุกสิ่งทุกอย่างหายไปกับสายน้ำ
นั่นทำให้ ยอดผู้ยื่นฟ้องการดำเนินการของภาครัฐกับสภาทนายความในเบื้องต้นมีประมาณกว่า 20 ราย โดยมีประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่น้ำยังไม่ลด ได้โทรศัพท์สอบถามรายละเอียดยังสายด่วน 1167 ของสภาทนายความจำนวนกว่า 100 สาย ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็ได้แนะนำในเรื่องคดีและการเตรียมเอกสารหลักฐานไว้ให้พร้อม
ฟ้อง “น้อง” ที่กำลังเสื่อมค่า ทำให้ราคาของ “พี่ชาย” สูงขึ้นทันที
ดังนั้น การนิรโทษกรรม “พี่” จึงช่วย “น้อง” ไม่ให้สำลักน้ำลายตัวเองไปด้วยในตัว !!