xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ผู้ประสบภัยแห่ฟ้อง รัฐบาล‘ปูเอาอยู่’ สุดชุ่ย โทษสูงสุดจำคุก 10 ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -มหาอุทกภัยในครั้งนี้ได้สร้างความเดือดร้อนแสนสาหัสให้แก่ประชาชนคนไทยที่อยู่ในพื้นที่ประสบภัยทุกคน บ้านเรือนจำนวนไม่น้อยจมหายไปกับสายน้ำ นิคมอุตสาหกรรมล่มต้องสั่งปิดโรงงานอย่างไมมีกำหนด การใช้ชีวิตและการสัญจรไปมาของชาวบ้านในพื้นที่น้ำท่วมเป็นไปด้วยความยากลำบาก ที่สำคัญความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นหาได้มาจากภัยธรรมชาติ แต่เกิดจากความผิดพลาดในการบริหารของรัฐบาลซึ่งนอกจากจะอ่อนด้อยประสบการณ์แล้วยังบ้าอำนาจ สั่งการและตัดสินใจโดยไม่รับฟังความเห็นของเจ้าหน้าที่หรือนักวิชาการที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องน้ำ

ดังนั้นจึงมีเสียงเรียกร้องจากบรรดาผู้ที่ได้รับผลกระทบว่าควรจะดำเนินการฟ้องร้องรัฐบาลภายใต้การนำของ 'น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร' เพื่อให้รับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น !!

งานนี้เหล่านักวิชาการและองค์กรวิชาชีพต่างอดรนทนไม่ได้พร้อมใจกันออกมาเป็นหัวหอกรับอาสาเดินเรื่องฟ้องร้องแทนประชาชน ขณะที่ผู้คนในสังคมออนไลน์ก็ขานรับและเคลื่อนไหวสนับสนุนอย่างเต็มที่ โดยองค์กรแรกที่อาสาออกมารับหน้าที่นี้คือคณาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำโดยนายณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ ซึ่งได้จับมือกับสภาทนายความในการรับเรื่องและเป็นตัวแทนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมในการดำเนินการฟ้องร้องรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยจะดำเนินการฟ้องร้องทั้งในส่วนของคดีปกครอง คดีแพ่ง และคดีอาญา

ทั้งนี้ นายณรงค์ชี้แจงถึงสาเหตุที่อาสาเป็นตัวแทนของภาคประชาชนในการยื่นฟ้องรัฐบาลในครั้งนี้ว่า เนื่องจากมีประชาชนจำนวนมากที่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์น้ำท่วมได้ติดต่อมายังตน เพื่อให้ดำเนินการฟ้องร้องรัฐบาล ทั้งในส่วนของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี รวมถึงข้าราชการที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำผิดพลาดทำให้เกิดน้ำท่วมหลายจังหวัดและทำให้ได้รับความเดือดร้อนในวงกว้าง ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว แต่ถือเป็นประเด็นสาธารณะที่มีผลกระทบต่อสังคมโดยรวม

ขณะที่ นายสัก กอแสงเรือง นายกสภาทนายความ กล่าวถึงรายละเอียดในการฟ้องร้องว่า “ ประชาชนที่เดือดร้อนสามารถยื่นเรื่องที่สภาทนายความได้ทันที ซึ่งหากตรวจสอบพบว่ามีพยานหลักฐานเกี่ยวพันไปถึงใคร เราก็จะฟ้องบุคคลนั้นเป็นจำเลย เช่น ในคดีอาญา ก็อาจฟ้องเป็นจำเลยฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ปฏิบัติหน้าที่ให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตาม ป.อาญามาตรา 157 หรือถ้าเข้าข่ายความรับผิดตาม พ.ร.บ.จัดตั้งและ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 3 หรือ 9 ก็ต้องฟ้องเพิกถอนคำสั่งและให้เยียวยาแก้ไข หรือถ้าเสียหายทางกายภาพก็ฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทน หากเป็นความรับผิดทางแพ่ง ก็ฟ้องฐานละเมิดทำให้เขาเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย อนามัย ทรัพย์สิน ตาม ป.แพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 และ 438”

นอกจากนั้นยังมีการดำเนินการฟ้องร้องโดยสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ซึ่งในเบื้องต้นจะเป็นตัวแทนของประชาชนที่ได้รับความเสียหายจากปัญหาน้ำท่วมยื่นฟ้องรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยจะยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครอง และวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 ในมาตรา 9(1) ในข้อหาการปฏิบัติหน้าที่ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ จนก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้ฟ้องคดี หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินกว่าเหตุ เพื่อให้ศาลมีคำสั่งให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการน้ำจ่ายค่าชดเชยความเสียหายแก่ประชาชนตามความเป็นจริง มิใช่จ่ายแค่ครอบครัวละ 5,000 บาท อย่างที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ จากนั้นหากการฟ้องร้องต่อศาลปกครองสิ้นสุด ทางสมาคมฯก็จะนำผลคำพิพากษาของศาลปกครองไปเป็นประเด็นในการยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งและศาลอาญาเพื่อเอาผิดกับรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่รัฐเป็นรายบุคคลต่อไป

'นายศรีสุวรรณ จรรยา' นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ระบุว่า ในคำฟ้องจะมีคำขอ2 ประเด็นด้วยกัน ประเด็นแรก ให้ศาลมีคำพิพากษาให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำ ประมาณ 10 กว่าหน่วยงาน ให้ชดใช้ค่าเสียหายหรือค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดีที่ประสบภัยตามความเสียหายที่เป็นจริง ซึ่งได้แก่ 1.ความเสียหายด้านทรัพย์สิน ไม่ว่าจะเป็นอาคารบ้านเรือน รถยนต์ ทีวี ตู้เย็น ที่เสียหายจากน้ำท่วม 2.ความเสียหายต่อสุขภาพ ร่างกาย และจิตใจ บางคนอาจเจ็บป่วยอันเนื่องมาจากน้ำท่วม ผลกระทบทุกอย่างที่เกี่ยวกับสุขภาพอนามัย 3.ค่าเสียหายอื่นๆ เช่น ค่าเสียโอกาส ผลกระทบจากการตกงาน สูญเสียลูกค้า ซึ่งประชาชนที่มอบอำนาจให้สมาคมยื่นฟ้องร้องจะต้องนำข้อมูลหลักฐานมาประกอบการยื่นฟ้อง

ประเด็นที่สอง คือขอให้ศาลมีคำสั่งให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการให้มีแผนงานหรือมาตรการในการป้องกันปัญหาอุทกภัยอย่างถาวรและเป็นรูปธรรม

“ ไม่ใช่ว่าเมื่อคำพิพากษาของศาลปกครองออกมาแล้วทุกอย่างจะจบ เพราะหลังจากที่ศาลปกครองมีคำพิพากษาออกมาเรียบร้อยแล้ว เราจะยื่นฟ้องในทางแพ่งหรือฟ้องทางอาญาต่อ โดยอ้างคำพิพากษาของศาลปกครองเป็นบรรทัดฐานเพื่อไปไล่เบี้ยกับรัฐบาลหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งผู้ที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็น รัฐมนตรี อธิบดี ปลัดกระทรวง รวมถึงตัวนายกรัฐมนตรี ก็จะต้องรับผิดชอบเป็นการส่วนตัวทั้งในทางแพ่งและทางอาญาต่อไป ถ้ามีประชาชนมาร่วมลงชื่อยื่นฟ้องจำนวนมากก็จะเป็นพลังกดดันให้กระบวนการพิจารณาของศาลเป็นไปด้วยความรอบคอบและระมัดระวังมากขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นผลดีต่อรูปคดี”

ซึ่งหากชุมชนใด หรือประชาชนท่านใดที่ประสงค์จะร่วมกับทางสมาคมต่อต้านภาวะโลกร้อน ยื่นฟ้องในคดีดังกล่าวก็สามารถขอรับแบบฟอร์มใบมอบอำนาจยื่นฟ้องคดีและแบบฟอร์มบัญชีค่าเสียหายได้ที่สมาคมฯ หรือดาวน์โหลดแบบฟอร์มได้ที่ www.thaisgwa.com โดยสามารถยื่นเรื่องต่อสมาคมฯได้จนกว่าศาลปกครองจะมีคำพิพากษาออกมา โดยหากมีการยื่นฟ้องไปแล้วทางสมาคมจะนำรายชื่อไปยื่นเพิ่มเติมต่อศาลปกครองต่อไป

ทั้งนี้ ความแตกต่างของการฟ้องในคดีปกครอง กับคดีแพ่ง และคดีอาญานั้นอยู่ที่ ความรับผิดชอบในความผิด โดยหากฟ้องในคดีปกครอง ผู้ที่ต้องรับผิดชอบในการจ่ายค่าเสียหายให้แก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินการของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ปัญหาน้ำท่วมคือองค์กรของรัฐ ซึ่งแน่นอนว่าค่าเสียหายที่นำมาจ่ายให้แก่ประชาชนนั้นจะมาจากงบประมาณของรัฐที่ได้จากการจัดเก็บภาษีจากประชาชนนั่นเอง ขณะที่การฟ้องในคดีแพ่งและคดีอาญานั้นจะมุ่งไปที่ความรับผิดชอบในความผิดของแต่ละบุคคล ทั้งที่เป็นนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี และเจ้าหน้าที่รัฐ เงินค่าชดเชยที่จะต้องจ่ายให้ประชาชนนั้นจะมาจากเงินส่วนตัวของแต่ละคน นอกจากนั้นในคดีอาญาผู้กระทำผิดอาจต้องรับโทษจำคุกอีกด้วย

สำหรับการฟ้องร้องในคดีปกครองนั้นเป็นไปตาม พ.ร.บ.จัดตั้งและ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 3 และมาตรา 9 ซึ่งเกี่ยวกับการดำเนินการเอาผิดกับหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมีคำสั่งซึ่งสร้างภาระให้แก่ประชาชน ละเลยในการปฏิบัติหน้าที่ หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินควร อันส่งผลกระทบต่อประชาชน

ขณะที่การฟ่องร้องในคดีแพ่งจะเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 และมาตรา 438 ซึ่งระบุว่าผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่ออันเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับความเสียหายถึงแก่ชีวิต แก่ร่างกาย อนามัย เสรีภาพ หรือเสียหายต่อทรัพย์สิน ผู้นั้นจะต้องจ่ายสินไหมทดแทนความเสียหายที่เกิดขึ้น

ส่วนการฟ้องร้องในคดีอาญาจะเป็นไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ซึ่งระบุว่า ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติ หน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ถึง 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2,000บาท ถึง 20,000บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

อย่างไรก็ดี หากย้อนไปดูการประเมินผลงานรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมจากการสำรวจของโพลสำนักต่างๆ ก็จะพบว่าสอดคล้องกับมุมมองของประชาชนที่ออกมาเคลื่อนไหวฟ้องร้องรัฐบาล เพราะผลโพลทุกสำนักต่างฟันธงตรงกันว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์ นั้น 'สอบตก' ในทุกประเด็น

กล่าวคือนับตั้งแต่เกิดวิกฤตอุทกภัยเป็นต้นมา พบว่าประชาชนไม่พอใจการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์มากขึ้น ขณะที่ในช่วงที่ผ่านมาประชาชนพึงพอใจในการให้ความช่วยเหลือของทหารเพิ่มขึ้น ที่เห็นได้ชัดเจน คือ ศูนย์วิจัยความสุขชุมชน มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ หรือ เอแบคโพลล์ ซึ่งได้สำรวจความคิดเห็นเสียงสะท้อนของผู้ประสบภัยน้ำท่วมในช่วงต้นเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา พบว่า ความพอใจของผู้ประสบภัยต่อหน่วยงานและคณะบุคคลที่เข้าช่วยเหลือ อันดับแรกคือ ทหาร ได้ 9.56 คะแนน รองลงมา คือ กลุ่มอาสา สื่อมวลชน ตำรวจ และส่วนงานกรุงเทพมหานคร ตามลำดับ ขณะที่ความพอใจต่อการทำงานของ ศปภ.และรัฐบาลนั้นกลับอยู่ในอันดับท้ายๆ

ขณะที่ สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ซึ่งได้ทำสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมของรัฐบาล ในช่วงเวลาเดียวกัน ก็พบว่า ผู้ที่เข้าพักอาศัยในศูนย์พักพิง 46.90% เห็นว่า รัฐบาลไม่สามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมได้ ขาดการเตรียมพร้อมที่ดี รองลงมาคือ การสื่อสาร แจ้งข้อมูลไม่ชัดเจน/ชาวบ้านหนีน้ำไม่ทัน 24.39% ส่วนผู้ที่ไม่เข้าไปอยู่ในศูนย์พักพิง ส่วนใหญ่ ถึง 41.53% เห็นว่า การให้ความช่วยเหลือยังไม่ทั่วถึง เกิดการซ้ำซ้อนในบางพื้นที่ รองลงมาคือ การแก้ปัญหาน้ำท่วมขาดประสิทธิภาพ ขาดผู้รู้จริง 20.56% ข้อมูลสับสน การประชาสัมพันธ์ไม่ชัดเจน 19.85%

ทั้งนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่านอกจากค่าชดเชยความเสียหายที่ประชาชนออกมาเคลื่อนไหวฟ้องร้องรัฐบาลแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ประชาชนคนไทยอยากเห็นเป็นที่สุดก็คือการประกาศ 'ลาออก'เพื่อแสดงความรับผิดชอบของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ แม้สิ่งนี้จะเป็นได้แค่เพียงความหวังที่ไม่มีวันจะเกิดขึ้นจริงก็ตาม !!

กำลังโหลดความคิดเห็น