พบปัญหาใหญ่! โรงพยาบาลสังกัด สธ.ที่ให้บริการผู้ป่วยในสิทธิประกันสังคม เรียกเก็บเงินจากโรงพยาบาลคู่สัญาญาไม่ได้ เหตุสภาพการเงินแย่ ส่งผลนโยบายผู้ประกันตนรักษาที่โรงพยาบาลไหนก็ได้ในสังกัดสธ.ส่อเหลว
จากกรณีที่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพื่อขอให้ช่วยดูว่าระบบประกันสังคมในส่วนความรับผิดชอบของ สธ.สามารถที่จะปรับระบบในการที่จะทำให้ผู้ประกันตนสามารถใช้บริการได้สะดวกขึ้นได้อย่างไร ซึ่ง รมว.สธ.ได้มอบหมายให้หาลู่ทางเปิดโอกาสให้ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม ที่ขึ้นทะเบียนใช้บริการกับโรงพยาบาลสังกัด สธ.สามารถที่จะใช้บัตรใบเดียวเข้ารับบริการที่หน่วยบริการใดก็ได้ในสังกัด สธ.ตามความต้องการของผู้ประกันตน ส่วนระบบบริหารจัดการได้มีการเจรจากับสำนักงานประกันสังคมมาแล้วระยะหนึ่ง คาดว่า สัปดาห์หน้าจะมีรายละเอียดครบถ้วนทั้งหมดในส่วนของ สธ.นั้น
ล่าสุด วานนี้ (19 เม.ย.) แหล่งข่าว สธ.เปิดเผยว่า ตามระเบียบแนวทางปฏิบัติของกระทรวงสาธารณสุข หนังสือที่ สธ 0223/4650 ลงวันที่ 9 พ.ย.2538 ส่งผลให้ผู้ประกันตนที่ขึ้นทะเบียนใช้บริการในสถานบริการสังกัดสธ. ซึ่งปัจจุบันมีประมาณ 40% สามารถใช้บริการในเวลาปกติในโรงพยาบาลสังกัด สธ.แห่งใดก็ได้ โดยสถานบริการจะเรียกเก็บค่าบริการกันเอง ส่วนการบริการในกรณีอุบัติเหตุฉุกเฉินในเวลา 72 ชั่วโมงแรก สถานพยาบาลจะเรียกเก็บค่าบริการจากสำนักงานประกันสังคม(สปส.) ผู้ประกันตนไม่ต้องชำระเงินเพิ่มเติมแต่ประการใด ซึ่งการดำเนินการที่ผ่านมาเกิดปัญหาเรื่องงบประมาณ ค่าบริการที่ได้รับการจัดสรรต่อหัวประชากรไม่พอ และอัตราการเรียกเก็บค่าบริการทางการแพทย์ที่สูง ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติได้ตามแนวทางที่กำหนด ซึ่งโรงพยาบาลคู่สัญญาหลักขาดสภาพคล่องทางการเงิน จึงไม่สามารถเบิกจ่ายให้โรงพยาบาลที่ให้บริการผู้ประกันตนได้ตามที่โรงพยาบาลที่บริการเรียกเก็บ
“แนวทางในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นมีความเป็นไปได้ที่ สธ.จะเสนอให้มีการจัดตั้งหน่วยงานกลางภายใน สธ.เพื่อทำหน้าที่เรียกเก็บและตามจ่ายค่าบริการทางการแพทย์ของผู้ประกันตนที่เข้ารับบริการในสถานบริการสังกัด สธ.ซึ่งการเรียกเก็บและตามจ่ายจะเป็นไปตามมติกรรมการที่มีส่วนร่วมของหน่วยบริการกำหนด จะช่วยลดภาวะการตามหนี้หรือไม่จ่าย อีกทั้ง จัดให้มีศูนย์สารสนเทศ จัดตั้งสำนักงานประกันสังคมเขต จัดระบบผู้ประกันตนสามารถใช้บริการได้ทั่วถึง ทั่วประเทศ หรือ วัน การ์ด (One Card) จัดให้มีระบบบริการให้มีโรงพยาบาลศักยภาพสูงในเครือข่ายที่สอดคล้องกับนโยบายกระทรวงสาธารณสุขให้เป็นโรงพยาบาลศูนย์ประจำเขต จัดตั้งศูนย์บริการผู้ประกันตนและการพัฒนาศักยภาพบุคลากร อย่างไรก็ตาม จำเป็นจะต้องมีการหารือร่วมกันระหว่าง สธ.และ สปส.ก่อน เนื่องจากการดำเนินการจะต้องทำร่วมกัน” แหล่งข่าวกล่าว