โดย...คุณวัตร ไพรภัทรกุล
วันที่ 1 พฤษภาคมนี้ นอกจากจะเป็นวันแรงงานแล้ว ยังเป็นวันเริ่มต้นสมัครเป็นผู้ประกันตน และเก็บเงินสมทบของแรงงานนอกระบบ มาตรา 40 ของระบบประกันสังคม ตามนโยบายสร้างคุณภาพชีวิตของรัฐบาลชุดนี้ ซึ่งนับเป็นผลงานทิ้งทวน ภายใต้เวลาบริหารงานที่เหลือน้อยเต็มที
สำหรับ แรงงานนอกระบบ สามารถแยกออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มแรกเป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระทั่วไป อาทิ แท็กซี่ สามล้อ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง หาบเร่ แผงลอย ช่างเสริมสวย แรงงานภาคเกษตร รวมไปถึงอาชีพที่มีรายได้สูง อย่างเช่น ทนายความ แพทย์ ที่มีกิจการเป็นของตนเอง และกลุ่มที่สอง เป็นกลุ่มอาชีพรับจ้างต่างๆ อาทิ ผู้รับงานไปทำที่บ้าน รับจ้างทำของ รับจ้างตามฤดูกาล รับจ้างในกิจการประมง รวมไปถึงรับจ้างทำงานบ้าน และคนขับรถส่วนตัว
โดยมีการจ่ายเงินสมทบอยู่ 2 ทางเลือก คือ ทางเลือกที่ 1 ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบ 70 บาทต่อเดือน รัฐสมทบให้อีก 30 บาท ได้รับสิทธิประโยชน์ 3 กรณี คือ เงินชดเชยการขาดรายได้กรณีเจ็บป่วยวันละ 200 บาท ปีละไม่เกิน 20 วัน เมื่อเข้าพักรักษาใน รพ.อย่างน้อย 2 วัน เงินชดเชยกรณีทุพพลภาพ เป็นเงินทดแทนการขาดรายได้ต่อเดือนเป็นระยะเวลา 15 ปี ดังนี้ 150, 650, 800, 1,000 บาทต่อเดือน ขึ้นอยู่กับระยะเวลาในการจ่ายเงินสมทบ และกรณีเสียชีวิตได้รับเงินค่าทำศพ 20,000 บาท ต่อเมื่อภายใน 12 เดือนผู้ประกันตนได้จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือนก่อนเดือนที่ถึงแก่ความตาย
ทางเลือกที่ 2 ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบ 100 บาทต่อเดือน รัฐสมทบให้อีก 50 บาท ได้รับสิทธิประโยชน์เช่นเดียวกับทางเลือกที่ 1 แต่เพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีบำเหน็จชราภาพอีก 1 กรณี ทั้งนี้ ผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ที่ประสงค์จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพเพิ่มขึ้น สามารถจ่ายเงินสมทบในส่วนนี้เพิ่มขึ้นได้ โดยผู้ประกันตนสามารถออมเพิ่มได้ตามต้องการ แต่สูงสุดไม่เกินเดือนละ 1,000 บาท
ทั้งนี้ ผู้ประกันตนจะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพเป็นเงินก้อนและดอกผลรายปี เมื่อผู้ประกันตนอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ และไม่ประสงค์เป็นผู้ประกันตน ม.40 ต่อไป
ทั้งนี้ บุคคลที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์และไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์ สามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 ได้ และผู้ที่ทุพพลภาพอยู่ก่อนแล้วก็สามารถสมัครได้แต่จะได้รับสิทธิกรณีทุพพลภาพก็ต่อเมื่อจ่ายเงินสมทบครบตามเงื่อนไขการเกิดสิทธิและทุพพลภาพเพิ่มขึ้นจากเดิมตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด
ส่วนสิทธิประโยชน์ในการรักษาพยาบาลของผู้ประกันตน ม.40 นั้น ให้ใช้สิทธิของบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือบัตรทองของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งจะแตกต่างจากผู้ประกันตนตามมาตรา 33 หรือบุคคลที่เป็นลูกจ้างในกิจการที่ประกอบธุรกิจ และผู้ประกันตนตามมาตรา 39 หรือผู้ประกันตนเองแบบสมัครใจ ที่ไม่สามารถใช้บัตรทอง โดยที่ผ่านมาได้มีประเด็นเปรียบเทียบสิทธิการรักษาพยาบาลว่าผู้ประกันตนที่ต้องจ่ายเงินสมทบทุกเดือนกลับได้สิทธิในการรักษาน้อยกว่าและเข้าถึงยาได้ยากกว่าการรักษาจากบัตรทองที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย
นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ได้แสดงความคิดเห็นว่า โดยส่วนตัวคิดว่าประกันสังคมของแรงงานนอกระบบยังเหมือนกับการซื้อประกัน ที่ไม่น่าจะแบ่งแยกจากประกันสังคม มาตรา 33 เพราะจริงๆ แล้วควรจะสร้างมาตรฐานเดียวกันเหมือนแรงงานในระบบ เพราะถ้าเป็นอย่างนี้อาจจะยิ่งสร้างความไม่เท่าเทียมกันเข้าไปอีก ส่วนในเรื่องเงินสมทบนั้น สัดส่วนการจ่ายของผู้ประกันตน มาตรา 40 ยังต้องจ่ายในสัดส่วนที่มากกว่าที่สำนักงานประกันสังคมสมทบให้ ซึ่งน่าจะจ่ายคนละครึ่งมากกว่า จะได้ไม่เป็นการไปเพิ่มภาระให้กับผู้ประกันตนที่อยู่นอกระบบ
“เป็นห่วงในเรื่องการบริหารจัดการว่ามีความพร้อมหรือยัง อย่างเรื่องการประชาสัมพันธ์ที่ต้องเข้าถึงคนที่อยู่ห่างไกลจริงๆ เพราะบางคนที่อยู่ไกลมากๆ อย่างในชนบท ไม่สามารถเข้าถึงสื่อได้ ทำให้ยังไม่มีความรู้ไม่เข้าใจในส่วนนี้ เพราะจากที่ได้สัมผัส พบว่าผู้ที่รู้คือส่วนของแกนนำ แต่ในส่วนของชุมชนห่างไกลยังขาดความเข้าใจอยู่มาก”นายชาลีทิ้งท้าย
ล่าสุด สำนักงานประกันสังคมได้ขอความร่วมมือกับธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ในการแจกจ่ายใบสมัครและรับชำระเงินสมทบ โดยตั้งเป้าจะดึงแรงงานนอกระบบที่มีกว่า 24 ล้านคน เข้าสู่ระบบประกันสังคมในปีนี้ให้ได้ 2.4 ล้านคน ขณะที่ยอดแรงงานนอกระบบที่จะสมัครเข้าสู่ประกันสังคม ณ วันที่ 19 เมษายน นี้ มีจำนวน 300,200 คน จนถึงวันที่ 1 พ.ค.อาจลุ้นทำยอดทะลุ 4 แสนคน อีกทั้งครม.เพิ่งจะอนุมัติงบประมาณ 525 ล้านเพื่อเดินหน้าโครงการจูงใจให้แรงงานนอกระบบ เข้าเป็นผู้ประกันตนในระบบตามมาตรา 40
บนความสับสนของข้อมูลทำให้นักวิชาการ รวมถึงแรงงานนอกระบบจำนวนไม่น้อยที่ไม่แน่ใจว่า นี่เป็นทางออกที่สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีและลดความเหลื่อมล้ำไ ด้จริงหรือไม่? เพราะแค่เพียงเริ่มต้น สิทธิประโยชน์ที่ได้รับก็ไม่เท่าเทียมกันเสียแล้ว!