เครือข่ายลูกจ้างรวมพลัง โต้ สภาอุต-หอการค้าฯอย่าเวอร์ ผลกระทบขึ้นค่าจ้าง 300 บาทต่อวัน ทวงพรรคเพื่อไทยขึ้นค่าจ้างตามนโยบายหาเสียง ขู่ฟ้องศาลผิดสัญญาประชาคม ค้านใช้เงินภาษีชาวบ้านอุ้มนายทุน ด้านนักวิชาการฟันธงกระทบน้อย อัดสภาอุตฯตีตั๋วเด็กอ้างเอสเอ็มอีบังหน้า แนะตั้งกองทุนอุ้มเอสเอ็มอี
วันนี้ (25 ก.ค.) ที่คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มีการอภิปรายทางวิชาการเรื่อง “300 บาท ชะตากรรมใคร? รัฐ นายจ้าง หรือลูกจ้าง” โดย ศ.ภิชาน แล ดิลกวิทยรัตน์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า จริงๆ แล้วต้นทุนการผลิตโดยเฉลี่ยแล้วมาจากค่าจ้างขั้นต่ำไม่เกินร้อยละ 10 ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 90 เป็นต้นทุนที่มาจากส่วนอื่นๆ แต่นายจ้างมักคิดว่าหากปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ก็ทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นจนอยู่ไม่ได้ และต้องย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่น ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจ เพราะเกาหลีใต้ หรือไต้หวัน ซึ่งเติบโตมาพร้อมกับประเทศไทย แต่ค่าจ้างขั้นต่ำกลับสูงกว่าประเทศไทย และยังสามารถแข่งขันได้ นั่นแสดงว่าประเทศเหล่านี้ได้พัฒนาต้นทุนส่วนที่เป็นร้อยละ 90
ศ.ภิชาน แล กล่าวอีกว่า เดิมทีเดียวการที่ประเทศไทยมีค่าจ้างขั้นต่ำถูก คิดว่าเป็นการกดค่าจ้างชั่วคราว เพื่อดึงดูดนักลงทุนและแข่งขันเพื่อการส่งออก ไม่ใช่ผลิตเพื่อป้อนคนในประเทศ เพราะหากต้องการป้อนคนในประเทศก็ต้องทำให้คนในประเทศมีรายได้สูง และมีกำลังซื้อ แต่วันหนึ่งพบว่าในต่างประเทศเองก็เกิดวิกฤตต่างๆ ที่ส่งผลต่อการส่งออก และเอาคนงานออกซึ่งเดือดร้อนกันถ้วนหน้า ดังนั้น หากวันนี้มีการเปลี่ยนแปลงโดยเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำให้สูงขึ้นก็จะทำให้คนมีกำลังซื้อมากขึ้น ทำให้ประเทศสามารถพึ่งตัวเองได้
“การที่มักพูดกันว่าค่าจ้างขึ้นแล้วจะทำให้เกิดสภาวะเงินเฟ้อ ผมคิดว่า เป็นการโยนภาระเงินเฟ้อให้แก่คนงานกันโดยตลอดซึ่งไม่เป็นธรรม จริงๆ แล้วรัฐควรดูเหตุผลที่แท้จริงว่าทำไมถึงปล่อยให้ราคาสินค้าขึ้นจนเงิน เฟ้อ ทั้งๆที่การขึ้นเงินเดือนราชการ หรือรัฐวิสาหกิจก็ทำให้เกิดเงินเฟ้อเหมือนกัน ราคาสินค้าก็พากันขึ้นราคาทั้งๆที่ไม่เกี่ยวกันเลย ซึ่งมันเป็นเรื่องที่เกินไป” ศ.ภิชาน แล กล่าว
ศ.ภิชาน แล กล่าวต่อไปว่า สิ่งที่พรรคเพื่อไทย (พท.)จะทำไม่ได้อีกต่อไปมี 2 เรื่องคือ 1.ไม่สามารถปฏิเสธการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ในทันที เพราะประกาศไว้ชัดเจน และคนงานเห็นข้อแตกต่างระหว่างเพื่อไทย กับพรรคประชาธิปัตย์ หากรัฐบาลจะยืดเวลาออกไปก็ไม่สอดคล้องกับการทำให้เชื่อ 2.ผู้ฟังนโยบายของเพื่อไทยไม่มีใครคิดว่าจะทยอยได้ทีละจังหวัด สำหรับทางออกนั้น อาจให้นายจ้างจ่ายตามข้อเสนอ แต่ไปหักบางส่วนเอาจากกองทุนใดกองทุนหนึ่งที่ตั้งขึ้น และอาจเรียกเก็บภาษีเอาจากนายจ้าง หากเป็นธุรกิจที่เล็กรัฐอาจเก็บน้อยหน่อย
“เชื่อว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ราชประสงค์ส่วนหนึ่งเกิดจากความเหลื่อมล้ำทางสังคม ซึ่งการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน เป็นการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ช่วยแก้ปัญหาบ้านเมืองอย่างสันติวิธี ถ้าไม่ทำในโอกาสนี้ในอนาคตจะไม่มีโอกาสเช่นนี้อีกแล้วและไม่มีใครสามารถ รับประกันได้ว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์เช่นที่ราชประสงค์ครั้งที่ 2 และ 3 ดังนั้น ผมอยากให้ลูกจ้างได้เท่ากับที่ควรจะได้ การจะไปได้ทีหลังหรือทยอยได้เป็นเรื่องไม่ถูก และจะกลายเป็นต้นทุนความสูญเสียสำหรับพรรคการเมืองที่แพงมาก ” ศ.ภิชาน แล กล่าว
ศ.ภิชาน แล กล่าวด้วยว่า กรณีที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสภาหอการค้าไทยที่ออกคัดค้านการ ปรับขึ้นค่าจ้าง 300 บาทต่อวันที่ระบุว่าจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจเอสเอ็มอีโดยอ้างตัวเลข ว่า ธุรกิจเอสเอ็มอีจะต้องปิดกิจการ 2 ล้านแห่งในขณะที่ตัวเลขของสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ระบุมีสถานประกอบการ เพียง 2 แสนแห่งเท่านั้น จึงมีคำถามว่า ส่วนต่างนั้นมาจากไหน และสถานประกอบการที่เกินมาไม่ได้เหตุใดไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม ซึ่งธุรกิจใน ส.อ.ท.และสภาหอการค้าฯไม่ใช่ธุรกิจเอสเอ็มอี จึงถือเป็นการตีตั๋วเด็กนำผลกระทบของธุรกิจคนอื่นมาปกป้องธุรกิจตัวเองเพราะ นายจ้างอยู่ไม่ได้ในระบบที่ตัวเองเคยอยู่และเป็นระบบที่เอารัดเอาเปรียบ ลูกจ้าง ทั้งนี้ ลูกจ้างก็ไม่ควรให้นายจ้างอยู่ในระบบเช่นนี้ต่อไป
ดร.ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์ อาจารย์คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่า การนำเสนอนโยบายปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาท เป็นแทกติกของพรรคการเมืองที่ง่ายดี และหากสำเร็จก็จะกลายเป็นแบรนเนมเหมือนกับเรื่อง 30 บาทรักษาทุกโรค และหาเสียงได้อีกนาน แม้เสี่ยงแต่ถือว่าคุ้มค่า แต่ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีในการลดความเหลื่อมล้ำและมีผลในการกระตุ้นค่าใช้จ่าย
ดร.ดิเรก กล่าวว่า ในฐานะของรัฐบาลควรทำให้งานนี้เป็นได้กับได้ ซึ่งคิดว่า คงมีการคิดไว้หมดแล้ว เช่น การลดภาษีนิติบุคล หรือการเอาส่วนเพิ่มไปลดหย่อน แต่ต้องยอมรับว่าเรื่องนี้มีผลสะเทือนมาก และเห็นว่านโยบายใหม่ๆของพรรคการเมืองควรมีอะไรใหม่ๆ และงานวิจัยหลายชิ้นเกี่ยวกับค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งผลการศึกษาหลายชิ้นพบว่ามีผลกระทบน้อย แต่มีปฎิกริยาเกินความเป็นจริงเกิดขึ้น และกลายเป็นเกมต่อรอง
“รัฐบาลควรออกมาตรการลดหย่อนภาษี ผมเห็นว่า นายจ้างหลายคนพร้อมที่จะรวมมือและจ่าย จริงๆแล้วต้นทุนที่เป็นองค์ประกอบในการผลิตไม่ได้สูงมากมาย ที่สำคัญ คือ นายจ้างก็ต้องปรับตัว ไม่ใช่เจอค่าจ้างปรับเพิ่มขึ้นก็อยู่ไม่ได้ มันอ่อนแอเกิดไป และหากต้องการลดความเหลื่อมล้ำ คนรวยต้องยอมเฉียนเนื้อตัวเองบ้าง และผมไม่เห็นด้วยกับการจะเอาเงินภาษีของประชาชนมาชดเชยให้แก่นายทุน” ดร.ดิเรก กล่าว
ดร.ดิเรก กล่าวด้วยว่า รัฐบาลเองก็ควรมีมาตรการสำรองกรณีที่มีการปลดคนงานจริง เช่น หากนายจ้างตอบโต้ปลดคนงาน 5 แสนคนหรือ 1 ล้านคน ก็ควรตกลงกับเทศบาล อบต.จ่ายให้ครี่งหนึ่งต่อวัน คือ 150 บาท และรัฐบาลจ่ายครี่งหนึ่งซึ่งใช้งบประมาณเพียงกว่า 4 หมื่นล้านบาทในช่วง 6 เดือน
ดร.ดิเรก กล่าวต่อไปว่า รัฐบาลชุดใหม่ควรตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาวิจัยข้อมูลให้ชัดเจนว่าต้นทุนใน การปรับขึ้นค่าจ้าง 300 บาทต่อวันเพิ่มขึ้นเท่าไหร่เพื่อให้มีข้อมูลทางวิชาการมารองรับว่า จะส่งผลกระทบในส่วนใดบ้างไม่ใช่ปล่อยให้นายจ้างออกพูดฝ่ายเดียว เพราะต้นทุนที่นายจ้างบอกในตอนนี้อาจสูงกว่าความเป็นจริง ขณะเดียวกันก็ควรมีมาตรการรองรับเอาไว้บ้าง ซึ่งจริงๆ อาจไม่ต้องใช้ ที่สำคัญ คือ รัฐบาลต้องใจแข็ง ทั้งนี้ การจุดพลุเรื่อง 300 บาทเป็นการรุกที่สำคัญและก้าวกระโดด ซึ่งอาจสำเร็จครึ่งหนึ่งหรือมากกว่าทางฝ่ายแรงงานก็น่าพอใจเพราะดีกว่าขึ้นทีละ 2-3%
ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังเริ่มนับหนึ่งของสังคมชราภาพ โดยกำลังแรงงานลดลงซึ่งคนงาน 1 คน ต้องรับภาระทั้งลูกๆและคนชรา ดังนั้นจึงจำเป็นต้องได้ค่าจ้างเพิ่มขึ้น การที่นายจ้างอ้างว่าประสิทธิภาพแรงงานไทยต่ำนั้น ตนคิดว่ามีเรื่องที่ควรพิจารณา อย่างกรณีประเทศจีนค่าจ้างวิ่งเร็วกว่าผลิตภาพ เช่นเดียวกับอินโดนีเซีย ทั้งนี้ ขอยืนยันประสิทธิภาพแรงงานไทยไปเร็วกว่าค่าจ้าง ตอนนี้ค่าจ้างต่ำกว่าประสิทธิภาพ หากมีการปรับค่าจ้างให้แรงงานไทย ก็เชื่อว่า จะทำให้ประสิทธิภาพของแรงงานไทยไปเร็วมากขึ้น
ดร.ณรงค์ กล่าวอีกว่า จากงานวิจัยของตน พบว่า ร้อยละ 60 ของลูกจ้างทั้งหมดมีค่าจ้างไม่ถึงเดือนละ 6 พันบาท แต่รายได้ที่ทำให้พออยู่ได้ คือ เดือนละ 7 พันบาท โดยคนงานต้องส่งลูกไปให้พ่อแม่เลี้ยงในต่างจังหวัด และเกิดปัญหาหย่าร้างขึ้นจำนวนมาก แต่หากมีการปรับค่าจ้างเพิ่มขึ้น 300 บาทก็จะช่วยเหลือคนงานได้มาก
“ความสามารถที่นายจ้างจ่ายได้นั้น หากปรับเพิ่ม 300 บาทต่อวัน ต้นทุนรวมเพิ่มเพียง 3 บาท เท่านั้น ดังนั้น ความสามารถในการจ่ายของนายจ้างไม่น่ามีปัญหา แต่ในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มที่คาดว่า จะทำให้ต้นทุนสูงนั้นก็ไม่ใช่ ส่วนที่อ้างว่าเอสเอ็มอีจะอยู่ไม่ได้นั้น ก็มีทางออกง่ายๆคือ รัฐบาลชุดใหม่ตั้งกองทุนให้เอสเอ็มอีกู้และคิดดอกเบี้ยร้อยละ 1-2 หากนายจ้างเอสเอ็มอีไปซื้อตึกแถวให้ลูกจ้างอยู่ติดกับสถานประกอบการก็จะช่วยเรื่องค่าเดินทาง ยิ่งจัดสวัสดิการให้ก็อาจไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าจ้างถึง 300 บาทต่อวัน” ดร.ณรงค์ กล่าว
ดร.ณรงค์ กล่าวด้วยว่า หาก เปรียบเทียบกับประเทศที่เคยพัฒนาพร้อมกับประเทศไทย ทั้งอินโดนีเซีย เกาหลีใต้ มาเลเซีย ต่างได้รับค่าจ้างสูงกว่าประเทศไทย แต่ข้อควรระวังคือ การมีอำนาจเหนือตลาด เช่น ต้นทุนเพิ่มแค่ร้อยละ 3 แต่ข้าวของกลับเพิ่มร้อยละ 10 ซึ่งเท่ากับเพิ่มค่าจ้างแต่รายได้ลด อย่างไรก็ตาม ที่น่าห่วงกว่านั้นคือรัฐบาลไม่เคยบังคับนายทุนได้ หากเพิ่มค่าจ้างแต่นายทุนไปเพิ่มราคาสินค้าสูงรัฐบาลก็ทำอะไรไม่ได้
“ที่รัฐบาลควรระวังคือการที่บอกว่าค่าจ้างขั้นต่ำไม่บังคับไปถึงแรงงานต่างด้าว เพราะเท่ากับเปิดช่องให้นายจ้างไปจ้างแรงงานต่างด้าว อย่างไรก็ตาม ผมเห็นว่า หากปรับค่าจ้าง 300 บาทได้น่าจะเป็นผลบวก มาก ที่สำคัญตอนนี้เราเข้าสู่สังคมการค้าอุตสาหกรรมเรียบร้อยแล้ว ซึ่งค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นจะมีผลต่อการบริโภคและจีดีพีถึงร้อยละ 1” ดร.ณรงค์ กล่าว
ดร.ณรงค์ กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้ควรจะต้องปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ให้เท่ากันทั่วประเทศ เพราะค่าครองชีพของลูกจ้างทั่วประเทศไม่แตกต่างกันโดยเฉพาะในต่างจังหวัดค่า สินค้าอุปโภคบริโภค ค่าขนส่งและค่าเดินทางของแรงงานต่างจังหวัดแพงกว่าในกรุงเทพฯ แต่ ถ้าไปคำนวณเหมารวมเอาอาชีพอื่นที่ไม่ใช่แรงงานเช่น เกษตรกรซึ่งทำงานอยู่กับที่ไม่ได้ไปไหนเข้ามาด้วย ก็จะทำให้อัตราค่าครองชีพโดยเฉลี่ยต่ำกว่าในกรุงเทพฯ
ดร.ณรงค์ กล่าวด้วยว่า เมื่อพูดถึงความสมเหตุสมผลพบว่า คนงานมีอำนาจต่อรองน้อยกว่านายจ้างเยอะ เนื่องจากปัจจุบันไทยมีสภาองค์การลูกจ้าง 13 องค์กรกรมีสมาชิกแค่ 3.5 แสนคนจากที่มีแรงงานที่ลงทะเบียนในระบบประกันสังคมกว่า 9.6 ล้าน ทำให้มีอำนาจต่อรองต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับสภาแรงงานของเยอรมันที่สภาเดียวมีสมาชิกถึง 7 ล้านคนจึงอำนาจต่อรองลูก ดังนั้น ความสมเหตุสมผลจึงเป็นเรื่องของการต่อรอง การเรียกร้องที่ควรควบคู่ไปกับค่าจ้าง คือการลดต้นทุนของสถานประกอบการ เช่น ลดเงินเดือนผู้บริหารต่างชาติที่สูงมาก
นอกจากนี้ ยัง มีต้นทุนมืดที่อยู่ใต้โต๊ะซึ่งไม่ค่อยได้ลดเพราะเป็นการสมรู้ร่วมคิดกัน ระหว่างผู้มีอำนาจและนายทุน นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายส่วนตัวของเจ้าของบริษัทก็ควรลดลง ซึ่งเรื่องเหล่านี้ทำให้ต้นทุนเพิ่ม
“สิ่งที่ชี้ขาดว่าคนงานจะได้ 300 บาทต่อวัน หรือไม่ คือ เรื่องของอำนาจการต่อรองเป็นกลไกหลักที่จะทำให้ค่าจ้าง 300 บาทต่อวันและเงินเดือนปริญญาตรี 1.5 หมื่นบาทเป็นจริง” ดร.ณรงค์ กล่าว
นายภวิศ ผาสุข ประธานสมาพันธ์เหล็กและโลหะแห่งประเทศไทย กล่าวว่า อยากถามนายจ้างว่ากดขี่แรงงานมา 30-40 ปียังไม่พออีกหรือ การที่นายจ้างส่วนหนึ่งมาคัดค้าน และในส่วนของรัฐบาลหากไม่ปฎิบัติตามที่ประกาศไว้ สมาชิกของตนกว่า 1 พันคน พร้อมที่จะฟ้องร้องตามมาตรา 53 ของพ.ร.บ.เลือกตั้งสส. ที่ระบุว่า นโยบายหาเสียงที่สัญญาไว้กับประชาชนและทำไม่ได้มีความผิด ที่สำคัญการพูดแล้วไม่ทำคนงานเรียกว่าตอแหล
นายสมศักดิ์ ทองงาม อนุกรรมการค่าจ้างอ่างทอง กล่าวว่า ได้ประชุมคณะอนุกรรมการค่าจ้าง โดยลูกจ้างบอกว่าที่เลือกพรรคเพื่อไทย เพราะรอ 300 บาท ทำให้ขณะนี้เป็นความหวัง และหาก 300 บาทมาจากนายจ้างเราดีใจ แต่ไม่เห็นด้วยที่เอามาจากภาษีของแรงงานมาจ่ายชดเชยให้แก่นายจ้างที่ขึ้นค่าจ้าง 300 บาทต่อวัน
น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า 20 ปีที่ผ่านมา ชีวิตของนายจ้างเปลี่ยนไปมาก ส่งลูกเรียนไปโรงเรียนดีๆ ส่งไปต่างประเทศ ขณะที่คนงานไม่มีอะไรดีขึ้นเลย พอมาวันหนึ่งจะปรับขึ้นค่าจ้างก็ออกมาคัดค้าน ดังนั้น ควรออกมาตรวจสอบข้อเท็จจริงกันให้ชัด โดยเฉพาะที่ผลการสำรวจออกมาว่าจะทำให้เอสเอ็มอีได้รับผลกระทบถึง 2 ล้านแห่ง ขณะที่ตัวเลขของ สปส.บอกว่าเอสเอ็มอี 2 แสนแห่ง
ทั้งนี้ ภายหลังอภิปรายผู้ใช้แรงงาน นำโดย นายชาลี ลอยสูง ประธาน คสรท.ได้ร่วมกันออกแถลงการณ์ ระบุว่า นโยบายปรับค่าจ้างเพิ่ม 300 บาท ต้องไม่ใช่แค่นโยบายการหาเสียง แต่ขณะนี้มีความไม่ชัดเจนคลุมเครือจุดยืนของพรรคเพื่อไทย เนื่องจากมีเสียงคัดค้านจากส.อ.ท.และสภาหอการค้าฯ ทำให้เกิดความสับสนในสังคมมาก ดังนั้น จึงขอสนับสนุนและเรียกร้องให้พรรค พท.ยืนหยัดนโยบายขึ้นค่าจ้าง 300 บาทต่อวันตามที่ได้หาเสียงไว้
นโยบายดังกล่าวถือว่าเป็นสัญญาประชาคมและเป็นความรับผิดชอบของพรรคเพื่อไทยต้องทำ ให้เป็นจริงตามสัญญา และเรียกร้องให้รัฐบาลชุดใหม่ปรับแผนพัฒนาเศรษฐกิจจากเดิมปกป้องอุตสาหกรรม ส่งออกที่เน้นใช้แรงงานราคาถูกมาสู่นโยบายการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจโดยใช้ค่าจ้างที่เป็นธรรม