xs
xsm
sm
md
lg

ตุลานี้ สรุปค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
ปลัดแรงงานคาดค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทได้ข้อสรุปชัดเจนในเดือนต.ค.นี้ เดินหน้าพัฒนาฝีมือแรงงานรองรับ เปิดตัวเวบเมนูหลักสูตรเดือนก.ย.นี้ ด้าน นักวิชาการหนุนปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศระบุผลกระทบไม่ถึงขั้นปิดโรงงาน ร้องขจัดคอรัปชั่น ทุจริต ที่ผู้ประกอบการต้องจ่ายในอัตรา30-40% นักแรงงานหวั่นรัฐคุมเงินเฟ้อไม่ได้ ปล่อยสินค้าแพง ลูกจ้างไม่ได้ประโยชน์จากค่าจ้าง 300 บาท

วันนี้ (18 ส.ค.) นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน(รง.)ในฐานะประธานคณะกรรมการ(บอร์ด)ค่าจ้างกลางกล่าวถึงการเตรียมการรองรับนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันของรัฐบาลชุดใหม่ว่า ขณะนี้กระทรวงแรงงานกำลังสำรวจค่าครองชีพของแรงงานทั่วประเทศใหม่อีกครั้ง เพื่อให้ได้ข้อมูลตรงกับสถานการณ์ปัจจุบัน และคาดว่าการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทนั้น จะได้ข้อสรุปชัดเจนในเดือนต.ค.นี้ เพื่อให้นายจ้างได้มีเวลาปรับตัว ส่วนข้อเสนอของหน่วยงานต่างๆเช่น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)ที่เสนอให้มีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันในลักษณะแบบขั้นบันไดภายในเวลา 3-4 ปี เพื่อให้เกิดผลกระทบน้อยต่อภาคธุรกิจน้อยที่สุดนั้น กระทรวงแรงงานยินดีรับฟังข้อมูลและหารือกับทุกฝ่าย

นพ.สมเกียรติ กล่าวอีกว่า ขณะนี้กระทรวงแรงงานก็เตรียมการรองรับนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำไว้แล้ว ซึ่งเรื่องใดที่ทำได้ก็ทำไปก่อน เช่น การพัฒนาฝีมือแรงงานเพื่อให้มีศักยภาพเหมาะสมกับการรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท โดยในการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานในวันนี้ ตนได้มอบนโยบายเรื่องนี้แก่ที่ประชุม ซึ่งตามพ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานพ.ศ.2545 นั้นสถานประกอบการสามารถนำค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมมาขอลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมามีสถานประกอบการจำนวนหนึ่งไม่ได้จัดฝึกอบรมพัฒนาฝีมือลูกจ้าง แต่ยินยอมจ่ายเงินค่าปรับเข้ากองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน เนื่องจากเห็นว่าขั้นตอนการฝึกอบรมมีความยุ่งยากเพราะต้องยื่นเอกสารลงทะเบียน หลักสูตรและและค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมมาให้กรมการพัฒนาฝีมือแรงงาน(กพร.)รับรอง

“ผมได้ให้กพร.ปรับแนวทางส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานให้สะดวกมากขึ้นโดยได้รวบรวมหลักสูตรที่ได้มาตรฐานซึ่งสถานประกอบการเคยใช้ฝึกอบรมแรงงานในสาขาต่างๆมาจัดทำเป็นเมนูหลักสูตรเพื่อให้สถานประกอบการเลือกนำไปใช้ฝึกอบรมแรงงานในสาขาต่างๆบรรจุลงในระบบอินเทอร์เนตในลักษณะของอีเซอร์วิสที่เวบไซต์ของกพร.ที่www.dsd.go.th รวมทั้งให้สถานประกอบการเข้ามาลงทะเบียน ยื่นหลักสูตรและค่าใช้จ่ายฝึกอบรมลูกจ้างผ่านระบบอีเซอร์วิสนี้ด้วย จะมีการเปิดตัวในวันที่ 8 ก.ย.นี้ที่ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพคอารีน่า เมืองทองธานี จ.นนทบุรีโดยได้เชิญน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มาเป็นประธานในพิธี แต่ขณะนี้ยังไม่ได้ตอบรับ และผมได้สั่งการให้กพร.จัดส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ไปให้คำแนะนำในการฝึกอบรมและจัดหาวิทยากรอบรมลูกจ้างแก่สถานประกอบการในจังหวัดต่างๆโดยเริ่มตั้งแต่เดือนส.ค.นี้ และหลังจากวันที่ 8 ก.ย.ก็จะให้เดินหน้าเต็มที่” นพ.สมเกียรติ กล่าว

นพ.สมเกียรติ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ จะต้องมีการปรับเพดานค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติในสาขาที่ได้รับค่าจ้างต่ำกว่า 300 บาทต่อวัน ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาปรับอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ ซึ่งช่วงเดือนก.ค.ที่ผ่านมาได้รับรายงานว่ามีแรงงานที่เป็นช่างฝีมือสาขาต่างๆมาขอเข้ารับการทดสอบกว่า 2 พันคน ทั้งนี้ แรงงานที่ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือและได้รับค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงานไปแล้ว หากมีการปรับเพดานอัตราค่าจ้างก็จะได้ขยับค่าจ้างโดยปริยายไม่ต้องมาเข้ารับการทดสอบมาตรฐานฝีมืออีก

นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน(รมว.รง.) กล่าวถึงข้อเสนอของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)ที่เสนอให้มีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันในลักษณะแบบขั้นบันไดภายในเวลา 3-4 ปี เพื่อให้เกิดผลกระทบน้อยต่อภาคธุรกิจน้อยที่สุดว่า ยินดีรับฟังข้อมูลและพร้อมหารือกับทุกฝ่าย ทั้งนี้ หลังจากรัฐบาลแถลงนโยบายต่อรัฐสภาในวันที่ 23-24 ส.ค.นี้ ก็จะบอกถึงรายละเอียดเรื่องการค่าปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันได้มากขึ้น

ครสท.ค้านปรับขึ้น 300 บ. กรุงเทพ-ปริมณฑล-จังหวัดใหญ่

จากกรณีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจและรมว.พาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ว่า มีแนวทางเกี่ยวกับนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน ว่าจะเริ่มดำเนินปรับในกรุงเทพฯ ปริมณฑลและจังหวัดใหญ่ๆ ภายในปีนี้ จากนั้นจะขยายการดำเนินการให้ครอบคลุมทุกจังหวัดภายใน 4 ปีนั้น วันนี้ (19 ส.ค.) นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) กล่าวว่า ขอยืนยันว่าต้องขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันเท่ากันทั่วประเทศ ภายในเดือนมกราคมปีหน้า โดยต้องทำตามที่ได้หาเสียงไว้ ไม่เห็นด้วยว่าจะขึ้นแค่ในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และในจังหวัดใหญ่ๆ เพราะจังหวัดอื่นๆ ต้องกินต้องใช้เหมือนกัน ค่าครองชีพไม่ได้ขึ้นแค่ในเมืองใหญ่ๆ แต่จังหวัดอื่นๆ ก็ขึ้นเหมือนกัน ถ้าการบริหารจัดการดีคิดว่าก็สามารถปรับได้พร้อมกันทั้งประเทศ

นายชาลี กล่าวอีกว่า ในอดีตเรามักคิดว่าต่างจังหวัดค่าใช้จ่ายถูกกว่า แต่บางทีค่าใช้จ่ายต่างจังหวัดสูงกว่าค่าใช้จ่ายในกรุงเทพฯ อยากให้ดูที่ตัวแรงงานมากกว่าว่าแรงงานอยากมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น การปรับเพิ่มค่าจ้างเป็นการเยียวยาให้แรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพราะแรงงานถูกเอาเปรียบมานานแล้ว ซึ่งถ้าปรับขึ้นเลยทีเดียวจะมีผลกระทบกับนายจ้างเหมือนกัน รัฐบาลก็ต้องหาวิธีการเยียวยา ไม่ใช่ว่าปรับขึ้นค่าจ้างเป็นขั้นบันได แล้วมาหาวิธีเยียวยา ซึ่งก็ไม่ได้ต่างกัน

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากเทียบกับนโยบายปรับขึ้นค่าจ้าง 25 % ภายใน 2 ปี ของพรรคประชาธิปัตย์นั้น แตกต่างกันอย่างไร นายชาลี กล่าวว่า ต้องถือว่าของประชาธิปัตย์มีความเป็นไปได้เยอะ เพราะปรับขึ้นเป็นขั้นบันได แต่นโยบายปรับขึ้น 300 บาท พร้อมกันทั่วประเทศของพรรคเพื่อไทย เป็นความหวังของแรงงานทั้ง 38 ล้านคน ถ้าบิดออกไปจากที่หาเสียงไว้ แรงงานเหล่านี้จะรู้สึกอย่างไร สัญญาที่ให้ไว้ตอนหาเสียงแล้วไม่ทำนั้นผิดกฎหมาย ซึ่งไม่ได้แต่เพียงแรงงานเท่านั้น แต่คนทั้งประเทศก็รับรู้นโยบายที่ได้หาเสียงไว้ ทั้งนี้ จะกล้าตัดสินใจหรือไม่ขึ้นอยู่กับฝ่ายบริหาร วันนี้ยังไม่ได้ทำแต่แนวทางก็ผิดไปจากที่หาเสียงไว้แล้ว

นักวิชาการ ระบุขึ้นค่าแรง รง.ไม่เจ๊ง
วันนี้ (18 ส.ค.) นายอนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวในงานเสวนา”ผลของนดยบายค่าจ้างต่อความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขัน”ที่ศูนย์ศึกษาสาทรธานี ม.รังสิต เขตสาทร กรุงเทพฯว่า ผลการศึกษาเกี่ยวกับการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ พบว่าจะส่งผลให้ยกระดับกำลังซื้อ ทั้งนี้กำลังซื้อภายในไทยร้อยละ 42 มาจากเงินเดือนและค่าจ้าง ทั้งนี้ต้นทุนการผลิตในกลุ่ม SME ทั่วประเทศจะเพิ่มจากร้อยละ 17.06 เป็น 23.48 เฉลี่ยเพิ่มร้อยละ 6.42 ส่วนกิจการขนาดใหญ่ ต้นทุนการผลิตจะเพิ่มจากร้อยละ 14.14 เป็น 20.48 เฉลี่ยร้อยละ 6.34

นอกจากนี้ จะทำให้เพิ่มต้นทุนแรงงานเพียงเล็กน้อย แต่จะส่งผลดีให้นายจ้างสนใจเร่งปรับศักยภาพทักษะคนงาน และหันมาใช้นวตกรรม เทคโนโลยีใหม่ในการผลิตเพื่อเพิ่มผลิตภาพการผลิต productivity และจะเป็นการจูงใจให้คนเข้ามาทำงาน แก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน รวมถึงลดการเคลื่อนย้ายถิ่น คนงานได้ทำงานในภูมิลำเนาเชื่อภาพรวมคุณภาพชีวิตคนไทยดีขึ้นมาก ครอบครัวอบอุ่น ลดปัญหาเด็กติดยาเสพติด

“ตัวเลขการทุจริต คอรัปชั่นที่ผู้ประกอบการต้องจ่าย เบี้ยร่ายรายทางที่สถานประกอบการต้องจ่ายในงานหนึ่งร่วม 30-40% รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่ต้องเกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจให้รวดเร็วขึ้น เชื่อว่าผู้ประกอบการจะพอใจที่จะเงินนั้นมาจ่ายเพิ่มให้กับคนงาน ที่ต้นทุนส่วนนี้เพิ่มเพียง 6% ถือว่าเป็นตัวเลขที่ต่ำที่ไม่มีผลถึงขั้นให้หยุดกิจการ ปิดโรงงาน”นายอนุสรณ์กล่าว

คณะบดีเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต กล่าวอีกว่า เชื่อว่าการเลิกจ้าง คนว่างงานมีน้อยมาก เนื่องจากขณะนี้ตัวเลขว่างงานต่ำมากเพียง 0.7% ซึ่งถือว่าต่ำมาก อีกทั้งอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่มีการคาดการณ์ 4-4.5% จึงเชื่อว่าการว่างงานจะไม่สูงกว่าเดิมนัก จึงเป็นสถานการณ์ที่เหมาะสมที่จะมีการปรับโครงสร้างค่าจ้างแบบอัตราก้าวหน้า เพื่อแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมในเรื่องรายได้และลดความเหลื่อมล้ำทางด้านเศรษฐกิจ ทั้งนี้ค่าจ้างขั้นต่ำที่แท้จริงถูกกดให้ต่ำมาตลอดในช่วงกว่า 10ปีที่ผ่านมา ซึ่งประเทศไทยไม่สามารถที่จะใช้ยุทธศาสตร์กดค่าจ้าง ใช้แรงงานราคาถูกได้แล้ว

นายอนุสรณ์ กล่าวต่อไปว่า แรงงานที่จะได้รับอนิสงค์การปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทมีเพียงกว่า 9 ล้านคนที่ทำงานอยู่ในระบบอุตสาหกรรมและบริการ ที่ส่วนใหญ่มีเงินเดือนไม่ถึง 9000 บาทต่อเดือน ทำให้ต้องดิ้นรนทำโอที.4-6ชม.ต่อวัน เพื่อให้มีรายได้ให้มากพอกับค่าครองชีพ ทั้งนี้แรงงานที่ได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายแรงงาน รวมถึงกลุ่มแรงงานข้ามขาติ โดยกฎหมายไม่คุ้มครองแรงงานภาคเกษตรกรรม ที่มี 23 ล้านคน

นายยศ อมรกิจวิกัย คณะเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต กล่าวว่า ขอเสนอให้รัฐบาลเตรียมมาตรการต่างๆเพื่อลดผลกระทบทั้งระยะสั้นเช่นมาตรการด้านภาษี การสนับสนุนกลุ่ม SME การเตรียมการรองรับการเลิกจ้าง ว่างงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการป้องกันการลักลอบใช้แรงงานข้ามชาติที่ผิดกฎหมาย นอกจากนี้มาตรการระยะยาวควรส่งเสริมในเรื่องการเพิ่มมูลค่าสินค้า ผลิตภัณฑ์ และผลิตภาพการผลิตให้สูงขึ้นเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยสนับสนุนมีการวิจัยและพัฒนา

น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) กล่าวว่าการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ ถือเป็นพันะธสัญญา ในการรณรงค์หาเสียงของพรรคเพื่อไทย เป็นที่คาดหวังของคนงาน โดยการเลือกตั้งครั้งนี้ผู้ใช้แรงงานจำนวนมากถึงกับลงทุนลาหยุดเพื่อกลับภูมิลำเนาไปลงคะแนนเลือกตั้ง จำนวนมากอย่างไม่เคยมีมาก่อน จึงถือเป็นความรับผิดชอบทางการเมือง ทั้งนี้ได้มีการกำหนดที่จะปรับเพิ่มเป็น 300 บาทในเดือนม.ค.ปีหน้า ในช่วงนี้จึงต้องเวลารัฐบาลทำให้เป็นจริงและให้เวลาสถานประกอบการปรับตัว

น.ส.วิไลวรรณ กล่าวอีกว่า การปรับค้าจ้าง 300 บาททั่วประเทศ ไม่ควรมีจะมีเงื่อนไขใดๆ เพราะเรื่องนี้เป็นนโยบายที่มีการนำเสนออย่างต่อเนื่อง จึงต้องเป็นเรื่องที่จะต้องมีการศึกษาถึงความเป็นไปได้และมีมาตรการรองรับผลกระทบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเงินเฟ้อ ที่จะส่งผลให้ราคาสินค้าอุปโภค บริโภค ปรับตัวสูงขึ้น จึงเป็นเรื่องที่รัฐต้องควบคุมราคาสินค้าให้ได้ เพื่อให้การปรับค่าจ้าง 300 บาทเกิดประโยชน์กับลูกจ้างอย่างแท้จริง ไม่ใช่ปล่อยให้สินค้ามีราคาสูงขึ้น เงินที่ได้เพิ่มอาจไม่มีความหมายอะไรเลย

“ผู้ประกอบการมักผลักภาระในเรื่องต้นทุน ให้แก่ผู้บริโภค โดยปรับเพิ่มราคาสินค้าขึ้น จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องควบคุม พูดทำความเข้าใจไม่ให้มีการปรับราคาสินค้าให้ได้”น.ส.วิไลวรรณกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น